เส้นทางชีวิต สุพันธุ์ มงคลสุธี CEO นักยุทธศาสตร์ไทย

กษมา ศิริกุล : เรื่อง

สุพันธุ์ มงคลสุธี ที่ใครหลายคนรู้จักถึงบทบาทและความสามารถในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนที่ 15 ครองตำแหน่งอยู่ถึง 3 สมัย รวมถึงการเป็นนักธุรกิจ เจ้าของตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) และประธานกรรมการ บมจ. ที.เค.เอส. เทคโนโลยี ชื่อที่แปลงมาจาก “แต้เกียงเซ้ง” กิจการแรกของครอบครัวเมื่อครั้งย้ายภูมิลำเนาจากจีนมาลงหลักปักฐานที่เมืองไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2497 เริ่มต้นจากกิจการขายเครื่องเขียน

วันนี้นักธุรกิจผู้ผ่านประสบการณ์ล้ำค่าถ่ายทอดเรื่องราวเส้นทางชีวิตผ่านปลายปากกาเป็นหนังสือ เส้นทางชีวิต CEO นักยุทธศาสตร์ไทย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” โดยมีคำปรารภจาก “อานันท์ ปันยารชุน” และคำนิยม 2 ท่านคือ “ชวน หลีกภัย” และ “พลเอกมงคล อำพรพิสิฏฐ์”

จากเอสเอ็มอีสู่บิ๊กธุรกิจ

สุพันธุ์เล่าถึงเป้าหมายและที่มาของหนังสือว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกที่เขียนขึ้นมา มีความตั้งใจจะให้ผู้อ่านได้ประโยชน์มากที่สุด และตั้งใจจะมอบให้เป็นวิทยาทาน และเป็นแรงบันดาลใจ

“ผมเองก็เกิดมาจากการเป็นคนตัวเล็ก ๆ ทำบริษัทมาเล็ก ๆ วันนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร มีวิธีการอย่างไร ขณะเดียวกันเราก็มองว่าเราเกิดจากเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอียังต้องการความช่วยเหลืออีกเยอะมาก

ตอนผมรับช่วงพ่อมา ตอนนั้นเป็นธุรกิจเครื่องเขียนขายส่ง เราก็ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดกลางไม่ใหญ่ แต่ถือว่ามีระดับปีหนึ่ง ๆ 20 กว่าล้านยอดขาย ส่วนยอดขาย ณ ปัจจุบันเรามี 30,000 เกือบ 40,000 ล้านบาท เป็นในส่วนของซินเน็ค 30,000 กว่าล้านและในเครือ ซึ่งผมว่าปีหน้า 40,000 ล้านบาทได้ ผมเชื่อว่าถ้ามีเอสเอ็มอีอย่างผมเยอะ ๆ ประเทศก็จะแข็งแรง ไม่จำเป็นจะต้องมีแค่ไม่กี่บริษัทใหญ่ แต่ถ้าเรามีบริษัทขนาดกลางเพิ่มมากกว่า 20-30 เท่าอย่างไต้หวันเกิดขึ้นมาแบบนี้ มาจากเอสเอ็มอีจะทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง”

ดีเอ็นเอ “นักธุรกิจ”

แน่นอนว่าการเติบโตในเส้นทางชีวิตซีอีโอไม่ใช่เรื่องง่าย การฝ่าฟันมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนสำคัญมาจากเบ้าหลอมคุณพ่อเกียงบั๊ก แซ่แต้ และคุณแม่สุชาดา ที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

“ผมเกิดมาเป็นลูกคนเดียว คุณแม่ก็รัก ไปไหนเอาไปด้วย จริง ๆ แล้วธุรกิจที่สร้างมาคุณแม่และคุณพ่อเป็นจิ๊กซอว์ที่มาต่อกัน คุณพ่อทำธุรกิจต้องไปรับอะไรมาจากข้างนอกคุณพ่อผมก็เป็นคนหนึ่งที่ดุมากเท่าที่เคยเจอมา คุณแม่เป็นคนละเอียด ประหยัดมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในโลกนี้ก็ว่าได้ ดูแลช่วยเรื่องบัญชี ทำให้ธุรกิจมีกำไร ผมก็มีโอกาสอยู่ใกล้คุณแม่ ทำให้เราเห็นข้อแตกต่างและสิ่งที่เคยได้รับการสอนสั่งจากทั้งสองท่านมาปรับ เพราะทั้งคู่อยากให้เราออกมาทำธุรกิจ ฝึกเราตั้งแต่เด็ก ผมเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ปิดเทอมก็ต้องมาช่วยที่บ้าน เราเป็นโรงงานทำสมุดเล็ก ๆ ก็ต้องมาทำเข้าเล่ม นับกระดาษทำสมุด วิธีการดูแลเรา ท่านให้ค่าขนม วันละ 5 บาท 10 บาท เราก็อยากได้เงิน เราก็อินกับมัน และเจอลูกจ้าง ก็ทำให้เข้าใจอารมณ์คนทำงานด้วย ต่อมาเราก็ลองไปเป็นเซลส์เองซึ่งเราก็ชอบด้วย”

เป็นคน “รักการเรียน”

เรื่องหนึ่งที่เปิดเผยในหนังสือเล่มนี้ “ผมเป็นคนรักการเรียน แต่ตอนแรกคุณพ่อไม่สนับสนุนให้ลูกเรียนต่อ อยากให้ออกมาช่วยงาน แต่คุณแม่เท่านั้นที่สนับสนุนจนทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนต่อสมใจ แต่ผมก็ต้องช่วยงานที่บ้านชนิดที่ว่าห้ามขาดตกบกพร่องเลย”

“ผมชอบไปลงคอร์สต่าง ๆ มาก ผมเรียนทุกเรื่อง เพราะไม่ได้จบบัญชี เราจบด้านการขายมาก็ไปเรียนบัญชี เรียนเกี่ยวกับโรงงาน หลักสูตรไหนเปิดเราก็ไปเรียน โดย 1) เราได้ความรู้มา และ 2) เราได้เพื่อน พอเรามาทำเรื่องสังคม (ส.อ.ท.) ก็ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจ แล้วก็พอเราเริ่มโต เราก็รู้ว่าคอขวดของธุรกิจมันคืออะไร ตอนที่เราเล็ก ๆ เราลำบากอย่างไร อะไรเป็นส่วนสำคัญ”

3 คีย์เวิร์ด ซื่อสัตย์-ยุติธรรม-นวัตกรรม

ด้วยระบบคิดและนิสัยส่วนตัวที่เป็นขาลุย กล้าตัดสินใจ กล้าได้กล้าเสีย บวกกับความรักเรียน ทำให้ได้เริ่มทำธุรกิจค้าขายตั้งแต่วัยเรียน ทำแหวนรุ่นขายจนมีกำไรหลักหมื่น เป็นเซลส์ขายสมุดให้ที่บ้านจนนำมาสู่การพัฒนาต่อยอดจากธุรกิจเครื่องเขียนเป็นโรงงานทำสมุด และด้วยความใฝ่ฝันที่จะทำธุรกิจกับต่างชาติ ทำให้เขากล้าจะดีลธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่าย “หมึกพิมพ์” ให้กับบริษัทสิงคโปร์ด้วยตัวเอง

หลังจาก “เสียรู้” คนโกงครั้งแรก ให้บทเรียนกับเขาว่า “ความซื่อสัตย์” เป็นหลักคิดที่นักธุรกิจต้องยึดถือ และสิ่งสำคัญต้องมี “ความยุติธรรม” ด้วย ในการดูแลองค์กรเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

สตาร์ตอัพยุคแรก

“ผมก็เป็นคนยุคแรก ๆ ที่เอาคอมพิวเตอร์มาใช้เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ยอมลงทุน ซึ่งคุณพ่อก็เชื่อว่าซื้อมาแสนกว่าบาทมาใช้งานเราก็รู้สึกว่ามันดีเพราะก่อนหน้านั้นเราก็ศึกษา ผมก็ทำอะไรคล้าย ๆ สตาร์ตอัพสมัยนี้ อะไรที่ใหม่ ๆ ก็มาดู ซึ่งผมคิดว่าคอมพิวเตอร์มีบทบาทแน่ ๆ ในอนาคต ดูแล้วว่าถ้าคอมพิวเตอร์สะดวกแล้วคนจะหันมาใช้มากขึ้น ทำกิจการอะไรที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น”

นั่นจึงทำให้เขาต่อยอดจากธุรกิจเครื่องเขียน สมุดนักเรียน ต่อมาอาจจะเป็นการ disruption สมุดในยุคแรก หลังจากคอมพิวเตอร์เข้ามาเราเห็นว่าสมุดจะหายไป จึงเริ่มทำ “กระดาษคอมพิวเตอร์” ลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์เก่ามาลองทำ มาสู่การใช้คอมพิวเตอร์ และมองข้ามชอตมาถึงธุรกิจ accessories ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือแก็ดเจตในปัจจุบัน ซึ่งเขาน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ทำเรื่องนี้ในประเทศไทย โดยเริ่มศึกษาวิธีการเรียนรู้เรื่องการนำเข้าจากผู้ที่เป็นผู้ค้าอยู่แล้ว เรียนรู้จากบริษัทใหญ่จนทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้

ประธาน ส.อ.ท.ช่วยสังคม

หลังจากประสบความสำเร็จในธุรกิจ “สุพันธุ์” ได้ก้าวสู่บทบาทด้านสังคม รับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี เพราะขณะนั้นต้องขยายโรงงานไปยัง จ.เพชรบุรีเมื่อปี 2540-2541 เพื่อให้โรงงานรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้น

“ตอนนั้นผมไม่รู้จักเลย ส.อ.ท.คืออะไร และการทำงานด้านสังคมอย่าง ส.อ.ท.ไม่มีใครอยากเป็น เพราะไม่มีบทบาทและต้องควักเงินเยอะ”

เขารับหมวกประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดถึง 2 สมัย ก่อนจะเข้าสู่การทำงานใน ส.อ.ท.ส่วนกลาง ซึ่ง ณ ขณะนั้นกำลังขัดแย้งกันอย่างดุเดือดจนสร้างปรากฏการณ์ “ส.อ.ท.แตกเป็น 2 สภาครั้งแรก” ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคสุพันธุ์ 1 สลับกับ “เจน นำชัยศิริ” และกลับมาสู่มือ “สุพันธุ์” อีก 2 สมัย จนถึงปัจจุบันที่ ส.อ.ท.มีความกลมเกลียวไร้ภาพความขัดแย้งเช่นในอดีต

“ในช่วงหนึ่งเราคิดว่าจะมาช่วยเหลือสังคมบ้าง พอทำไปเรื่อย ๆ ก็อินเพราะมีพรรคพวกเยอะขึ้น และเราเห็นว่ามีหลายอย่างที่เคยเรียนรู้มา สามารถเรียนรู้จากคนอื่น ทำให้เราสามารถที่จะช่วยเหลือสังคมมากขึ้น”

“ผมมองว่าทุกอย่างเป็นยุทธศาสตร์การทำงาน เราจะทำอะไรต้องมียุทธวิธี และยุทธวิธีต้องมีเป้าหมายให้เกิดความสำเร็จ ถ้ามียุทธวิธีแต่ไม่มีเป้าหมายผลักดันให้ประสบความสำเร็จไม่ได้ แต่ถ้าไปโดยไม่มียุทธวิธีก็ไม่ได้ ผมเลยบอกว่ายุทธศาสตร์มีความสำคัญในทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือ ส.อ.ท.”

ซีอีโอแจกลายเซ็น


เจ้าของผลงาน เปิดเส้นทางชีวิต CEO นักยุทธศาสตร์ไทย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” จะไปแจกลายเซ็นให้ผู้ร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ที่บูทสำนักพิมพ์มติชน A16 สถานีกลางบางซื่อ ชั้น 1 (G-Floor) ใกล้กับประตูทางออก และทางเชื่อมต่อ MRT วันที่ 3 เม.ย.นี้ เวลา 14.00-15.00 น.