ออมสินปล่อยกู้กองทุนน้ำมัน คลังค้ำประกัน-เรียกเก็บเงินผู้ใช้รถ

กองทุนน้ำมัน

หลังจากที่ยืดเยื้อกันมามากกว่าครึ่งปี ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …วงเงิน 150,000 ล้านบาท หลังจากที่ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถที่จะบริหารจัดการกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบอยู่ถึง -118,010 ล้านบาท (ณ วันที่ 21 ส.ค. 2565)

แบ่งเป็น ติดลบในบัญชีน้ำมัน -76,741 ล้านบาท และติดลบในบัญชีก๊าซ LNG -41,269 ล้านบาท โดยสถานะกองทุนน้ำมันที่ติดลบเป็นผลมาจากการเข้าไป “อุดหนุน” ราคาก๊าซหุงต้มและการตรึงราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาท มาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

เท่าที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เพียรพยายามที่จะหา “เงินกู้” เพื่อรักษา “สภาพคล่อง” ให้สามารถดำรงความสามารถในการอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซ LPG ในประเทศให้ “ต่ำกว่า” ระดับราคาที่แท้จริงมาโดยตลอด หรืออย่างน้อยหลังจากที่ ครม.ได้มีมติให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการกู้เฉพาะวงเงิน 20,000 ล้านบาท

ตามกรอบของกฎหมายกองทุนน้ำมันฯที่มีอยู่และจะให้ดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมอีกในวงเงิน 10,000 ล้านบาท รวมเป็น 30,000 ล้านบาท มาตั้งแต่หลังวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาก็คือ ในขณะนั้นไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดสนใจที่จะให้สำนักงานกองทุนน้ำมันฯกู้ยืมเงินจำนวนนี้ โดยสถาบันการเงินภาคเอกชนได้ “ปฏิเสธ” ที่จะให้กู้โดยเด็ดขาด ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐ (ธนาคารกรุงไทย-ธนาคารออมสิน) ก็แบ่งรับแบ่งสู้

เนื่องจากทราบดีว่า การกู้เงินจำนวน 30,000 ล้านบาท ในขณะนั้นมี “ความเสี่ยง” ในการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากวงเงินกู้สูง ขาดการค้ำประกันเงินกู้ ประกอบกับ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่มีทีท่าที่จะ “ต่ำกว่า” 100 เหรียญ/บาร์เรล

และที่สำคัญก็คือ นโยบายของรัฐบาลยืนยันที่จะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการบริหารจัดการด้วยการ “อุดหนุน” ราคาขายปลีกก๊าซ LPG กับ การรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตรต่อไปและไม่มีใครรู้ว่านโยบายอุดหนุนแบบนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ส่งผลให้แผนการชำระหนี้เงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ

ภาวะอิหลักอิเหลื่อข้างต้นได้ดำรงอยู่ตลอดช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2565 จากฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันที่ติดลบในระดับ -50,000 ล้านบาท ในช่วงต้น ๆ ก็ได้พุ่งทะยานทะลุเกินกว่า -100,000 ล้านบาทและกองทุนน้ำมันทำท่าว่า “จะขาดสภาพคล่อง”

จนไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 35 บาทได้ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจะหาเงินจากแหล่งใดมาให้ กองทุนน้ำมันฯ เพื่อพยุงรักษาสภาพคล่องไว้ หรือจะปล่อยให้กองทุน “หมดสภาพ” ไม่สามารถอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศต่อไปได้ด้วย “หนี้” กว่า 100,000 ล้านบาท

ส่งผลให้ช่วงต่อมาได้เกิดปรากฏการณ์แปลก ๆ ในความพยายามที่จะ “เติมเงิน” เข้ากองทุนน้ำมันฯที่ “สุ่มเสี่ยง” ต่อการดำเนินการที่ไม่มีกฎหมายรองรับ หรือกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดคำนวณอัตราผลกำไรของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้ง 6 โรง

