
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังซาอุดีอาระเบียเสนอให้โอเปกพลัสปรับลดกำลังการผลิต ราคาน้ำมันเบรนต์แตะ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในรอบหลายสัปดาห์
วันที่ 24 สิงหาคม 2565 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับเพิ่ม หลังอุปทานในตลาดมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น จากซาอุดีอาระเบียส่งสัญญาณเตรียมพร้อมปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- ราคายางใกล้แตะ 50 บาท/กก. กระทบโรงงานน้ำยางข้นต้นทุนพุ่ง-จ่อปิดตัว
- เตือน 10 จังหวัด เตรียมพร้อมยกของขึ้นที่สูง รับมือสถานการณ์น้ำ
โดยรัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถปรับเปลี่ยนหนทางในการรับมือกับความท้าทายในตลาดและราคาน้ำมัน ซึ่งรวมถึงการปรับลดกำลังการผลิตเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โอเปกพลัสอาจไม่ปรับลดกำลังการผลิตทันที และจะดำเนินการให้สอดคล้องกับกรณีที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด หากอิหร่านบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับตะวันตก
โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 23 ส.ค. 2565 อยู่ที่ 93.74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +3.51 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 100.22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +3.74 เหรียญสหรัฐ
เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อิหร่านได้ยกเลิกข้อเรียกร้องบางประการในการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ให้ข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผลได้ใกล้ขึ้น
หลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐ (API) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 19 ส.ค. 65 ปรับตัวลดลงกว่า 5.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงราว 9 แสนบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่ม 2.68 แสนบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน
ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับเพิ่มจากการกลับมาดำเนินการของโรงกลั่นในศรีลังกา อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินจากจีนไปยังปากีสถานปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนอุปสงค์ในปากีสถานที่ยังคงแข็งแกร่ง
ราคาน้ำมันดีเซล
ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในแถบตะวันตก ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในเกาหลีใต้ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนตัวลง และมีแนวโน้มส่งออกอุปทานส่วนเกินออกสู่ตลาดในภูมิภาคมากขึ้น