ดึงญี่ปุ่นปักหมุดลงทุนอีอีซี กนอ.-BOI อัดสิทธิประโยชน์

ดึงญี่ปุ่น

โรดโชว์ญี่ปุ่น “กนอ.-บีโอไอ” คอนเฟิร์มญี่ปุ่นเตรียมลงทุนไทย 3,000 ล้านบาท ใน EEC อีก 1 ราย ผลิตแผ่นเวเฟอร์ ชิป ป้อนทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ พร้อมเพิ่มให้สิทธิประโยชน์ด้านลงทุนเอื้อให้ทั้งยกเว้นภาษี อากร ต้องเข้าเงื่อนไขต้องมีแผนด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ได้หารือกับผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิต printed circuit board (PCB)

ผลการหารือนักลงทุนรายดังกล่าวยืนยันที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม มูลค่า 3,000 ล้านบาท เพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ (wafer) และชิป ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงยานยนต์ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยจะเริ่มแผนก่อสร้างในต้นปี 2566 และเดินเครื่องผลิตในอีก 2 ปีข้างหน้า

“นักลงทุนรายดังกล่าวมีการลงทุนอยู่แล้วในไทย เป็นนักลงทุนรายเดิมที่เราได้พยายามชักจูงให้ขยายการลงทุนเพิ่ม และครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่นักลงทุนรายนี้ตอบรับและเป็นการเพิ่มเงินลงทุนจากเดิม 1,500 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท เนื่องจากเห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจและการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก”

ส่วนหนึ่งการปิดดีลครั้งนี้ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่ทางบีโอไอ ได้ปรับเพิ่มใหม่มีความน่าสนใจและตรงกับเป้าหมายการลงทุนของบริษัท โดยบีโอไอจะให้การส่งเสริมการลงทุนโดยยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี และยังยกเว้นภาษีอากรต่าง ๆ

ขณะเดียวกันยังกำหนดเงื่อนไขว่า บริษัทที่จะได้สิทธิประโยชน์เหล่านี้แบบเต็มที่จะต้องมีแผนการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงานร่วมด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยจะได้เพียงการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม แต่ยังได้การลงทุนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังร่วมการลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามแผนที่ทุก ๆ ประเทศต้องการ ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้บริหารให้มีสิทธิเป็นเจ้าของได้ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ให้กับครอบครัว เป็นต้น

นอกจากนี้ ไทยยังน่าสนใจกว่าประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพราะมีความมั่นคงด้านแรงงานแม้ค่าแรงของไทยจะเพิ่มขึ้นและสูงกว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวเล็กน้อยก็ตาม

ขณะที่ทำเลที่ตั้ง และโครงสร้างสาธารณูปโภคทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม มีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่น และแน่นอนว่าเรื่องของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการลงทุ เพราะนักลงทุนพิจารณาจากภาพรวมเศรษฐกิจ การส่งออก และการเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การคมนาคมในระยะยาว ซึ่งประเทศไทยยังมีความน่าสนใจอยู่มาก


ขณะเดียวกัน ยังมีโอกาสหารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารและเครื่องจักรที่ใช้ผลิตอาหารของญี่ปุ่น เพิ่มเติมอีก 1 ราย ผลการหารือนักลงทุนสนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่เป็นแหล่งรวมการผลิตอาหารอยู่แล้วในไทย เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง