ททท.โหม “ไทยเที่ยวไทย” เร่งปลุกไฮซีซั่น ดันโมเมนตัมปี’66

ปัจจัยท่องเที่ยว

ปี 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีเป้าหมายคนไทยเที่ยวในประเทศจำนวน 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้กว่า 6.5 แสนล้านบาท

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2565) พบว่า จำนวนคนไทยที่เดินทางภายในประเทศ (นักท่องเที่ยว+นักทัศนาจร) รวม 177 ล้านคน-ครั้ง

9 เดือนรายได้ 6.4 แสนล้าน

จำนวนดังกล่าวแบ่งเป็น นักท่องเที่ยวจำนวน 105 ล้านคน-ครั้ง และนักทัศนาจร จำนวน 72 ล้านคน-ครั้ง (1 คน เดินทางมากกว่า 1 ครั้ง สร้างรายได้รวมประมาณ 6.4 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่ดีกว่าเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพรวมและโครงสร้างของตลาดภายในประเทศแบ่งย่อยเซ็กเมนต์มากขึ้น โดยตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงหลังโควิด ประกอบด้วย กลุ่มคู่รัก (36%) กลุ่มเที่ยวกับเพื่อน (18%) กลุ่มครอบครัว (10%) กลุ่มเดินทางคนเดียว (9.5%) กลุ่มมิลเลนเนียล หรือครอบครัวยุคใหม่พาลูกเที่ยว (9%) กลุ่มเดินทางเอง หรือ solo travel (8%) และกลุ่มผู้หญิง หรือ power woman (5%)

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.ท่องเที่ยวคือชีวิต เป็นกลุ่มที่เดินทางเป็นประจำ 2.เที่ยวใกล้เที่ยวบ่อย ซึ่งนิยมเดินทางโดยรถส่วนตัว 3.เที่ยวธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นที่นิยมของกลุ่ม solo travel 4.เที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย หรือ workation work from anywhere สอดรับแผนการขับเคลื่อนเมืองไทยสู่ workation paradise และ 5.เที่ยวเท่าที่จำเป็น

มั่นใจ Q4 ปัจจัยบวกแรง

“ฐาปนีย์” บอกว่า สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศขณะนี้อยู่ในภาวะที่ต้องช่วงชิงตลาดกับต่างประเทศ โดยประเทศต่าง ๆ ได้ทุ่มการตลาดเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวคนไทยกลุ่มที่มีกำลังซื้อออกไปเที่ยวประเทศของเขาเช่นกัน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าตลาดในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ในช่วงไตรมาส 4 นี้จะมีอัตราการขยายตัวได้สูง เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายด้าน อาทิ 1.เข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าจะหนาวนานซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวหน้าหนาว โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)

2.มีการจัดงานในระดับที่เป็นระดับอินเตอร์จำนวนมาก ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ 3.มีวันหยุดเทศกาลและวันหยุดพิเศษจำนวนมาก และ 4.มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่จะออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอว่าหลังจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” สิ้นสุดสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะมีการขยายโครงการดังกล่าวต่ออีกหรือไม่

ตาราง ปัจจัยการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้ก็มีปัจจัยลบด้วยเช่นกัน เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลให้สินค้าปรับขึ้นราคา เช่น อาหาร น้ำมัน ฯลฯ อาจจะเป็นอุปสรรคในการเดินทาง รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด เป็นต้น (ดูกราฟิกประกอบ)

อัตราเข้าพักเมืองหลัก 70%

รองผู้ว่าการตลาดในประเทศบอกด้วยว่า ททท.ยังคงเชื่อมั่นว่าสถานการณ์โดยรวมจะเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2565 นี้เป็นต้นไป โดยขณะนี้มียอดการจองโรงแรม ที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวหลักเข้ามาประมาณ 72% แล้ว เช่น ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, ราชบุรี, กาญจนบุรี รวมถึงกรุงเทพฯ

เช่นเดียวกับแนวโน้มการจองตั๋วโดยสารเครื่องบินสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต, กระบี่, เชียงใหม่, เชียงราย, อุดรธานี, อุบลราชธานี, สุโขทัย เป็นต้น โดยข้อมูลจากสายการบินต่าง ๆ พบว่า ขณะนี้ (ณ 15 ตุลาคม 2565) มียอดการจองล่วงหน้าแล้วประมาณ 80%

“น้ำท่วม” กระทบสั้น

พร้อมระบุว่า จากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาสายการบินให้ข้อมูลว่ามีผู้โดยสารขอยกเลิกการเดินทางประมาณ 5% ส่วนของโรงแรม ที่พักนั้นได้รับรายงานว่ามีอัตราการยกเลิกประมาณ 10% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงนัก จึงมั่นใจว่าปลายเดือนนี้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศจะกลับมาอยู่ที่ประมาณ 40-50%

โดย ททท.ตั้งเป้าว่าในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ เมืองท่องเที่ยวหลักจะมีอัตราการเข้าพักไม่ต่ำกว่า 70% และทำให้ตลอดทั้งปีนี้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศที่ประมาณ 50-55%

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีจำนวนคนไทยเที่ยวในประเทศเดือนตุลาคม 14 ล้านคน-ครั้ง พฤศจิกายน จำนวน 13 ล้านคน-ครั้ง และธันวาคม จำนวน 16-17 ล้านคน และทำให้ตลาดภายในประเทศปีนี้เกินเป้าหมาย 160 ล้านคน-ครั้ง

“มั่นใจว่าสำหรับปีนี้น่าจะบรรลุเป้าหมาย ทั้งในด้านจำนวนและรายได้ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนต้องรอประเมินสถานการณ์ในเดือนพฤศจิกายนนี้อีกครั้ง”

คิกออฟแคมเปญปี’66 ธ.ค.

สำหรับแผนการขับเคลื่อนและกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดในช่วงปลาย 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 นั้น “ฐาปนีย์” บอกว่า ทางสำนักงาน ททท.ทั่วประเทศจะเน้นกลยุทธ์ด้านความเชื่อมั่น โดยใช้มาตรฐาน SHA เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันก็ยังมีแคมเปญส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย แคมเปญใหญ่สำหรับคิกออฟเปิดท่องเที่ยวปี 2566 ซึ่งมีแผนเปิดตัวในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 นี้

นอกจากนี้ ยังมีแผนส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์และสอดรับรับ happy model ร่วมกับหอการค้าไทยปั้นชุมชนธรรมน่าเที่ยว รวมถึงต่อยอดโครงการ Unseen New Chapter โดยเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวอันซีนที่ตอบโจทย์เรื่อง BCG อีก 25 แห่ง และขับเคลื่อนโครงการ Thailand Festival Experience ต่อเนื่อง ด้วยการสร้างเฟสติวัลที่ตอบโจทย์ความสุข

ไม่เพียงเท่านี้เครื่องมือสำคัญอีกตัวหนึ่งคือ การทำกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางในรูปแบบเซลส์โปรโมชั่น ในลักษณะเดียวกับโครงการบัสทัวร์ทั่วไทย และลดทั่วฟ้าบินทั่วไทย ที่ดำเนินการไปแล้ว

มุ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป

สำหรับเป้าหมายปี 2566 นั้น รองผู้ว่าการตลาดในประเทศ ททท. บอกว่า ยังคงต้องรอฝ่ายแผนสรุปอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้กำหนดนโยบายและเป้าหมายมีรายได้รวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้ที่ 80% ของปี 2562 หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท (best case) โดยมีเป้าหมายรายได้จากตลาดในประเทศที่ 8.8 แสนล้านบาท

หรือในกรณีปกติ (normal case) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะมีรายได้รวม 1.7-1.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดในประเทศประมาณ 7.6 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนของตลาดในประเทศนั้นเชื่อมั่นว่าจะอยู่ในกรณี best case หรือมีรายได้ต่ำกว่า 8.8 แสนล้านได้แน่นอน


ที่สำคัญ ททท.มีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องการเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปของคนไทย จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 2,800 บาทให้ได้ถึง 4,000 ล้านบาท