พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน (หมออ้อม) ภรรยาเศรษฐา
สองเราเคียงคู่ : เรื่อง

ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจะดูแล “สุขภาพ” ทั้งกายใจให้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้ชีวิตวันนี้ของ “คุณหมอ” หน้าเด็ก พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ในวัย 60 ปี ดูลงตัว ทั้งสดชื่น สดใส หุ่นเป๊ะ แข็งแรง และมีชีวิตชีวา เป็นที่น่าอิจฉาของกลุ่มเพื่อน ๆ และกลุ่มหมอ ๆ ในวัยเดียวกัน

ล่าสุด “คุณหมออ้อม” หญิงเก่งและแกร่งของวงการ ได้เข้าประจำการที่ VitalLife ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ชั้น 10 อาคาร C ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ 24 ชั่วโมงของเธอยิ่งมีค่า และตอกย้ำความเป็นเวิร์กกิ้งวูแมนขึ้นไปอีก

หมอนางกวัก-หมอนอกคอก

ดีกรีแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประกาศนียบัตร Biofeedback Therapist by the Neurotherapy and Biofeedback Certification Board (พ.ศ. 2547) ประกาศนียบัตร Post-University Education in Anti-Aging Medical Therapeutics by the World Society of Anti-Aging Medicine (พ.ศ. 2547-2548) ประสบการณ์เคยเป็นประธาน World Medical Spa Association กรรมการสมาคมเวชสําอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณแห่งประเทศไทย ทั้งยังชอบงานเขียน งานบรรยาย เป็นคอลัมนิสต์และวิทยากรรับเชิญบรรยายเรื่องสุขภาพและความงามให้กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

พี่เป็นหมอมา 30 กว่าปี ชอบมีคนถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงตัดสินใจเรียนแพทย์ ต้องเล่าย้อนไปถึง 40 กว่าปี นานมากเลยนะ แต่ทุกอย่างก็อยู่ในความทรงจำ คือยุคนั้นเหมือนเป็นวัฒนธรรม เป็น trendy เด็กเรียนดี ถ้าไม่เรียนหมอก็เรียนวิศวะ สำหรับสายวิทย์ ถ้าเป็นสายศิลป์ก็ไปเรียนอักษรศาสตร์ เราก็ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร เพราะ exposure เราน้อย ประกอบกับที่บ้านหมอซึ่งมีพี่น้อง 5 คน ทุกคนหนีไปเรียนศิลป์กันหมด มีตัวเองเรียนวิทย์อยู่คนเดียว แล้วเราก็รู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่าคุณพ่อคุณแม่อยากให้มีลูกสักคนเป็นหมอ หวังจะได้พึ่งตอนแก่ เราก็เรียน อาชีพแพทย์ดีนะ มั่นคง ได้ช่วยคนอื่นตลอดเวลา เหมือนเราทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข

ตอนนั้นอยากเป็นจิตแพทย์ อยากดูแลเรื่องใจ ไม่รู้ทำไม รู้สึกมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ถ้าใจไม่สบาย กายก็ไม่ดีไปด้วย

พอได้ไปดูคนไข้จริง ๆ ในแผนกจิตเวช “เซย์กู๊ดบาย” ทันทีเลย คือยุค 30 กว่าปีที่แล้ว ยังมีการชอร์ตไฟฟ้าคนไข้ที่มีอาการอาละวาด เรารับไม่ได้ ก็คิดต่อจะเป็นหมออะไรดี

พอปี 5 ปี 6 รุ่นหมอจะเป็นรุ่นอินเทิร์นรุ่นที่ 2 ก็ได้ขึ้นเป็นหมอศัลยกรรม แล้วค้นพบว่า ตัวเองมีสกิล มีความสามารถในการผ่าตัด ใช้กรรไกรตัดด้วยมือซ้ายก็ทำได้ หมอศัลยกรรมบางคนยังทำไม่ได้ แล้วเรามีความใจเย็นพอที่จะเป็นผู้ช่วยที่ดีได้ ตอนนั้นเป็นนิสิตแพทย์ ที่มีชื่อเสียงมากคือ “หมอเป็นหมอผ่าตัดไส้ติ่งเด็กมือหนึ่ง” ถ้าเกิดเคสซ้อน ๆ กัน เขาก็ปล่อยให้เราผ่ากับพยาบาลได้เลย จำได้ว่าเป็นคนที่มีเคสผ่าไส้ติ่งเยอะที่สุด จนพยาบาลเรียกเราว่า “นางกวัก” คืนไหนหมอพักตร์พิไลอยู่เวร บางทีผ่าไส้ติ่งคืนละ 3 เคสก็ทำมาแล้ว จะเวรไม่เวรก็จะถูกปลุกตอนตีหนึ่งให้มาผ่าไส้ติ่ง (หัวเราะ)

