ธนากร แซ่ลิ้ม จากเด็กเชียร์ทัวร์จีน สู่ผู้ก่อตั้ง ‘ท็อปแวลู’ ยอดขายออนไลน์พันล้าน

ปรับตัวไว ไม่ยอมแพ้ และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ น่าจะเป็นคำนิยามตัวตนของ ธนากร แซ่ลิ้ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อปแวลู คอร์ปอเรท จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ topvalue.com และผู้ผลิตสินค้าโกลบอล แบรนด์ อย่าง Alectric และ Namiko ได้เป็นอย่างดี

จากลูกคุณหนูที่ถูกส่งไปร่ำเรียนที่ประเทศจีน มีกินมีใช้ไม่ขาด วันหนึ่งชีวิตกลับผกผัน ต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นเด็กเชียร์นักท่องเที่ยวจีนให้ซื้อสินค้า เงินเดือนเริ่มต้นไม่กี่พันบาท แต่ด้วยความขยัน อดทน สู้ไม่ถอย ธนากรค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัว กระทั่งมองเห็นโอกาสใน ‘ตลาดออนไลน์’ จึงกระโจนเข้าไปเล่นแบบไม่กลัวยักษ์ใหญ่

แม้จะเจ็บหนัก ขาดทุนหลายสิบล้านบาทในช่วงแรก แต่ด้วยเลือดนักสู้ที่เข้มข้น ทำให้ทุกวันนี้ ‘ท็อปแวลู’ ลูกรักที่เขาปลุกปั้นขึ้นใหม่ ทะยานขึ้นเป็นแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยม โฟกัสที่เครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพดี มาพร้อมดีไซน์สวยงามทันสมัย ในราคาจับต้องได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าจากท็อปแวลูจะเข้าไปครองใจลูกค้าทั่วประเทศ แถมยังปั้นรายได้รวมให้นับพันล้านบาท !

ล่าสุด ธนากรและ “ท็อปแวลู” กำลังเดินหน้าแผนธุรกิจต่อยอดอีกขั้น โดยจับมือกับ “เครือมติชน” ผู้นำสื่อคุณภาพของประเทศไทย คัดสรรสินค้าคุณภาพดี ดีไซน์สวย ราคาคุ้มค่ามาเสนอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภค เบื้องต้นทำการขายนำร่องผ่าน “ข่าวสดออนไลน์” ในเครือมติชน ทั้งบนเว็บและโซเชียลมีเดีย นับเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวที่น่าสนใจอย่างมาก

สีสันชีวิตของธนากร น่าสนใจ น่าเรียนรู้ และน่าติดตามขนาดไหน บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนที่มุ่งหวังประสบความสำเร็จบนเส้นทางการทำธุรกิจยุคดิจิทัล !

ชีวิตต้องสู้

พ่อแม่ของธนากรแยกทางกันตั้งแต่ยังเด็ก ช่วงแรกธนากรอาศัยกับแม่จนจบชั้นประถม เมื่อต้องเข้าชั้นมัธยม แม่ก็ตัดสินใจส่งเขาไปอยู่กับพ่อ ซึ่งดูแลเรื่องการศึกษาได้เต็มที่กว่า พออายุ 12 ปี ธนากรจึงบินเดี่ยวไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

“ตอนนั้นไปคนเดียวเลย ไปอาศัยกับญาติของพ่อที่นั่น แรกๆ ก็หวั่นเหมือนกัน เพราะไม่เคยเจอกันมาก่อน คุยกันตอนแรกยังไม่ค่อยเข้าใจกันเลย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมบังคับ ทำให้เราต้องเร่งเรียนภาษาจีน จะได้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง” ธนากรย้อนอดีต

เด็กชายธนากรเรียนโรงเรียนนานาชาติอยู่ 2 ปี เพื่อปรับพื้นฐานและเรียนรู้ภาษา จากนั้นเรียนชั้นมัธยม 1-3 ในโรงเรียนจีน ความที่ชินกับสภาพแวดล้อม ประกอบกับอยู่ในช่วงวัยรุ่น จึงเล่นมากกว่าเรียน ท้ายสุดเลยถูกส่งตัวกลับไทยตอนปี 2542 ขณะอายุ 17 ปี

เรียกว่าเป็นจุดพลิกชีวิตก็ว่าได้ เพราะครอบครัวทางพ่อมีฐานะ อาศัยในบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ และญาติทางเมืองจีนก็ดูแลความเป็นอยู่ของเขาเป็นอย่างดี แต่เมื่อกลับไทย ธนากรต้องย้ายมาอยู่กับแม่ ใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียมห้องเล็กๆ อีกทั้งแม่ก็ต้องตื่นตี 4 ตี 5 ไปขายของที่ตลาด หาเงินมาจุนเจือครอบครัว

“ผมคิดว่าต้องทำมาหากินแล้ว ห้ามเกเร จะตื่นสาย ตื่นเที่ยง แล้วขอเงินที่บ้านกินไปเรื่อยๆ ไม่ได้แล้ว ไม่งั้นจะเป็นตัวภาระ ผมไม่ได้ยึดติดว่าเคยใช้ชีวิตสบายมาก่อน เมื่อต้องปรับตัวก็ต้องปรับตัว ต้องเอาตัวรอดให้ได้”
ธนากรคิดแบ่งเบาภาระครอบครัว พร้อมกับตั้งความฝันไว้ลึกๆ ว่า ต้องซื้อบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ให้แม่ให้ได้ เขาเริ่มจากไปสมัครเรียน กศน. และมองหางาน ด้วยอายุที่ยังไม่ถึง 18 ปี ทำให้หางานยาก แต่ท้ายสุดก็ไปได้งานทัวร์จีน เป็นคนแนะนำนักท่องเที่ยวจีนให้ซื้อรังนก กระเป๋าหนังจระเข้

เดือนแรก เขาได้เงินเดือน 3,500 บาท พอทำได้ 3-4 เดือน รายได้ก็ขึ้นเป็นหลักหมื่น เพราะรวมค่าคอมมิชชั่นเข้าไปด้วย ทำอีกสักพักก็ไปถึง 20,000 กว่าบาท

“สมัยนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของทัวร์จีนในไทย เขาเริ่มออกต่างประเทศ และใช้จ่ายเงินง่ายมาก ส่วนผมก็ตั้งใจศึกษาโปรดักต์ ขยันด้วย ตั้งใจด้วย ก็เริ่มได้เงินมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเก่ง แต่ต้องรอดให้ได้ เพราะอยากได้เงินมาดูแลครอบครัว แต่ทำได้ไม่นานก็ลาออก เพราะคิดว่าทำต่อไปก็ทำแบบเดิมๆ เชียร์ต่างชาติซื้อของ คงตันแค่นี้ ลองไปทำงานอื่นบ้างดีกว่า”

อาชีพใหม่ของธนากรไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับธุรกิจทัวร์ แต่ยังเกี่ยวพันกับความเป็นจีน เพราะไปทำงานกับบริษัทจีนที่ร่วมทุนกับเยอรมนีทำโมลด์แม่พิมพ์ จากเงินเดือนรวมค่าคอมมิชชั่นตก 20,000 กว่าบาท ก็หล่นวูบเหลือ 8,500 บาท ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่คิดมาก เพราะถือว่าลองเรียนรู้สายงานใหม่

ความขยันและตั้งใจทำงาน ส่งผลให้ธนากรเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการเซลส์ได้ในปีแรก แต่ท้ายสุดก็ตัดสินใจลาออก พร้อมเป้าหมายใหญ่ คือ การเป็นเจ้าของกิจการ!

เถ้าแก่ใหญ่ในวัยต้น 20

ทุกวันนี้เราล้วนคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ซึ่งมีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก ตรงกันข้ามกับเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน ที่สินค้าจากจีนยังไม่แพร่หลาย แถมในวงการเครื่องจักรก็ยังมีผู้ใช้น้อยราย แต่ธนากรก็เลือกสวนกระแส จับธุรกิจขายเครื่องจักรสำหรับทำโมลด์ นำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด

“ผมไม่มีความรู้เรื่องเครื่องจักรเลย แต่สังเกตว่า ยุคนั้นทุกโรงงานซื้อเครื่องจักรจากยุโรปเกือบหมด หรืออย่างน้อยก็ซื้อเครื่องญี่ปุ่น ทำไมไม่มีใครซื้อเครื่องจักรจากจีน ที่ราคาถูกกว่าถึงเกือบ 6 เท่า ช่องว่างตรงนี้ทำให้เห็นโอกาสใหญ่ ผมเลยเริ่มศึกษา ค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วดีลเข้าไป และปรึกษาคนที่มีความรู้”

‘โอกาสใหญ่’ ของเขา คือ ไม่จำเป็นที่ทุกโรงงานต้องใช้แต่เครื่องจักรยุโรปหรือญี่ปุ่น หลายโรงงานโดยเฉพาะรายที่ไม่ได้ใหญ่มาก อาจอยากใช้ของดี ในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า เช่น ถุงก้นตั้ง ที่ใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม เมื่อก่อนเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งเครื่องจักรญี่ปุ่นที่ใช้ผลิต ราคาเครื่องละ 18 ล้านบาท แต่เครื่องจักรจีน ราคา 3 ล้านกว่าบาทเท่านั้น

แม้เห็นโอกาสก่อนใคร แต่ใช่ว่าเส้นทางจะราบรื่น ธนากรต้องใช้เวลาอธิบาย และสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าอยู่นานหลายเดือน ควบคู่กับการปักหลักธุรกิจให้มั่นคงขึ้น ด้วยการเพิ่มบริการต่างๆ ทั้ง ซ่อม จัดหาอะไหล่สำรอง ฯลฯ เมื่อลูกค้าเห็นว่า เครื่องจักรจีนมีประสิทธิภาพดี สามารถผลิตสินค้าได้คุ้มค่า ก็เป็นเวลาของธนากรที่จะเก็บเกี่ยวความสำเร็จ

“ผมขายเครื่องจักรจากจีนอยู่ 4-5 ปี ปีแรกก็ซื้อบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ตามที่ฝันไว้ให้แม่ได้แล้ว ชีวิตของผมกับแม่ดีขึ้น มีเงินเก็บเยอะขึ้น จนวันหนึ่งได้ดูหนังเรื่องเถ้าแก่น้อย เห็นว่าเขาขยายได้เรื่อยๆ แต่ทำไม 5 ปีเราถึงอยู่กับที่ พอขายเครื่องจักรเสร็จ เจ้าเดิมๆ ก็ไม่ซื้อเพิ่ม มันเริ่มอิ่มตัว เราเริ่มโตยาก เลยเปิดโรงงานแม่พิมพ์ ต่อด้วยขายเครื่องจักรสายเบฟเวอเรจ และขายแพ็กเกจจิ้งสำหรับธุรกิจกลุ่มเบฟเวอเรจ เพิ่มมาด้วย”

โปรไฟล์จากธุรกิจเดิมไม่ได้เป็นสิ่งรับรองว่าอนาคตจะสดใส การขยายเข้าธุรกิจใหม่เร็วเกินไป ทำให้ลูกค้าผลิตภัณฑ์นมชั้นนำหลายรายไม่มั่นใจ ธนากรจึงต้องแก้ปัญหาด้วยวิธี ‘ป่าล้อมเมือง’ ผลิตกล่องนมสำหรับนมโรงเรียน ค่อยๆ ขายที่เล็กๆ สั่งสมความน่าเชื่อถือ พอขายกล่องนมได้แล้ว ก็เปิดโรงงานทำถุงนม เมื่อธุรกิจไปได้ดี แบรนด์ใหญ่ก็เริ่มเชื่อมั่น และเป็นคู่ค้ากันมาจนถึงปัจจุบัน

ปั้น ‘ท็อปแวลู’ ชูจุดเด่นที่เครื่องใช้ไฟฟ้า

หลังประสบความสำเร็จกับทุกธุรกิจที่หยิบจับ จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของธนากรก็มาถึงอีกครั้งเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เมื่อเพื่อนสมัยมัธยมของเขา ซึ่งทำงานอยู่ไป่ตู้ (Baidu) เสิร์ช เอนจิน อันดับหนึ่งของจีน เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย

ตอนนั้นผมงงมากๆ ว่า ไป่ตู้คืออะไร เขาบอกเป็นเสิร์ช เอนจิน เหมือนกูเกิล ฟังเขาอธิบายแล้วเปิดโลกผมเลย เขาบอกว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว ทำโรงงานอย่างเดียวเติบโตช้า คู่แข่งก็มาเรื่อยๆ ควรมาสายเทคโนโลยี เพราะมีโอกาสมหาศาล ผมเป็นคนชอบหาของแปลกๆ อยู่แล้ว พอฟังเสร็จตาเป็นประกายเลย” เขาเล่าพลางหัวเราะ

แม้ไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจในสายเทคโนโลยีมาก่อน แต่ธนากรก็ขอชิมลางแพลตฟอร์มออนไลน์สักตั้ง ผลลัพธ์ครั้งนั้น คือ ขาดทุนยับเยิน 40-50 ล้านบาท ทั้งยังถูกโกง ทำเอาเสียความมั่นใจไปไม่น้อย ท้ายสุดจึงต้องทิ้งระบบนั้นไป

แต่ธนากรไม่เคยทิ้งความตั้งใจ เพราะเขาขอเริ่มใหม่ด้วย ‘ท็อปแวลู’ (topvalue) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ในราวปี 2557 ค่อยๆ ศึกษาลู่ทางการตลาด และลุยอย่างจริงจังในอีก 2 ปีถัดมา

ช่วงนั้น ลาซาด้า (Lazada) และช้อปปี้ (Shopee) กำลังตีตลาด หากขายสินค้าแทบทุกอย่างเหมือนสองยักษ์ใหญ่นี้ อย่างไรเสียก็สู้ไม่ได้ ทั้งกำลังเทคโนโลยี และกำลังเงิน ธนากรจึงวางโพสิชันของท็อปแวลู ให้เป็นแพลตฟอร์มเน้นจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า

“พอตั้งสติได้ว่า วิ่งชนคลื่นยังไงเราก็แพ้ เลยเปลี่ยนตัวเองเป็นเวอร์ทิคัล อี-คอมเมิร์ซ ทำเฉพาะทาง เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก เพราะถ้าชนกับเขา ยังไงเราก็เจ๊งแบบอนาถาแน่ๆ แล้วเราก็พยายามทำการขนส่งให้ไว และเน้นการบริการให้ดีขึ้น”

อีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าหรือไม่ คือ ราคา อย่างที่เขาให้เหตุผลว่า สุดท้ายคนที่จะเข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันมาซื้อของ ไม่ใช่ระบบดีที่สุด แต่เพราะสินค้ากับราคาที่โดนใจที่สุด ช่วงแรกท็อปแวลูจึงชูสโลแกน ‘ของแท้ ของเร็ว ของถูก’ เพื่อสร้างความรับรู้ในวงกว้าง

ด้วยสินค้าที่หลากหลาย โดยมีตัวชูโรงเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัด รวมสินค้าทุกอย่างแล้วกว่า 30,000 SKU ประกอบกับการสั่งซื้อที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทำให้ท็อปแวลูยึดหัวหาดกลุ่มเป้าหมายหลายช่วงวัย ที่ต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพดีในราคาเอื้อมถึงได้ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

เน้นนวัตกรรมคู่สวยงาม – แตกไลน์

ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงฉับไว เครื่องใช้ไฟฟ้าจึงไม่ได้เน้นประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีความสวยงาม เพื่อตอบโจทย์รสนิยมการใช้ชีวิต

ท็อปแวลูก็เช่นกัน ถึงจะเติบโตด้วยดี แต่ธนากรก็ไม่ประมาท เพราะในปี 2564 ช่วงที่โควิดดิสรัปต์การค้าขายอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการต่างเบนเข็มสู่อี-คอมเมิร์ซ เขาก็ตัดสินใจรื้อ SKU ทั้งหมด คัดให้เหลือประมาณ 2,000 SKU เท่านั้น เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าประเภทลิฟวิ่ง พร้อมเปลี่ยนสโลแกนใหม่เป็น ‘คัดสรร นวัตกรรมสวยงาม…เพื่อคุณ’

“ผมจะเปลี่ยนทุกอย่างให้สามารถใช้ตกแต่งบ้านได้ ก็จะคัดเลือกของสวยๆ ทั้งที่ผลิตเอง และที่ซื้อจากคนอื่นมาขาย อย่างตอนนี้ถ้าเห็นพัดลมจะคิดว่าสวยกว่าเดิมมาก ไม้ถูพื้นวางแล้วเป็นของแต่งบ้านได้ หรือร่มที่คลิกแล้วกางหรือหุบได้เลย และต่อไปนี้ผมจะผลิตสินค้าที่สามารถใช้แอปฯ ควบคุมการสั่งการได้ เราวางแผนพัฒนานวัตกรรมให้ทุกคนใช้ชีวิตสะดวกขึ้น และต้องมีความสวยงามด้วย”

ธนากรยังเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ ด้วยการก่อตั้ง บริษัท สวิทซ เฟลคซ จำกัด ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Alectric และผลิตเครื่องครัว เครื่องใช้ภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้แบรนด์ Namiko วางโพสิชันของทั้ง 2 แบรนด์ให้เป็น ‘โกลบอล แบรนด์’ เน้นความพรีเมียม เปี่ยมนวัตกรรมและความสวยงาม ที่มาในราคาจับต้องได้

“จากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ เราขยายไปผลิตสินค้า เพราะนอกจากจะขายในท็อปแวลูได้แล้ว ก็ยังสามารถนำ Alectric และ Namiko เข้าไปขายในเซ็นทรัล บิ๊กซี โลตัส โฮมโปร ลาซาด้า ช้อปปี้ ฯลฯ ได้ด้วย
“เรียกว่าหนีตายก็ได้ เพราะถ้าชนตรง ลาซาด้า ช้อปปี้ เราสู้ไม่ได้แน่นอน แทนที่จะไปแข่งกับเขา ก็แปลงให้เขาเป็นคู่ค้า พอเราไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มอย่างเดียว เราก็ไปได้ทุกที่ ทั้งในห้าง และช้อปปิ้งออนไลน์ที่อื่นๆ ยอดเราก็โตเร็วขึ้น ทุกวันนี้ถ้ารวมรายได้ทั้งท็อปแวลู และสวิทซ เฟลคซ ก็พันกว่าล้านบาทแล้ว”

สมชื่อ ‘ท็อปแวลู’

“เหมือนราบรื่นดีใช่ไหม แต่ไม่เลย รีเทลเป็นธุรกิจที่ยากมาก (ลากเสียง) ยากที่สุดตั้งแต่ทำมา ถ้าบอกว่าไม่ท้อคือโกหก เงินเก็บที่มีก็เอามาใช้กับท็อปแวลู เลิกอาชีพอื่นก็ไม่ได้ แถมยังต้องขยันขึ้น เพื่อหาเงินมาเลี้ยงท็อปแวลู ถ้าเลิกเท่ากับศูนย์ เพราะฉะนั้นต้องเดินหน้าอย่างเดียว” ธนากรเล่า

เป้าหมายต่อจากนี้ ธนากรบอกว่า นอกจากจะเดินหน้าตามกลยุทธ์ที่วางไว้เรื่องสินค้า ที่ต้องชูนวัตกรรมควบคู่ความสวยงาม ก็ยังจะเน้นเรื่องการให้บริการ เพราะท็อปแวลูมีจุดแข็ง ที่การมีคลังสินค้าของตัวเอง สามารถตรวจสอบคุณภาพ และส่งถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว จากปัจจุบันที่ส่งภายใน 1-2 วัน ก็จะพยายามเปลี่ยนให้เหลือ 1 วัน และต่อไปอาจเหลือแค่ 6 ชั่วโมง

“หลักคิดในการทำธุรกิจของผม คือ ลูกค้าต้องได้ เขาต้องมีแวลูสูงสุดกับเรา ถ้าลูกค้าเข้ามาแล้วบอกว่านี่ก็แพง นี่ก็ไม่ดี แล้วใครจะซื้อ ดังนั้นเราต้องให้ความคุ้มค่ากับเขามากที่สุด และเวลาลูกค้าฟีดแบค จะชมหรือด่า ต้องอ่านให้หมด เอามาปรับปรุงและพัฒนาตัวเองไม่ให้พลาดอีก ทั้งหมดเพื่อให้สมชื่อท็อปแวลู”