“โออาร์” ปรับสูตรลงทุน ตปท. หลังโควิด มอนิเตอร์ 3 ปัจจัยเสี่ยง “ศก.-นโยบายประเทศ-พฤติกรรมผู้บริโภค” ก่อนปักหมุดตามแผน 100 ประเทศในปี’73 พร้อมดันคาเฟ่อเมซอนเปิดทางตลาดซาอุฯ-ผนึกสิงคโปร์รุกอีวี และขยายสาขาที่เวียดนาม
การขับเคลื่อนธุรกิจไปตลาดต่างประเทศ เป็น 1 ใน 4 ภารกิจหลักที่ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) วางไว้ ร่วมกับการขับเคลื่อน 3 ด้าน คือ mobility lifestyle และ innovation โดยมีแผนขยายการลงทุนไปยัง 100 ประเทศทั่วโลก ภายในปี 2573 (2030) จากปัจจุบันที่เข้าไปลงทุนใน 10 ประเทศ คือ กัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น ลาว จีน ฟิลิปปินส์โอมาน มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา
จับตาเศรษฐกิจโลก เขย่าแผนลงทุน
นายรชา อุทัยจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจต่างประเทศ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมในส่วนของตลาดต่างประเทศในปีนี้ถือว่าฟื้นคืนกลับมาระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าหลังโควิดแล้ว การฟื้นตัวของแต่ละประเทศแตกต่างกัน
ส่วนแนวโน้มปีหน้าปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้ออาจส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ซึ่งบริษัทต้องติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามแผนที่แจ้งนักลงทุนไว้ โดยในบางประเทศเป้าหมายเดิมอาจต้องชะลอ หาตลาดใหม่ หรือบางประเทศถ้าสถานการณ์ดีอาจต้องพลิกฟื้นเร่งขยายการลงทุน
“ปีนี้เริ่มฟื้นระดับหนึ่ง แต่ปีหน้าต้องยอมรับว่าในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งรายได้มาจากเรื่องราคาน้ำมัน เรายังตอบไม่ได้ ก็ยังมีปัจจัยท้าทาย แต่ในมุมของรีเทลเชื่อว่าจะเริ่มเห็น อ้างอิงบางคนที่วิเคราะห์ว่ายังไม่ถึงเวฟสุดท้าย เพราะหลังจากที่เราเห็นสภาพที่เกิดขึ้น ดอกเบี้ยขึ้น ต่อไปผู้บริโภคจะซัฟเฟอร์จากดอกเบี้ยที่ขึ้น เราต้องดูว่าพอเป็นอย่างนั้น ประเทศไหนใครยังแข็งแรงอยู่ ก็อาจต้องโฟกัสได้ถูกจุด การไปต่างประเทศไม่เหมือนในเมืองไทย เพราะเมืองไทยเราเห็นการใช้จ่าย แต่ในต่างประเทศต้องโคลสอัพ เราไม่รู้พฤติกรรมเขาเปลี่ยนขนาดไหน ต้องดูรายละเอียดพอสมควร”
สิ่งที่เกิดขึ้นผลักดันให้บริษัทต้องทบทวนแผนบ่อยขึ้น โดยพยายามดูใน 2 มุม บางประเทศอาจต้องชะลอเพื่อรอดู แต่บางประเทศถ้าพลิกกลับมาได้ดีก็อาจต้องเร่งลงทุนจึงเป็นเรื่องของการเข้าไปดูในรายละเอียดพอสมควรทั้งในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร บางที่อาจชะลอไว้ก่อนปีนี้ เพื่อขยายในปีต่อไป
“เราเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่จะไม่เหมือนในอดีต คือ หลังโควิดเกิดขึ้นมา คือระบบเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค ถึงเวลาที่จะเขย่าใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าทิศจริง ๆ จะเป็นอย่างไร”
แผนขยายธุรกิจไม่สะดุด
อย่างไรก็ตาม นายรชากล่าวว่า แผนขยายธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทในช่วงที่มีการสรรหาซีอีโอใหม่ (แทน น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์) ยังเดินหน้าตามกลยุทธ์เดิมที่วางไว้ คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ (mobility), การสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างครบวงจร เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ (lifestye) การขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ (global) และการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม (innovation)
“เชื่อว่าผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอใหม่ ทราบอยู่แล้ว 4 พิลลาร์นี้เป็นเรื่องที่เราโฟกัส ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะมาก็ทำต่อได้ ไม่สะดุดแน่นอน การขยายการลงทุนยังเป็นไปตามเป้าหมายที่แจ้งต่อนักลงทุนไว้ ตอนที่ระดมทุนไว้ เราก็พยายามทำให้ได้ตามเป้าหมาย ในไตรมาส 4 ถามว่าเป็นจังหวะโอกาสการขยายการลงทุนของแต่ละประเทศหรือไม่ คงต้องมองหลายด้าน เพราะต่างประเทศไม่เหมือนกับไทยที่เราคุ้นเคยกับผู้บริโภคเป็นอย่างดี การไปต่างประเทศ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องผู้บริโภค ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง นโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย จังหวะและโอกาสของการลงทุนแต่ละประเทศจึงแตกต่างกัน”
เดินหน้าลุยตลาดใหม่
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โออาร์ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับบริษัท สลีค อีวี จำกัด สิงคโปร์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่งไทยและสิงคโปร์ (STEER) ครั้งที่ 6 ซึ่งการทำ MOU ครั้งนี้ เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาธุรกิจอีวีร่วมกัน โดยทางสลีคฯถือเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีด้านอีวี เป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยี ส่วนโออาร์มีฟิสิคอลแพลตฟอร์ม ทั้งสถานีบริการ และร้าน FIT Auto จึงหารือกันว่าจะสร้างความสะดวกให้ผู้บริโภคได้อย่างไรจากสิ่งที่มี และการมีโอกาสทดลองน่าจะเป็นสิ่งที่ดี
“ความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาเพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่มองว่ามีอะไรที่จะมีโอกาสต่อกันได้บ้าง ที่สำคัญขึ้นอยู่กับผู้บริโภคตอบรับมากน้อยเพียงใด เป็นลักษณะของการเปลี่ยนพฤติกรรมคนคล้ายกัน สลีคฯมีบริษัทแม่อยู่สิงคโปร์ แล้วมาตั้งบริษัทในไทย เราเปิดกว้าง ศึกษา แล้วยังต้องทดลองหลายอย่างจริง ๆ
โดยหลักคือผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน แต่เรากำลังสร้าง โดยใช้ ecosystem ฟิสิคอลแพลตฟอร์ม เครือข่ายเน็ตเวิร์กที่มี เพื่อมาทำกับโปรเจ็กต์ดูว่าเป็นยังไง โออาร์มองว่าทุกอย่างเป็นโอกาส คำว่าโอกาส มีทั้งในและต่างประเทศ เพียงแต่การได้ศึกษาร่วมกันทำให้เห็นช่องทางไหนที่เป็นไปได้สุด และจุดที่ดีที่สุดของผู้บริโภค”
นอกจากนี้ ยังขยายไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียในส่วนของร้านคาเฟ่อเมซอน โดยได้ผู้ร่วมเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ และขยายสาขาคาเฟ่อเมซอนแห่งที่ 14 ในประเทศเวียดนามโดยร่วมกับ CRG
กลยุทธ์คาเฟ่อเมซอนเปิดทาง
“การขยายไปต่างประเทศ มี 2 แบบ คือ มีบริษัทลูกในต่างประเทศ จะมีบิสซิเนสโมเดลเหมือนในประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศด้วย อย่างเรื่องอีวี ต้องเข้าใจว่าอีวีแต่ละประเทศมีนโยบายและการสนับสนุนแตกต่างกัน อีกด้าน เราพยายามศึกษาคอนเซ็ปต์เรื่องกรีนในแต่ละประเทศ เป็นโอกาสการลงทุนต่อไป หรือที่ไปเปิดคาเฟ่อเมซอนที่ซาอุฯ เป็นจุดเริ่มต้นในการขยายธุรกิจอื่นต่อด้วย คือเราใช้คาเฟ่อเมซอนนำร่องไปก่อน จากนั้นก็มีโอกาสได้คุยกับพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศ และเริ่มมองเห็นโอกาสในการลงทุน จะเป็นเราไปหาเขา หรือเขามาหาเรา อะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย”
ในสิงคโปร์ นอกจากเรื่องอีวีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยทดลองเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนในสนามบิน แต่หยุดไปช่วงโควิด ซึ่งสิงคโปร์เปิดกว้างด้านการลงทุน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็เป็นโอกาสทุกประเทศ
“ส่วนเมียนมาชะลอจากประเด็นการเมืองภายใน ต้องยอมรับว่าบางประเทศสุดท้าย ต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศเพื่อวางแผนการลงทุนให้เหมาะสม สิ่งสำคัญคือ โออาร์เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด ต้องดูแลเรื่องเงินลงทุนให้ดีที่สุด อะไรที่เป็นความเสี่ยง หรือยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะก็อาจต้องเวตแอนด์ซีไปก่อน ถึงเวลาหนึ่งก็อาจจะกลับมาก็ได้ เราก็ดูลักษณะดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”