แต่ตอนเรียนจบมาจริง ๆ อยากทำศัลยกรรมตกแต่ง แต่ด้วยปัจจัยหลากหลาย สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ มาทำอะไรที่ใกล้ ๆ ศัลยกรรมตกแต่งนิดหนึ่ง คือเรื่องของสกิน เรื่องของผิวหนัง เป็นหมอคนเเรกในรุ่น ไม่ใช่รุ่นเฉพาะที่จุฬาฯ รุ่นทั้งหมดเลยรามาฯ ศิริราช ที่อาจจะ “นอกคอก” คือใช้เงิน ไม่ออกไปทำงานใช้ทุน ทำไมถึงไม่ไปก็มีคำถาม จริง ๆ ประเด็นคือ คุณพ่อเป็นข้าราชการตำรวจ หมอมาจากครอบครัวธรรมดา เป็นข้าราชการที่ไม่ได้มีทรัพย์สินอะไร ยังต้องกู้เงินส่งเสียลูกเรียน คุณพ่อเป็นคนสุราษฎร์ธานี เกิดที่ท่าชนะ บ้านไม่มีไฟไม่มีน้ำประปา สมัย 10 ขวบจำได้เลยว่า ตอนไปบ้านต้องเดินจากถนนข้ามท้องร่องท้องนาไกลเป็นกิโล ๆ กว่าจะถึง

วัดคือศูนย์กลางของคนต่างจังหวัด เรียนหนังสือที่วัด กินที่วัด เมื่อพ่อมาเรียนกรุงเทพฯ ก็สอบเป็นตำรวจ ตอนจบคุณพ่อสอบได้ที่ 1 ท่านเล่าให้ฟังว่า ถ้าเรียนดีสอบได้ที่ 1 ก็จะได้เป็นหัวหน้าหมวด หัวหน้ากอง เราจะมีเงินเดือนที่ดี แต่พอหมอเรียนจบ แม้จะได้เกียรตินิยมอันดับ 2 คือจัดอยู่ในท็อป 10 ท็อป 20 แต่เราไม่มีสิทธิเลือก คนที่จะเลือกได้คือคนที่มีเส้นสาย ระบบนี้มีมาแต่ไหนแต่ไร หมอว่าไม่แฟร์ คือต่อให้เราเรียนดีเรียนเก่งแค่ไหน เราก็ต้องจับสลาก โดยส่วนตัวหมอถูกปลูกฝังมาว่า การที่เราตั้งใจเรียน ไม่ใช่แค่เรามีความรู้อย่างเดียวแล้วได้ไปดูแลคนอื่น แต่ควรจะเป็น opportunity คือสร้างโอกาสให้กับตัวเราด้วย

“ทางเลือกเดียวก็คือ บ๊ายบายใช้ทุน ออกจากระบบราชการ ยุคนั้นจึงถูกมองว่า เป็นหมอนอกคอก เพราะไม่มีใครเขาใช้ทุน”

ที่นอกคอกมากกว่านั้นอีก คือตอนจบ ม.ปลาย เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง แต่ทุนนี้ที่ไม่ต้องใช้ทุน รับทุน 5 ปีแล้วก็อิสระ เราก็เรียนหมอจบ 6 ปี เลยเป็นข้อตกลงกับคุณพ่อว่า สมัยเรียนแพทย์คุณพ่อไม่ได้จ่ายตังค์เลยนะ ค่าเทอมค่าหนังสือคุณพ่อก็ไม่ได้จ่าย คุณพ่อเก็บเงินค่าเทอมนั่นแหละมาใช้ทุนให้หน่อยนะคะ ยุคนั้นก็ 4 แสนบาท ถือว่าเยอะอยู่ แต่หลังออกมาแล้วไม่กี่เดือนก็มีคนอื่นเดินตามรอยนี้เหมือนกัน กลายเป็นเราเป็นผู้บุกเบิก (หัวเราะ) แล้วบุกเบิกอะไรที่เพี้ยน ๆ นิดหนึ่ง เหมือนเราโลดแล่นอยู่นอกกรอบ

