ท่องเที่ยวคึกคัก ต่างชาติแห่เข้าไทย ดันยอดใช้น้ำมัน 9 เดือน เพิ่มขึ้น 15%

นักท่องเที่ยว

พลังงานเผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 9 เดือน มกราคม-กันยายน 2565 อยู่ที่ 150.24 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม-กันยายน 2565 อยู่ที่ 150.24 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.5 โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.0 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และการใช้ NGV เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ขณะที่น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 8.1

นันธิกา ทังสุพานิช
นันธิกา ทังสุพานิช

ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ประกอบกับมีการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องส่งผลให้สามารถผ่อนปรนมาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-กันยายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.92 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.4 สำหรับการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.01 ล้านลิตร/วัน 15.91 ล้านลิตร/วัน และ 0.92 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 5.54 ล้านลิตร/วัน และ 0.53 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-กันยายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 72.41 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.5 การใช้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30-35 บาท/ลิตร ของมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวนสูง

รวมทั้งปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากภาคไฟฟ้า สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63.70 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.93 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 2.58 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.19 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม-กันยายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.94 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 84.0 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

การใช้ LPG เดือนมกราคม-กันยายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 18.05 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.9 เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคขนส่งอยู่ที่ 2.16 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 ภาคปิโตรเคมีอยู่ที่ 8.13 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.04 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 5.72 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4

การใช้ NGV เดือนมกราคม-กันยายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.5 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 พบว่ายังคงทรงตัวในระดับเดิม

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-กันยายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,034,357 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.2 เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 964,658 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 111,107 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.8 สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 69,699 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.8 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,909 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-กันยายน 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 164,808 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 36.8 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 21,296 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0