90 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

(จากซ้าย) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, พระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดีพนมยงค์ ในรัฐบาลพระยาพหลฯ ยุคปลาย 2480 (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2556)
(จากซ้าย) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, พระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดีพนมยงค์ ในรัฐบาลพระยาพหลฯ ยุคปลาย 2480 (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2556)

24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย

90 ปีหลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2575 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และระบบการเมืองอีกหลายครั้ง กระทั่งหลัง 14 ตุลาคม 2516 จึงกำหนดให้ทุกวันที่ 14 ตุลาคมเป็นวันประชาธิปไตย

ข้อมูลจากหนังสือธรรมศาสตร์ การเมืองไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึง 16 ตุลาฯ 2516-6 ตุลาฯ 2519 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เขียนเล่าอัตชีวประวัติ ร่นปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะราษฎร ที่มีหน้าที่ดำเนินการด้านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบการเมืองของประเทศไทย

คณะราษฎร (The People’s Party) เป็นการรวมกลุ่มของข้าราชการกลุ่มเล็ก ๆ จำนวนหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นข้าราชการทหารและพลเรือนจำนวน 7 คน ที่มีปรีดี พนมยงค์ เป็นมันสมองของกลุ่ม

“คณะราษฎร” มีวัตถุประะสงค์สำคัญ คือ “เปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์เหนือกฏหมาย มาเป็นระบบการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้กฏหมาย” ซึ่งคือการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มาเป็นระบบรัฐธรรมนูญ เป็นประชาธิปไตย

สมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฏร 7 คน

คณะราษฏรมีการประชุมครั้งแรกที่บ้านพัก เลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด (Rue Du Sommerard) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2469 ซึ่งติดต่อกันนานถึง 5 วัน ที่ประชุมมีมติตกลงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย สมาชิกทั้ง 7 ประกอบด้วย

    1. นายร้อยแปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. หลวงพิบูลสงคราม) นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
    2. นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
    3. ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
    4. ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
    5. นายตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
    6. นายจรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
    7. นายแนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ

เมื่อสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎรต่างสำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ พร้อมกับหาสมาชิกในทางลับ และในท้ายที่สุดได้นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) มาเป็นหัวหน้าคณะ และมีสมาชิกคณะราษฎรทั้งสิ้น 102 คน แบ่งเป็นสายทหารบก 34 นาย สายทหารเรือ 18 นาย สายพลเรือน 50 คน

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ย์รัชกาลที่ 7 ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประธานอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการพระนคร การปฏิบัติการยึดอำนาจเกิดขึ้นในช่วงรุ่งสางของเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ราว 06.00 น. พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยพันเอกพระยาทรงสุรเดช ได้ดำเนินการตามแผนเคลื่อนกำลังประชิดลานพระที่นั่งอนันตสมาคม และมีการจับตัวพระบรมวงศ์มาเป็นตัวประกัน

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ปีนขึ้นไปบนยอดรถหุ้มเกราะคันหนึ่งและอ่านประกาศคณะราษฎร ซึ่งเป็นแถลงการณ์ประกาศถึงจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและการสถาปนารัฐอันมีรัฐธรรมนูญขึ้นในสยาม ประกาศคณะราษฎรถึง “ราษฎรทั้งหลาย”

โดยประกาศดังกล่าวระบุถึงการปกครองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลายประเด็น และเห็นว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศจะเป็นไปตามหลักการที่คณะราษฎรนำเสนอ คือ

หลักการที่คณะราษฎรนำเสนอ

    1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
    2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
    3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
    4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
    5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
    6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนระบอบทางการเมืองสำเร็จได้เมื่อคณะราษฎรส่งแกนนำไปเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน เพื่อเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่จดสร้างโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เนื่องจากไม่ประสงค์ให้มีการนองเลือด

สำหรับปัจจัยความสำเร็จข้อแรกในการปฏิวัติ 2475 ครั้งนี้ คือ ปัจจัยอุดมการณ์ลัทธิรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระแสทั่วโลกในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เก่าแก่ หรือเป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช หรือประเทศที่ยังตกเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก ก็ต่างมีรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด มีกระบวนการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่สำหรับประเทศไทยนั้นยังเป็นประเทศที่มีเอกราชประเทศเดียวในโลกที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ มีการแต่งตั้งปวงชน แต่ยังเป็นประเทศที่มีการปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียว

ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การใช้จ่ายที่เกินตัวของรัฐบาลในขณะนั้นที่เป็นตัวเร่งและเป็นตัวสะท้อนการไม่มีความสามารถในการบริหารบ้านเมือง และการปรับตัวเชิงสถาบันทางการเมืองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า