แล้วช่วงที่เรียนได้ไปช่วยอาจารย์คุณหมอพิชิต (รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร ผู้ก่อตั้งราชเทวีคลินิก และประธานกรรมการ บมจ.แพน ราชเทวี กรุ๊ป) ท่านเป็นแพทย์ผิวหนังอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ ท่านมีวิสัยทัศน์มากยุค 30-40 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีคลินิกความงามเยอะแยะแบบ 7-11 ในปัจจุบัน ยุคนั้นคลินิกผิวหนังก็ดูแต่โรคผิวหนังจริง ๆ คือกลากเกลื้อน เชื้อรา สะเก็ดเงิน ซึ่งรุ่นหมอเรียกว่าเรื้อนกวาง ฟังดูน่ากลัว ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสะเก็ดเงิน

บุกเบิกเครื่องเลเซอร์ผิวหนัง-เวชสำอาง

ส่วนปัญหาสิว ท่านมองว่า เด็กวัยรุ่นบางคนเป็นสิวเยอะชนิดที่เรียกว่าต้องดรอปการเรียน ไม่ใช่เรื่องความงาม แต่เป็นเรื่องของภาวะจิตใจของเด็กนักเรียนคนนั้น ท่านก็บุกเบิกทำสถาบันสอนแพทย์ผิวหนังที่เป็นเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย โดยร่วมกับสโมสรไลออนส์สุพรรณหงส์ ใครหน่วยก้านดีท่านก็ส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้บุกเบิกเวชสำอาง คือมีส่วนผสมของตัวยาช่วยในการรักษาสิว ฝ้า กระ โรคผิวหนังทั้งหลาย หมอก็อยู่มาถึง 16 ปี

ด้วยความที่เป็นคนชอบเรียนรู้ก็ขออาจารย์ไปประชุมแพทย์ผิวหนังที่สหรัฐ เราต้องทำรีเสิร์ช ทำ study ยุคนั้น 35 ปีที่แล้ว เมืองไทยยังไม่มีเครื่องเลเซอร์ หมอก็ทำรีวิวเปเปอร์ ตอนนั้นไม่มี Google ไม่มีวิกิพีเดีย เราต้องไปห้องสมุด ไปหาหนังสืออ่าน พอดีอาจารย์พิชิตรู้จักกับ professor 13.19 เป็นคุณหมอผิวหนังแต่เป็นแพทย์ขั้นแรกที่ใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดผิวหนัง โดยใช้ตัดติ่งเนื้อ รักษาฝ้า รักษาเส้นเลือดฝอยแตกบนใบหน้า ฯลฯ พอจบปุ๊บก็บินไปอเมริกา ซึ่งได้คุณพ่อและอาจารย์ช่วยสนับสนุน

เมื่อหมอกลับมาก็ช่วยบุกเบิกศูนย์เลเซอร์ในเครือราชเทวีคลินิก ต้องบอกว่าเป็นเลเซอร์เครื่องแรกที่ใช้กับผิวหนังในประเทศไทย จริง ๆ ตอนนั้นมีเลเซอร์ที่ใช้กับตา หู คอ จมูก แต่เลเซอร์ผิวหนังต้องบอกว่าเครื่องแรกคือที่ศูนย์เพลินจิตไฮเทคเลเซอร์ในเครือของราชเทวีคลินิก ซึ่งหมอก็ร่วมบุกเบิกตรงนี้ เป็นคนชอบทำอะไรใหม่ ๆ

สมัยตรวจสกิน บางทีกลับบ้านบอกคุณสามี (คุณเศรษฐา ทวีสิน) ว่า วันนี้ไม่โกรธนะคะ แต่ขอไม่พูดนะ ไม่มีเสียงน่ะ เพราะตรวจคนไข้เฉลี่ยสมัยอยู่ราชเทวีคลินิกวันละ 120-150 คน คือตั้งแต่ห้างเปิดอยู่จนห้างปิด มีเวลาเบรก 20 นาที

