อาหาร ดันส่งออก ส.ค. 65 โต 7.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18

ส่งออก

จุรินทร์ เผยการส่งออกเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว 7.5% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ผลจากกลุ่มอาหารแปรรูป สัตว์เลี้ยง รถยนต์ ขยายตัวดี แม้ปัจจุบันไทยจะเผชิญค่าเงินบาทที่อ่อนค่า แต่สินค้าบางรายการแข่งขันได้

วันที่ 26 กันยายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกสิงหาคม 2565 พบว่า มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 861,169 ล้านบาท ขยายตัว 7.5%

เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 แต่หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 10.1% การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจากสินค้าในกลุ่ม อาหารแปรรูป เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกไปได้ดี การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการที่กลับมาขยายตัว รวมไปถึงค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าส่งผลให้สินค้าบางรายการแข่งขันได้ แม้การนำเข้าจะกระทบไปบ้าง

ทั้งนี้ การนำเข้าเดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ขณะที่ ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม) การส่งออก มีมูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.0% การนำเข้า มีมูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.4% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ 

“การส่งออกกระทรวงพาณิชย์ โดยทูตพาณิชย์ทั่วโลกพร้อมการทำงานร่วมเอกชน จับมือผลักดันการส่งออกหาตลาดใหม่ ลดปัญหาและอุปสรรค ทำให้การส่งออก 8 เดือนแรก ขยายตัว 11% ขณะที่ทั้งปี 2565 ตั้งเป้าหมาย 4% เชื่อว่าเกินเป้าหมายแน่นอน แม้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะกระทบต่อการนำเข้า เช่น ก๊าซธรรมชาติ  น้ำมันสำเร็จรูป แต่การส่งออกสินค้าบางตัวของไทยแข่งขันได้”

สำหรับการรายงาน การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัว ต่อเนื่อง 21 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดีได้แก่ ข้าว ขยายตัว 15.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน ตลาดที่ส่งออกไปได้ดี เช่น ตลาดอิรัก สหรัฐ แคนาดา มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์

น้ำตาลทราย ขยายตัว 173.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน ตลาดที่ส่งออกไปได้ดี อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และไต้หวัน อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป ขยายตัว 18.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน ตลาดที่ส่งออกไปได้ดี สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และซาอุดีอาระเบีย ไอศกรีม ขยายตัว 71.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 27 เดือน ตลาดที่ส่งออกไปได้ดี มาเลเซีย สหรัฐ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น

สินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว 2.8% กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ และบราซิล แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ อินเดีย สเปน เยอรมนี และสโลวีเนีย ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 63.8% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย -สหรัฐ และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไต้หวัน ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 15.2% 

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน สินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.5% กลับมาขยายตัว ในรอบ 8 เดือน ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม

อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 31.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเบลเยียม ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 11.4% หดตัวในรอบ 19 เดือน หดตัวในตลาดจีน กัมพูชา อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว

ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 0.2% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเยอรมนีแต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินเดีย ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.0%

อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางความเสี่ยงที่กดดันภาวะ เศรษฐกิจการค้าโลก อาทิ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวในหลายประเทศ สถานการณ์ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดในจีน ซึ่งล้วนส่งผลต่ออุปสงค์ จากประเทศคู่ค้า 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวก การส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การเพิ่มจำนวนกิจกรรมส่งเสริมการค้า ร่วมกับภาคเอกชน จากแผนเดิมที่กำหนดไว้ 185 กิจกรรม

ในปี 2565 เพิ่มขึ้นอีก 345 กิจกรรม แบ่งเป็น แผนเชิงรุก 231 กิจกรรม และแผนเชิงลึก 114 กิจกรรม เพื่อผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลังให้ขยายตัวเกินกว่าเป้าหมาย ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ (2) การเจาะตลาดรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีเป้าหมาย เจาะตลาด 36 ประเทศ 105 เมือง เช่น การเจาะตลาดสินค้าไก่ วัสดุก่อสร้าง บริการการก่อสร้าง และสินค้า เฟอร์นิเจอร์ในตลาดซาอุดีอาระเบีย และการเจาะตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เป็นต้น 

(3) การสนับสนุนนโยบายขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน (Enhancing The Dots) ในการส่งเสริมการส่งออก การค้าชายแดน และการบริโภคภายในประเทศ โดยร่วมมือกับสภาหอการค้า แห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้ประกอบการ MOC Biz Club เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าให้ภาคเอกชน เช่น การแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ และการส่งสินค้าผลไม้ไปยังจีน รวมทั้งมีกิจกรรมส่งเสริมทางการค้า อาทิ การจัดงานแสดงสินค้า และการจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการ ส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอาหารที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงที่เหลือของปีตามราคาอาหารทั่วโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง

ขณะที่นโยบายของสหรัฐ ที่จำกัดการเข้าถึง สินค้าเทคโนโลยีของจีน อาจทำให้มีอุปทานชิปประมวลผลส่วนเกินจากผู้ผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และยังเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินเฟ้อ ในหลายประเทศ การขาดแคลนพลังงานในทวีปยุโรป และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน อาจเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป