BOI ฟื้นกิจการทำเหมืองแร่ ทองคำ-โปแตช รับส้มหล่น สิทธิประโยชน์

เหมืองทอง

ท่ามกลางช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่รัฐบาลไทยกำลัง “กลับลำ” เปิดให้มีการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ หลังจากที่เกิดกรณีข้อพิพาทเหมืองแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ระหว่าง บริษัท Kingsgate Consolidated Limited (บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส) กับ รัฐบาลไทย ที่ใช้อำนาจจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 “ระงับ” การอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ

การต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ โดยอ้างเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยประชาชนในพื้นที่เกิดการตกค้างของโลหะหนักก่อมะเร็ง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด

ส่งผลให้ เหมืองแร่ทองคำชาตรีและเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศต้องหยุดการดำเนินการทำเหมืองลงตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อรัฐบาลออก พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ประกอบกับในทางคดีข้อพิพาทกับบริษัท Kingsgate ในอนุญาโตตุลาการ มีแนวโน้มที่รัฐบาลไทยจะ “แพ้คดี” จนนำไปสู่การหารือคู่ขนานนอกอนุญาโตตุลาการเพื่อยุติข้อพิพาท

ขณะที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้พิจารณาอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และคำขอต่ออายุประทานบัตรของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส อีกครั้งตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2565 ซึ่งคาดหมายกันว่า การดำเนินการของรัฐบาลไทยดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจรจาคู่ขนานนอกอนุญาโตตุลาการเพื่อที่จะ “ปูทาง” นำไปสู่การถอนเรื่องออกจากอนุญาโตตุลาการของบริษัท Kingsgate ในที่สุด

ฟื้นกิจการทำเหมืองแร่

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้มีมติในวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาให้ความเห็นชอบเรื่อง นโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องระยะแรก สั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วยการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศอีกครั้ง

จากเดิมที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุนในหมวด 2 แร่เซรามิกและโลหะขั้นมูลฐาน ใน 2 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการสำรวจแร่ กับ กิจการทำเหมืองและ/หรือแต่งแร่โพแทช ได้สิทธิประโยชน์ Activity-based Incentives อยู่ใน กลุ่ม B1 “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องได้รับอาชญาบัตร หรือ ประทานบัตร หรือ ใบอนุญาตรับช่วงการทำเหมือง มาก่อน แต่มาครั้งนี้ BOI จะให้การส่งเสริมการลงทุนถึง 3 ประเภทกิจการคือ กลุ่มกิจการสำรวจแร่, กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่และ/หรือแต่งแร่ กับ กลุ่มกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรม

แน่นอนว่า สิทธิประโยชน์ใหม่ที่ BOI กำลังพิจารณาจะต้องได้ “มากกว่า” สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม B1 ที่ได้เฉพาะการ “ยกเว้น” ภาษีขาเข้าเครื่องจักร มีความเป็นไปได้ว่า สิทธิประโยชน์ใหม่จะต้องอยู่ใน กลุ่ม A (มีตั้งแต่ A1-A4) ในสาระสำคัญที่เหนือกว่า กลุ่ม B กล่าวคือ จะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงื่อนไขและจำนวนปีที่ลดหลั่นกันลงมา

โดยการพิจารณาร่วมกันระหว่าง BOI กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น กิจการสำรวจแร่ อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม B1 เหมือนเดิม ในขณะที่ กิจการการทำเหมืองแร่และ/หรือแต่งแร่ ในประเภทแรร์เอิร์ท โลหะมีค่า ควอตซ์ โพแทช อื่น ๆ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A2 “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรของนำเข้าเพื่อวิจัย ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี ส่วนกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรมเฉพาะแร่ที่มีศักยภาพก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ใน กลุ่ม A2 เช่นกัน

อย่างไรก็ตามนอกเหนือไปจากการขอรับสิทธิประโยชน์ใหม่แล้ว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐานด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การได้รับ ISO หรือได้รับ Mining 4.0 หรือ Green mining เป็นต้น

กราฟิกเหมือง

ให้บีโอไอ อุตสาหกรรมต้นน้ำ

ด้าน นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ปัจจุบันการทำเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนน้อยมาก จากเดิมที่ BOI ให้สิทธิประโยชน์ไว้ 2 ประเภทกิจการคือ กิจการสำรวจแร่ทุกประเภท ในกลุ่ม B1 เงื่อนไขคือ ต้องมีอาชญาบัตรสำรวจแร่ก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมและไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมูลค่าโครงการได้ กับ กิจการทำเหมืองและ/หรือแต่งแร่โพแทช เงื่อนไขคือ ต้องมีประทานบัตรหรือใบอนุญาตรับช่วงการทำเหมืองก่อนยื่นคำขอรับการส่งเสริม ซึ่งสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม B1 “ถือว่าน้อยมาก”

ดังนั้นทาง กพร.จึงเห็นว่า ประเทศไทยควรส่งเสริมการทำเหมืองแร่ หากต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตและไม่ขาดแคลนวัตถุดิบ มีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ จึงควรสนับสนุนและนำแร่ที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของหลาย ๆ อุตสาหกรรมออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ไม่ใช่เพียงการขุดแล้วส่งแร่ไปถลุงขายที่จีน แล้วให้จีนส่งเป็นสินค้ากลางน้ำกลับมาขายไทย เพื่อให้ไทยผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำ จึงจำเป็นต้องให้ BOI ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ใหม่ทั้งหมด โดยได้มีการเสนอในหลักการและหารือกันมาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติการยื่นขอประทานบัตร (ขอใหม่) 6 เดือนแรก (ต.ค. 2564-มี.ค. 2565) ปรากฏได้รับการอนุญาตไปแล้ว 22 แปลง เทียบช่วงเดียวกัน (ต.ค. 2563-มี.ค. 2564) ซึ่งอนุญาตไป 10 แปลง ส่วนประทานบัตร (ต่ออายุ) อนุญาตไป 13 แปลง เทียบช่วงเดียวกันที่อนุญาตไป 6 แปลง ขณะที่อาชญาบัตรพิเศษยังไม่มีการอนุญาตหรือ 0 แปลง เทียบช่วงเดียวกันที่อนุญาตไป 1 แปลง อาชญาบัตรผูกขาด 16 แปลง เทียบช่วงเดียวกันที่อนุญาตไป 17 แปลง โดยคำขอประทานบัตรที่ยื่นเข้ามาพบว่า อันดับ 1 คือ หินอุตสาหกรรม (ตารางประกอบ)

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนให้ครอบคลุมไปถึง “อุตสาหกรรมต้นน้ำ” ของการทำเหมืองแร่ในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการทำเหมืองแร่รายใหญ่ 2 ราย คือ การกลับมาทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส ซึ่งได้รับการต่ออายุประทานบัตรและอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ไปแล้ว โดยในขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการยื่นคำขอใหม่ตามกระบวนการและเงื่อนไขของ พ.ร.บ.แร่ 2560 (ฉบับใหม่) ครบถ้วน รวมถึง เตรียมยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ใน 3 ประเภทกิจการที่จะออกมาใหม่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการทำเหมืองใต้ดินจำนวน 4 แปลง ของบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้วและกำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 คือการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรของคณะกรรมการแร่ กลายเป็น 2 บริษัททำเหมืองขนาดใหญ่ที่พร้อมจะขอรับสิทธิประโยชน์ใหม่ของ BOI เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมทำเหมืองแร่ครั้งใหม่ของประเทศ