เช่ เดอะ ริชแมน ทอย จากนักดนตรีขวัญใจอินดี้ สู่อาจารย์มหิดล

อ.เช่-อัครวิชญ์ พิริโยดม
อัครวิชญ์ พิริโยดม

เปิดจุดเริ่มต้นการเป็นนักดนตรีของ อ.เช่-อัครวิชญ์ พิริโยดม หรือ “เช่ เดอะ ริชแมน ทอย” จากนักดนตรีขวัญใจอินดี้ สู่อาจารย์มหิดล

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ พิริโยดม มือเบสวงดนตรีสุดอินดี้ “เดอะ ริชแมน ทอย” ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าสาขาดนตรีสมัยนิยม (Popular Music Department) ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จุดเริ่มต้นเส้นทางนักดนตรี

เส้นทางการเป็นนักดนตรีของอัครวิชญ์เริ่มต้นจากคนในครอบครัวที่ชื่นชอบการฟังเพลง ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ โดยเวลามีงานเลี้ยงสังสรรค์คุณพ่อมักจะขึ้นโชว์ร้องเพลงบนเวทีเสมอ ทำให้อัครวิชญ์ได้ซึมซับสิ่งนั้น และมีความชอบในอีกมิติหนึ่ง ที่มากกว่าแค่ชอบเฉย ๆ

ขณะที่พี่คนโตเริ่มชอบวงจากต่างประเทศ วงป๊อปสมัยก่อนในยุค 90 อย่างวง Nirvana วง Blur และวง Oasis ต่อมาพี่ชายได้ชวนมารวมวงกัน ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 10 ปี ก็เริ่มไปเรียนกลองควบคู่ไปกับการรวมวงกับพี่ จากนั้นพอเข้าสู่ระดับมัธยมต้นก็เริ่มรวมวงกับเพื่อน ซึ่งขณะนั้นเองดนตรีเริ่มเข้ามามีผลต่อความรู้สึกของอัครวิชญ์มากขึ้น พอเข้ามหาวิทยาลัยก็สอบเข้าวิทยาลัยดนตรี

กำเนิดเดอะ ริชแมน ทอย

ในช่วงที่อัครวิชญ์กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 รุ่นพี่ที่วิทยาลัยได้ชวนทำวง ซึ่งก็คือวง “เดอะ ริชแมน ทอย” เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2546 ช่วงนั้นรุ่นพี่ชั้นปีที่ 4 ด้านเทคโนโลยีดนตรีต้องทำโปรเจ็กต์ โดยการทำอัลบั้มส่งอาจารย์ วงของอัครวิชญ์จึงส่งเดโมเข้าไปร่วมในโปรเจ็กต์การอัดเสียงในครั้งนั้น

จากวงดนตรีมหาวิทยาลัย สู่ศิลปินฝึกหัดแกรมมี่

ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 การทำผลงานเพลงในอัลบั้มของรุ่นพี่ก็ไม่ได้มีสัญญา ต่อมาในช่วงปี 2 เริ่มไปอยู่กับรุ่นพี่ที่ทำโปรเจ็กต์ดังกล่าว ที่แยกออกมาทำค่ายเพลงเอง แม้ตอนนั้นจะยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา แต่ก็มีโอกาสได้เข้าห้องอัด มีซีดีเพลง เเละได้ไปเล่นคอนเสิร์ตบ้างเล็กน้อย

จากนั้นในช่วงปี 3 มีโอกาสเข้าไปร่วมทำเพลงในอัลบั้มรวมของค่ายจีนี่ เรคคอร์ด ในเครือแกรมมี่ ชื่ออัลบั้มโชว์รูมส์ 2 ทำให้ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินฝึกหัด 1 ปีกับแกรมมี่

จากนักดนตรีอินดี้ สู่อาจารย์มหิดล

นอกจากการเป็นมือเบสแห่งวงเดอะ ริชแมน ทอยแล้ว อัครวิชญ์ยังสวมบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาดนตรีสมัยนิยม (Popular Music Department) ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสาเหตุที่เดินบนเส้นทางนี้นั้น ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน

“อาจารย์ชวนเราก็มาเท่านั้นเลยครับ ในขณะที่เราเรียนอยู่ อาจารย์ให้งานเราก็รับ แล้วเราก็มาเป็น เป็นโอกาสเข้ามาเราก็รับ” อัครวิชญ์ กล่าว

อ.เช่ กับบทบาทในชีวิตที่แตกต่างกัน

แม้การเป็นนักดนตรีกับอาจารย์มหาวิทยาลัยจะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน คือทำเกี่ยวกับดนตรีเหมือนกัน

“ถามว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ศิลปินก็เอาแต่ใจได้ ทำในสิ่งที่เป็นเราออกไป อะไรที่ไม่เป็นเราก็พยายามขจัดออกบนพื้นฐานของการสื่อสาร คำพูด เนื้อหา ท่วงทำนอง และการเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อให้สิ่งที่เราสื่อสารไปยกระดับความรู้สึกคนได้ กับอีกอย่างถ้าในฐานะอาจารย์ก็คือว่า มาทำอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของกลไกทางด้านสมอง การรับรู้ ถ้าเราเป็นอาจารย์ เราก็ต้องพยายามที่จะรู้ว่า ข้อเท็จจริงของมนุษย์เป็นอย่างไร หลักสูตรและ character ของวิทยาลัยเรามีอะไรบ้าง แล้วจะไปวางในแพตเทิร์นตรงไหนบ้าง เพื่อให้เด็กไม่เกิดความรู้สึกเบื่อในการเรียน แตกต่างกันตรงนี้ แต่จบมาแล้วทำเรื่องเดียวกัน แต่ไส้ในแตกต่างกันตรงที่ว่า อาจารย์จะทำอะไรที่เป็นตัวตนของเราแทบจะไม่ได้เลย เราต้องหาความจริงเท่านั้น” อัครวิชญ์ กล่าว

นอกจากนี้ อัครวิชญ์ยังกล่าวถึงการที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือกับ คิง เพาเวอร์ จัดการประกวด THE POWER BAND ว่า ตอนนี้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้ร่วมมือกับคิง เพาเวอร์ จัดการประกวด THE POWER BAND เป็นการประกวดดนตรีสมัยนิยม ในขณะเดียวกันก็ได้ร่วมมือกับพันธมิตรค่ายเพลงเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของอุตสาหกรรม

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการประกวดมีแค่อย่างเดียวคือ กระตุ้นในสิ่งที่โลกในยุคนี้ไม่มีแล้ว เพื่อสร้างความต่างให้กับมนุษย์ในยุค เพราะฉะนั้นจำนวนคนที่เข้ามาประกวด เราก็อยากให้จำนวนคนในนี้เกิดความแตกต่างในแง่วิธีคิด เพราะถูกกระตุ้นในการที่เข้ามาประกวดในรายการนี้” อัครวิชญ์กล่าว