ส่งออกไทย ก.ย. โต 7.8% ต่อเนื่องเดือนที่ 19 คาดทั้งปีโตเกินเป้า 4%

ส่งออกไทย

จุรินทร์เผยส่งออกกันยายน 2565 โต 7.8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 มีมูลค่า 24,919 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลมาจากการส่งออกรถยนต์ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารเติบโต ขณะที่คาดส่งออกทั้งปี 2565 โต 1 เท่าตัวจากเป้าหมาย 4% ขณะที่ส่งออก 9 เดือนโต 10.6%

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2565 มีมูลค่า 24,919.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 888,371 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19

การส่งออกขยายตัวไปได้ดี เป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ปัญหาชิปขาดแคลนผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่สินค้ากลุ่มเกษตร อาหารสัตว์เลี้ยงโตเพิ่มขึ้น และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผลักดันให้การส่งออกโต

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,772.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.6% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 853.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) การส่งออกมีมูลค่า 221,366.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.6% การนำเข้ามีมูลค่า 236,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.7% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 14,984.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

“การส่งออกจากนี้เชื่อว่าส่งออกไทยจะขยายตัวไปได้ดี คาดว่าทั้งปีจะโตมากกว่า 1 เท่าตัว จากเป้าหมายที่วางไว้ 4% และมั่นใจว่าจาก 3 เดือนนี้ การส่งออกจะเป็นไปในทิศทางที่ดี ส่งออกก็ยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเชื่อว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยโตได้ดี โดยเฉพาะข้าว ส่วนมาตรการผ่อนคลายโควิดของจีน จากนี้มองว่าจะผ่อนคลายมากขึ้น”

สำหรับการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัว 82.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้

อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 19.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา ข้าว ขยายตัว 2.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ขยายตัวในตลาดอิรัก เบนิน แองโกลา แคเมอรูน และแคนาดา

ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว 7.7% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินเดีย บราซิล และสเปน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี และแคนาดา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 5.6% หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 13.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขยายตัว 18.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไอร์แลนด์ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 8.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 89.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน ขยายตัว ในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐ ฮ่องกง อินเดีย และเยอรมนี

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 10.4% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน หดตัวในตลาดจีน อินเดีย ญี่ปุ่น กัมพูชา และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สิงคโปร์ เมียนมา ลาว และแอฟริกาใต้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 14.0% หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่ายังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย ทั้งปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่เริ่มคลี่คลาย และปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อันเกิดจากสถานการณ์เงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป