90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม ประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อภิวัฒน์สยาม
ปนัดดา ฤทธิมัต : เรื่อง

เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สำนักพิมพ์มติชน, มติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม, ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมจัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องริมน้ำ และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน

วิทยานิพนธ์ต่างมุ่งศึกษาผลพวงของคณะราษฎร

กิจกรรมในช่วงแรกเป็นการปาฐกถา 90 ปี คณะราษฎรโดยองค์ปาฐก 2 ท่าน ได้แก่ ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ และ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

เริ่มที่ท่านแรก ดร.ตามไท กล่าวว่า การศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เริ่มประมาณหลังปี พ.ศ. 2500 โดยคนกลุ่มแรกที่สนใจในช่วงนั้นเป็นนักวิชาการที่เรียนจบจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะสาขารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์

ซึ่งจุดเริ่มต้นของการศึกษาคือ การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้นกำลังเผชิญปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นยุคเผด็จการ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องความด้อยพัฒนาที่เป็นปัญหาสำคัญ

ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์

สิ่งที่นักวิชาการในช่วงนั้นให้ความสนใจคือ อยากรู้ว่า ความด้อยพัฒนาทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจของไทยเริ่มต้นจากตรงไหน จึงย้อนกลับไปศึกษาว่า สังคมไทยก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงมาสู่สมัยใหม่เมื่อไร ซึ่งก็คือปี พ.ศ. 2475

ฉะนั้นในช่วงแรก ๆ ที่ทุกคนเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปี 2475 คนจะมองในแง่ลบคือ มองว่าต้องมีความล้มเหลวบางอย่างเกิดขึ้น ถึงได้ทำให้สังคมไทยประสบปัญหามาตลอดในช่วงปี พ.ศ. 2500

หลังปี พ.ศ. 2520 งานศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เริ่มขยายตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอาจแบ่งกลุ่มการศึกษาเรื่องนี้ได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.งานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของระบอบเก่า กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นเวลาศึกษาประวัติศาสตร์ พ.ศ. 2475 มักจะเน้นว่าคณะราษฎรเป็นใครมาจากไหน

แต่ในปัจจุบันมีงานจำนวนมากที่พยายามศึกษาให้เห็นว่า ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ระบอบเก่ามีปัญหาอะไร เหตุใดกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยจึงเห็นว่าควรมีการเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งคนที่เป็นผู้นำของระบอบเก่าเองก็รู้สึกว่ามีปัญหา เพราะฉะนั้นงานในกลุ่มแรกจึงเป็นงานที่พูดถึงปัญหาของระบอบเก่า

2.งานศึกษากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แน่นอนว่าในยุคแรก ๆ เราสนใจเฉพาะสมาชิกคณะราษฎร แต่ระยะหลังมีความสนใจที่จะศึกษาคนกลุ่มอื่น ๆ ในสมัยนั้น ซึ่งได้รับผลกระทบหรือมีส่วนร่วมของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้น

เช่น งานที่ศึกษาราชการ งานที่ศึกษากลุ่มชาวนา งานที่ศึกษากลุ่มกรรมกร รวมถึงงานที่ศึกษากลุ่มคนที่อาจไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ

และ 3.งานที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เกิดขึ้นในยุคหลังจากนั้น เป็นงานสำคัญที่สุดและขยายตัวขึ้นมากในระยะหลัง งานกลุ่มนี้ไม่เพียงศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เท่านั้น แต่ศึกษาว่า นโยบายของคณะราษฎรมีลักษณะอย่างไร

คณะราษฎรสนใจที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยไปในทิศทางใด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ พวกเขามีภาพของอนาคตที่อยากจะเห็น มีอุดมคติทางสังคมที่อยากจะสร้าง ไม่ว่าความพยายามนั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม

เราไม่สามารถละเลยได้ว่า ความพยายามนี้มีอยู่จริง แล้วงานยุคหลัง ๆ พยายามชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่คณะราษฎรมีบทบาทอยู่ คณะราษฎรพยายามทำอะไร

“สมมุติเรามองอดีตเปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่าสำนึกทางประวัติศาสตร์แบบใหม่จะมีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฉะนั้นงานกลุ่มนี้ถือว่าเป็นงานสำคัญและเป็นงานที่ยังศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะที่ผมดูวิทยานิพนธ์ทั้งธรรมศาสตร์และหลาย ๆ มหาวิทยาลัย

ผมพบว่า งานที่ศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับผลพวงของคณะราษฎรมีเพิ่มขึ้นมาก สำหรับคนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ ผมมองว่านี่เป็นความก้าวหน้าที่น่าตื่นเต้น เพราะทำให้เราเห็นว่าในช่วงหลังปี 2475 ถึงปี 2490 จริง ๆ แล้วสังคมไทยเปลี่ยนเยอะมาก คณะราษฎรมีคุณูปการอย่างสูงที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งคนในปัจจุบันอาจไม่รู้ เพราะหลายโปรเจ็กต์หายไปแล้ว แต่ผลพวงของสิ่งเหล่านั้นยังอยู่”

5 วันสำคัญของปีปฏิวัติ 2475 ประวัติศาสตร์พิสดาร

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า แม้ตอนศึกษาในระดับปริญญาตรีจะศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เมื่อเปลี่ยนไปศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาเอก พบว่าแม้จะได้เกียรตินิยมของคณะรัฐศาสตร์ก็ตาม แต่กลับอยู่ในกะลา เริ่มตาสว่าง

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

เพราะประวัติศาสตร์ไทยที่เขาให้เราเรียนเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งไม่น่าจะใช่ประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของลัทธิความเชื่อทางการเมืองมากกว่าวิชาการประวัติศาสตร์

“ถ้าท่านต้องการรู้จักการปฏิวัติปี 2475 ของสยาม ท่านต้องศึกษาเรื่องราวของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนถึงวันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2475 ซึ่ง 5 วันนี้เป็น 5 วันที่สำคัญมาก ยึดอำนาจโดยฉับพลัน จบลงด้วยการมีรัฐธรรมนูญ จบลงด้วยการตั้งรัฐสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการเปิดประชุมสภาในวันที่ 28”

ประเด็นต่อไปที่เราน่าจะศึกษา เพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ เรื่องราวของคณะราษฎรและคณะเจ้า เราต้องสนใจในแง่ของการก่อตั้งขบวนการของคณะราษฎรที่เริ่มต้นที่ปารีส เราต้องให้ความสนใจกับความเห็นทั้งสองด้านต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ประเด็นที่เราจะต้องดูเกี่ยวกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คือ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์สังคม เรื่องราวของชนชั้นนำใหม่ และข้าราชการอุดมการณ์ชาตินิยม และประชาธิปไตย

“เราจะเข้าใจเหตุการณ์ในวันนั้นเมื่อ 90 ปีที่แล้ว เราต้องดูในลักษณะที่เป็นประวัติศาสตร์พิสดาร เราดูเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 24-28 มิถุนายน 2475 ไม่พอ เราต้องดูย้อนกลับไปว่าก่อนหน้าปี 2475 มีอะไรเกิดขึ้น นั่นคือ มีกบฏ ร.ศ. 130 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6

เราต้องย้อนกลับไปยังคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ของกลุ่มเจ้านาย 10 กว่าคนที่ต้องการให้สยามประเทศนั้นมีรัฐธรรมนูญ มีการปกครองที่มีนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่พระมหากษัตริย์เหมือนจักรพรรดิเมจิ”

ย้อนกลับไปอีกจุดหนึ่งซึ่งสำคัญมาก หมอบรัดเลย์แปลรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาไทย เมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีสมาชิก 100 กว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มดังกล่าว อาทิ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4, สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์, ขุนนางสกุลบุนนาค รวมถึงขุนนางที่อยู่ในต่างจังหวัด ทำให้รู้ว่า สยามประเทศไม่ใช่ว่าไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยเลย

เพราะฉะนั้นแปลว่าในโลกซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลง ในโลกที่เป็นสมัยใหม่สยามประเทศรับรู้แล้ว แต่ทำไมเราจึงช้า ?

“จริง ๆ แล้ว การปฏิวัติปี 2475 ไม่ได้ชิงสุกก่อนห่าม แต่มาพร้อม ๆ กับความเป็น modernity ของโลก”

ฉะนั้น ถ้าเราดูในคำประกาศฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร ซึ่งเข้าใจกันว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นคนร่าง สยามเป็นประเทศเอกราชสุดท้ายที่ยังไม่มีการปฏิวัติประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาปฏิวัติแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1776 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฝรั่งเศสปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ของรัตนโกสินทร์

แปลว่าความจริงแล้วเมืองไทยก็เห็นว่า มีเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1776 มีเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1789 มีเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1911 ที่มีการปฏิวัติจีนของซุน ยัตเซน ซึ่งตรงสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนหน้าเหตุการณ์ ร.ศ. 130

“ถ้าเราดูการเมืองระหว่างประเทศ เราจะเข้าใจว่า เราชิงสุกก่อนห่าม ไม่พร้อมจริงหรือ ในเมื่ออะไรหลายอย่างทั้งในเมืองไทยก็ดี ทั้งนอกประเทศก็ดี ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราจะเข้าใจ 24 มิถุนายน 2475 ถ้าเราจะเข้าใจ 90 ปีที่แล้ว เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ระยะยาว และต้องมีการเปรียบเทียบ” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว