มีผลบังคับใช้แล้ว! พ.ร.ก.ให้คลังค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมันฯ 1.5 แสนล้าน

ราชกิจจาฯออกประกาศ พระราชกำหนด ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 วงเงิน 150,000 ล้านบาท มีผลบังคับใช้แล้ว และพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินจากไม่เกิน 1.7 แสนล้านบาท เป็นไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชกำหนด ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ความว่า

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565”

มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป)

มาตรา 3 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดขึ้นและสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีความจำเป็นโดยเร่งด่วนที่จะต้องกู้ยืมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ดังกล่าว และกระทรวงการคลังเห็นสมควรเข้าค้ำประกันการชำระหนี้รายนั้น กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีอาจค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าวครั้งเดียวหรือหลายครั้งได้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะโดยมิให้นำมาตรา 19 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาใช้บังคับแก่การค้ำประกันดังกล่าว

การค้ำประกันตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้เฉพาะที่ลงนามในหนังสือหรือสัญญาค้ำประกันภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และต้องมีวงเงินรวมไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท

ในกรณีที่กระทรวงการคลังต้องชำระหนี้ตามวรรคหนึ่งในฐานะผู้ค้ำประกัน ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีหน้าที่ชำระคืนให้แก่กระทรวงการคลังจนครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ โดยที่ปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันกระทบโดยตรงต่อภาวะการครองชีพและการดำรงชีพของประชาชนทั่วประเทศ และกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจำเป็นต้องกู้เงินอย่างเร่งด่วนเพื่อนำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

แต่โดยที่กระทรวงการคลังไม่อาจค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ จึงจำเป็นต้องผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในห้วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวให้บรรเทาเบาบางลง อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

-พ.ร.ก.ค้ำประกันกองทุนน้ำมัน

เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่ พระราชกฤษฎี อีกฉบับ เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนและกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. 2565 โดยเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินจากเดิม “จำนวนไม่เกินหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท” เป็น “จำนวนไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท”

โดยที่มาตรา 2 ในพระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้วันที่ 7 ตุลาคม 2565) ซึ่งจะล้อหรือสอดคล้องกันกับพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ที่ประกาศข้างต้น

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ระบุหมายเหตุไว้ว่า โดยที่ราคาน้้ามันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้้ามันเชื้อเพลิง และเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนทั่วประเทศ

สำนักงานกองทุนน้้ำมันเชื้อเพลิงจ้าเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้้ามันเชื้อเพลิงไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากเกินไป จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนน้้ามันเชื้อเพลิงและกรอบวงเงินกู้ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ในห้วงระยะเวลาหนึ่งให้สอดคล้องกับการกู้เงินดังกล่าว และโดยที่มาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินดังกล่าวกระทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่รัฐบาลเข้าไปดูแลเสถียรภาพราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยเฉพาะการเข้าไปอุ้มหรือพยุงราคาน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศและค่าครองชีพของประชาชน ตัวเลข ณ วันที่ 25 กันยายน 2565 กองทุนน้ำมันฯติดลบอยู่ประมาณ 124,216 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 82,674 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 42,542 ล้านบาท โดยที่มีเงินช่วยเหลือด้านราคาก๊าชจากกลุ่ม ปตท.เข้ามาเติม 1,000 ล้านบาท