เบนซ์พบ “สุริยะ” ยื่นข้อเสนอ EV ขอท็อปอัพบีโอไอก่อนลงทุน รง.EQS500

เบนซ์พบสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

เปิดข้อแลกเปลี่ยน เบนซ์ หลังพบ “สุริยะ” ขอสิทธิประโยชน์ลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ 100% ท็อปอัพเพิ่ม หลังจากรถ Mercedes-Benz EQS รุ่น 450 BEV รุ่นแรกลอตแรกนำเข้า-ประกอบขายปลายปี 2565 นี้ ก่อนลงทุนผลิตรุ่น EQS รุ่น 500 ในไทย ขณะที่คลังยอมยกเว้นอากรขาเข้าให้ตั้งแต่ปี 2565-2568 ตามเงื่อนไขต้องอยู่ในเขตประกอบการเสรี

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส -เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าพบ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือแผนการลงทุนของบริษัท และขอรับทราบนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย

หลังจากที่เบนซ์ประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทย โดยจะนำเข้าและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 100% (BEV) หรือ Mercedes-Benz EQS รุ่น 450 ภายในเดือน พ.ย. 2565 นี้ และจะเริ่มทำตลาดช่วงปลายปี โดยได้ใช้สิทธประโยชน์ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เคยให้ไว้ คือ ไม่เสียภาษีนำเข้า EQS ทั้งคันในช่วงแรก

โดยเบนซ์ในประเทศไทยได้ขอให้รัฐบาลไทยทบทวนมาตรการใหม่ให้สอดรับกับแผนการลงทุนของบริษัท เนื่องจากเบนซ์มีแผนที่จะผลิตรถรุ่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงการนำเข้าทั้งคันหรือนำมาประกอบ จากนั้นจะนำผลการหารือกับทางรัฐบาลไทยรายงานต่อบริษัทแม่รับทราบ เนื่องจากตามแผนการลงทุนของเบนซ์ตั้งเป้าที่จะมุ่งไปสู่ BEV 100% ในปี 2030 (2573) และกำลังพิจารณาที่จะลงทุนผลิตเพิ่มในส่วนของ Mercedes-Benz EQS รุ่น 500 ในประเทศไทยจากเดิมที่นำเข้ามาสำเร็จรูปทั้งคัน ซึ่งยังรวมไปถึงการผลิตแบตเตอรี่ EV ในไทยเช่นกัน

การหารือครั้งนี้เบนซ์มาย้ำถึงแผนการลงทุนในไทย และแผนการลงทุนในอนาคตที่บริษัทแม่ได้วางไว้หากรัฐบาลไทยมีสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น หรือสามารถสนับสนุนเรื่องของ EV ในส่วนใดได้อีก เขาก็จะไปรายงานบริษัทแม่และโน้มน้าวให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่มี

เพื่อให้บริษัทแม่ขยายการลงทุนเพิ่มเพราะเขามีแผนจะขยายรถ EV อีกหลายตัว ไม่ใช่แค่การนำเข้ามาแต่จะขยายไปสู่การผลิต ซึ่งแน่นอนว่าไทยจะได้โอกาสเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนนี้แน่นอน และไทยเองก็จะถึงเป้าหมายที่ต้องการขาย EV 100% ในปี 2035 (2578)

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุน หรือแพ็กเกจยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (EV) ที่บีโอไอกำหนดออกมาจะมีทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1.รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) 2.รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) ที่ทุกค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอและได้รับการอนุมัติอย่างต่อเนื่อง 3.รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) หรือ EV 100% ชัดเจนว่ามี BENZ BMW MINE MG TOYOTA HONDA FOMM ได้ยื่นขอบีโอไอมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเบนซ์ได้ทดลองนำเข้าทั้งคันตามเงื่อนไขบีโอไอ

โดยมาตรการ EV นั้นถือว่าประกาศออกมาครอบคลุมทั้งส่วนของการนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) นำเข้ามาประกอบ ผลิตและขายในประเทศโดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศเป็นหลัก ขยายครอบคลุมไปยานยนต์ประเภทอื่นๆ รวมถึงสถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริมไปแล้วถึง 16 โครงการ จาก 10 บริษัท

อีกด้านหนึ่งกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการทางภาษี (การนำเข้า) และไม่ใช่ภาษี (เงินสนับสนุนการผลิต) ระหว่างปี 2565-2568 ด้วยการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากร ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA)

เช่น ราคารถไม่เกิน 2 ล้านบาท ใช้สิทธิ์ FTA อากรไม่เกิน 40% ให้ยกเว้นอากรหรือฟรี ส่วนรถราคาตั้งแต่ 2-7 ล้านบาท ใช้สิทธิ์ FTA อากรไม่เกิน 20% ให้ยกเว้นอากรหรือฟรี หากประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าประจำปีให้อีก