แน่นอนว่ามีทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ด้วยการเสนอสูตรการเก็บ “ส่วนต่างของกำไรที่สูงเกินปกติ” จาก “ค่าการกลั่นน้ำมัน” หรือ Gross Refinery Margin หรือ GRM ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่พุ่งขึ้นสูงจนทะลุ 6 บาท/ลิตร

แน่นอนว่า สูตรการเรียกเก็บค่าการกลั่น นั้น “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิง ทั้งอัตราเงินที่จะจัดเก็บ กฎหมายที่จะบังคับใช้ในการจัดเก็บ และการขัดกับข้อตกลงที่เชิญชวนให้กลุ่มบริษัทน้ำมันต่างชาติในอดีตเข้ามาตั้งโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ประกอบกับเจอคำขู่ในเรื่องของความพร้อมที่โรงกลั่นน้ำมันจะส่งออกน้ำมันแทนการกลั่นเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ

หากมีการเรียกเก็บกำไรส่วนเกินปกติจากค่าการกลั่นขึ้นมาจริง ๆ มีเพียง กลุ่มบริษัท ปตท.ซึ่งเป็นเจ้าของและถือหุ้นใหญ่อยู่ในโรงกลั่นน้ำมัน 4 ใน 6 แห่งของประเทศเท่านั้นที่ยินยอม “สนับสนุน” หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “บริจาค” เงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเป็นกรณีพิเศษเดือนละ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน รวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท โดยที่ ปตท.เองก็ไม่ได้บอกว่า เงินจำนวนนี้ได้มาจาก “กำไร” ส่วนไหนของกลุ่ม

แต่การบริจาคเงินของ ปตท.เพียงอย่างเดียวนั้นยัง “ไม่เพียงพอ” ที่จะช่วยด้านสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความจำเป็นในการ “อุดหนุน” ราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป จากข้อเท็จจริงที่ว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานเกินไปกว่าวงเงิน 20,000 ล้านบาท เป็นการถาวรอย่างที่รัฐบาลชุดนี้พยายามจะให้เป็น

ประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึง “ความสามารถ” ของกองทุนน้ำมันฯที่จะเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานนั้นเขียนไว้อย่างชัดเจนใน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่ว่า ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้บริหารจัดการ…ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้จำนวนเงินต้องไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และกรณีฐานะกองทุนน้ำมันฯ “ติดลบ” 20,000 ล้านบาท ต้องให้กองทุนน้ำมันฯหยุดการชดเชยทันที

ทว่าการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …จึงเท่ากับเป็นการ “ขยาย” วงเงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากไม่เกิน 20,000 ล้านบาท มาเป็น “เพดาน” วงเงินกู้ 150,000 ล้านบาท หนำซ้ำยังเท่ากับเป็นการ “ยกเลิก” เส้นตายที่จะหยุด “ความเสียหาย” ของกองทุนน้ำมันฯจากฐานะกองทุนไม่ให้ติดลบเกินไปกว่า 20,000 ล้านบาทอีกด้วย

สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบในระดับ 150,000 ล้านบาท ก็จะถูก “โอน” ความเสี่ยงด้วยการค้ำประกันวงเงินกู้ของกระทรวงการคลังแทน “ธนาคารออมสิน” ที่ออกมาประกาศพร้อมจะให้สำนักงานกองทุนน้ำมันฯกู้ยืมเงินเป็นธนาคารแรกทันที

ในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันเองก็จะต้องมีหน้าที่ “ใช้หนี้เงินกู้” กับ “ลด” สถานะบัญชีติดลบในปัจจุบันของกองทุนน้ำมันฯในรูปแบบของการเรียกเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุน ซึ่งเริ่มนำร่องไปแล้วในกลุ่มน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา เพียงแต่ว่า ในอนาคตหลังการกู้ยืมเงิน กองทุนน้ำมันฯจะเรียกเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนจากผู้ใช้น้ำมันเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใดเท่านั้น