เราต้องใช้เวลานี้เดินเข้าห้องน้ำ เพราะถ้าไม่เข้าก็จะไม่ได้เข้าเลย แล้วของว่างที่กินได้อย่างเดียวคือไอศกรีม นี่เป็นกิจวัตรประจําวัน พอตัดเบรก หมอก็จะเดินผ่านซุ้มไอศกรีม เดินกินไปจนถึงห้องน้ำพอดี แล้วกลับมาตรวจคนไข้ต่อ กลับบ้าน 3 ทุ่ม ก็ไปกินข้าวเย็นตอนนั้น

แล้วก็มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้หมอมาสนใจศาสตร์เรื่องของ anti aging forever young แอนไทเอจจิ้ง ศาสตร์ยุคใหม่ …คือพี่ชายไม่สบายเมื่อปี 2539 แล้วเสียชีวิตปี 2540 ด้วยมะเร็งตับอ่อน คุณแม่ก็ไม่สบาย ไม่สบายก่อนพี่ชายด้วยซ้ำ แต่ว่ายังทรง ๆ อยู่ สุดท้ายคุณแม่ก็เสียชีวิตในปี 2541 เป็น Multiple Myeloma หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากพลาสมาเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งกลายเป็นมะเร็ง จัดอยู่ในตระกูลมะเร็ง เลือดจะออกง่าย

หมอต้องบอกพ่อว่า อย่าหอมแก้มแม่แรงนะคะ เดี๋ยวแก้มช้ำ เพราะเส้นเลือดแตก จุดนั้นได้มีโอกาสดูแลทั้งพี่ชายทั้งคุณแม่ที่ก็ถือว่าหนัก เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของหมอเลยนะ (สะอึก น้ำตาคลอ) หมอยังนึกถึงเขานะ ถ้าไม่มีเหตุการณ์วันนั้น ก็ไม่มีพักตร์พิไลในวันนี้ ทำให้เรามองเห็นว่า แพทย์แผนปัจจุบันช่วยได้แค่บรรเทา

ความที่เราไม่รู้จึงต้องเรียนรู้ถึงรู้ว่า อาหารที่เป็นพิษที่สุด คือน้ำตาล นม เนย ชีส คนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายกินอะไรไม่ได้ แต่หมอให้ไอศกรีมกลายเป็นอาหารปลูกมะเร็ง

จากจุดนั้นเลยบอกคุณสามีว่าไม่ไหวแล้ว ขอถอยงานนะ แล้วขอไป search เดินทางไปสัมมนาที่ต่าง ๆ เพื่อหาทางออก ก็ค่อนข้างผิดหวังกับ conventional medicine ที่เราเรียนมา เลยไปสืบเสาะแสวงหา ตอนนั้นปี 2546 เริ่มมีอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ไปเสิร์ชคำว่าแอนไทเอจจิ้ง เมดิซีน เอเนอร์จี้ เมดิซีน อัลเทอร์เนทีฟ เมดิซีน เราอยากรู้ว่า มีการแพทย์ทางเลือกอะไรบ้างที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ บังเอิญจังหวะเป็นช่วงที่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกด้วย เราก็เลยไปต่อที่โน่นที่นี่ สรุปคือไป take course เป็นกิจจะลักษณะ

โชคดีที่เราได้เข้าไป module แรก จากการประชุม World Congress of Anti Aging Medicine มี module การเรียนการสอน practical part ต้องครบ 100 ชม. ใน 6 module หมอชอบมาก ปีนั้นได้ประสบการณ์ชีวิตสุด ๆ ได้รู้เรื่องโภชนาการ เรื่องอาหารเสริม เป็นการรวมกลุ่มของแพทย์แอนไทเอจจิ้ง World Society of Antiaging Medicine

ชีวิตต้องมี 6 อ.-ออกกำลังกายดีที่สุด

กิจกรรมวันว่างก็มีค่ะ แต่หมอไม่ค่อยว่างเท่าไหร่ ที่ทำทุกวัน โดยไม่ต้องรอวันว่างคือ “ออกกำลังกาย” หมอมองว่า การออกกำลังกายคือ “เราให้รางวัลกับตัวเราเอง” เป็นช่วงที่เราอยู่กับตัวเราเอง ทำให้เรามี endorphin happy hormones และ achievements hormones สรุปว่า หมอมีความสุขทุกครั้งหลังจากออกกำลังกาย

คนเราถ้าอยากเปลี่ยนพฤติกรรม หมอขอแค่ 3 เดือน ฝืนใจให้ได้ แล้วคุณจะติดเป็นนิสัย ตอนนี้ถ้าหมอไม่ได้ออกกำลังกายติดกัน 3 วันคงเป็นบ้า (หัวเราะ) ต้องขอบคุณคุณโควิด ที่ทำให้ทุกคนได้อยู่กับตัวเองและได้ออกกำลังกายทุกวันจริง ๆ

ถ้าคุณทำไม่ได้ทุกวัน อาทิตย์หนึ่งก็ขอสัก 5 วันก็ยังดี พื้นฐานเลยคือเดินให้มาก อย่างหมอเดินได้ถึงวันละ 50,000 ก้าวแล้วนะ มีบางวันไปถึง 60,000 ก้าว เดินทั้งวัน กินข้าวกลางวันเสร็จฉันก็เดิน ฝนตกฉันก็เดินในตึก อยู่ในคอนโดฯก็เดินไปเดินมาใน corridor พอกลางคืนกินข้าวเสร็จก็ลงไปเดินที่สระว่ายน้ำ คือยามบอกว่า ไม่ต้องจ้างยามก็ได้เดี๋ยวช่วงหัวค่ำพักตร์พิไลจะมาเป็นยามให้ (เธอพูดติดตลก)

ต่างจังหวัดก็ไปหัวหินค่ะ ไปเดินเล่นชายหาด แล้ววิ่งไปเขาตะเกียบ คือจะไม่วิ่งต้านลม สมมุติว่าลมไปทางเขาตะเกียบเราก็วิ่งตามลม ก็มีความสุขไปอีกแบบ

ถามว่า “ความสุขคืออะไร” เราทุกคนหาได้ง่าย ๆ ในทุกวันค่ะ ตอนนี้พยายามไปเล่นพิลาทิส พอเล่นเสร็จก็สุขอีกแบบ แล้วหมอจะให้รางวัลกับตัวเองก็คือนวด ชอบเข้าสปา อยากไปหัวหิน เพราะบ่ายจะมีคนมานวดให้ที่ห้องพัก เป็นการเพิ่ม Happy Hormones

เรื่องออกกำลังกายนี่ พ่อแม่ต้องทำให้เป็นตัวอย่างค่ะ แล้วก็มีส่วนผสมของ 6 อ. ได้แก่ 1.อาหาร 2.ออกกำลังกาย 3.อากาศออกซิเจน 4.เอนหลัง เรื่องการนอนสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะคนเขตเมืองในยุคนี้ จะมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ 5.อุจจาระ เราต้องล้างพิษ สวนล้างลำไส้บ้าง และ อ.6 สำคัญที่สุด คือบางทีโรคทางกายอาจช่วยไม่ได้ เป็นไปตามกรรม ถึงมีคำว่า “กรรมพันธุ์” ก็เหมือนคนที่เกิดมาแล้วมีโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรง ซึ่งแก้ไม่ได้

แต่ทุกคนก็ยังสามารถหาความสุขได้ คนตาบอดหูหนวกเขายังมีความสุขได้ เพราะเขารักษา อ.สุดท้าย คือ อ.อารมณ์จิตใจ เราต้องดูแลสุขภาพกายใจของคนในครอบครัว ต้องพยายามบาลานซ์ 6 อ.นี้ ตั้งแต่พวกลูกหลานยังเล็ก ๆ ปัจจุบันมีบุตรธิดา 3 คน คือ คุณน้อบ-ณภัทร คุณแน้บ-วรัตม์ และคุณนุ้บ-ชนัญดา ทวีสิน

เริ่มต้นวันนี้ค่ะ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ที่สำคัญคือการมองโลกในแง่ดี อารมณ์ดี จิตแจ่มใส มีความสุขกับสิ่งง่าย ๆ แค่จะเข้าลิฟต์แล้วมีคนวิ่งมาขอไปด้วยคนแล้วเรากดลิฟต์ให้ เราก็ทำให้เขามีความสุขแล้ว

ความสุขกับทุกย่างก้าวอยู่ที่ใจจริง ๆ