10 ปี กองทุน FTA 1,189 ล้านบาท เยียวยา “ใคร” ไปบ้าง?

ปี 2560 จะครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้ง “กองทุน FTA” 2 กองทุน ทั้งในส่วนของกองทุนเอฟทีเอกระทรวงพาณิชย์ หรือชื่อทางการคือ “โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า” และในส่วนของ “กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ซึ่งดำเนินโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง 2 กองทุนนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ เพราะในขณะนี้ หลายภาคส่วนกังวลว่าหากมีการเปิดเสรีลดภาษีนำเข้าเป็น 0% จะเป็นเหตุให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าทะลักเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศ ทั้งยังอาจจะทำให้สินค้าไทยที่ยังมีความอ่อนแอไม่พร้อมจะออกไปสู้ในตลาดต่างประเทศได้รับผลกระทบดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้มีการตั้งกองทุนขึ้นมา

แต่ความแตกต่างของทั้ง 2 กองทุน คือ เดิมในส่วนกองทุน FTA กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร โดยมีคณะกรรมการบริหารให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติเงินทุนได้ปรับให้อำนาจเลขาธิการ หรือ สศก.เป็นผู้ดูแลทั้งหมด แต่ละปีได้งบประมาณจากภาครัฐประมาณ 50-100 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบสามารถยื่นโครงการขอกู้เงินเข้ามาได้

ขณะที่กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการผ่านคณะกรรมการบริหารโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรมการค้าต่างประเทศเป็นฝ่ายเลขานุการโดยจะต้องยื่นเสนอโครงการเข้าผ่านกลุ่ม/สมาคม/สหกรณ์ และขอเงินเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยหรือพัฒนาองค์ความรู้ ไม่ใช่ขอเป็นรูป “ตัวเงิน”

โดยสินค้าเป้าหมายจะมีทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ แต่สินค้าเกษตรจะมุ่งเน้นเรื่องการทำตลาดมากกว่าการผลิต โดยแต่ละปีจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเป็นรายปีเช่นเดียวกับกระทรวงเกษตร

10 ปีไฟเขียว 74 โครงการ

ล่าสุดขณะนี้กองทุน FTA ทั้งสองกองทุนให้ความช่วยเหลือรวม 74 โครงการ วงเงิน 1,189 ล้านบาท โดยในส่วนของกองทุน FTA กระทรวงเกษตรช่วยเหลือไปแล้ว 25 โครงการ จำนวน 10 ชนิดสินค้า อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ชา มะพร้าว พริกไทย พืชผัก โคนม โคเนื้อ และสุกร จำนวน 798.07 ล้านบาท เกษตรกร 1 แสนราย และอยู่ระหว่างพิจารณาอีก 9 โครงการ ปีงบประมาณ 2560-2561 จำนวน 500 ล้านบาท

ขณะที่กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ ช่วยเหลือไปแล้ว 49 โครงการวงเงินรวมกว่า 400 ล้านบาท โดยล่าสุดในปี 2560 มีจำนวน 7 โครงการ วงเงินที่ให้การสนับสนุนรวม 16.27 ล้านบาท ในสินค้าต่าง ๆ สินค้ากระเทียมไทย หอมแดงไทย และหอมหัวใหญ่ 3.5 ล้านบาท, ธุรกิจผู้ให้บริการขนส่ง (เฟส 3) 3 ล้านบาท, เครื่องสำอางสมุนไพรไทย 4 ล้านบาท, สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด 9.9 แสนบาท, ผลิตภัณฑ์นม 1,456,000 บาท, โคเนื้อโพนยางคำ 928,500 บาท และธุรกิจโรงแรมระดับ 3 ดาว ในเขตจังหวัดชายแดนไทย-ลาว (จังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) 2,418,750 บาท ส่วนโครงการที่จะเสนอขอรับความช่วยเหลือฯ สำหรับปีงบประมาณ 2561 คาดว่าเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเงินให้ความเห็นชอบได้ภายในเดือนกันยายนนี้

กองทุน FTA ช่วยปรับตัวได้

ด้าน นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การดำเนินการของกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้า และการส่งออกได้มาก เช่น กลุ่มสินค้าโพนยางคำ กระเทียม ส้ม และสินค้าอื่น ๆอีกมากมาย เนื่องจากกองทุนฯไม่ได้จำกัดกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเพียงอย่างเดียว แต่เน้นกระจายให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาสินค้าเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา (2559) กรมได้ปรับปรุงโดยกำหนดกรอบระยะเวลาให้ผู้ที่จะเสนอโครงการเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ทันการพิจารณาในแต่ละปีงบประมาณ ส่วนหลักเกณฑ์อื่นยังเป็นไปตามเดิม โดยยังมุ่งเน้นพิจารณาช่วยเหลือโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการ และให้เกิดความคุ้มค่าจากการใช้เม็ดเงิน

พร้อมกันนี้ ยังมีการติดตามผลการดำเนินงานภายใต้กองทุนด้วย โดยล่าสุด นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศได้นำคณะลงพื้นที่ ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2560 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานภายใต้กองทุนเอฟทีเอใน จ.สกลนคร 4 โครงการ เช่น โคเนื้อโพนยางคำ, ธุรกิจโรงแรมระดับ 3 ดาวในเขตจังหวัดชายแดนไทย-ลาว (จังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) สินค้าหัตถกรรมสิ่งทอ (Crafts Textile Estate) พบว่า ทั้งหมดได้เตรียมความพร้อมและพัฒนารูปแบบการผลิต ขบวนการผลิตเพื่อการแข่งขันได้เป็นอย่างดี

ปีที่ 11 ออกพ.ร.บ.ใหม่คุมเข้ม

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยเตรียมออกประกาศกองทุน FTA ภายใต้ พ.ร.บ.เงินทุนหมุนเวียน ฉบับใหม่ กรมบัญชีกลาง ซึ่งทาง สศก.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลกองทุนนี้ จากเดิมมีคณะกรรมการบริหารให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติเงินทุนได้ปรับให้อำนาจเลขาธิการ หรือ สศก.เป็นผู้ดูแลทั้งหมด และจะมีการปรับปรุงกฎระเบียบ อำนาจหน้าที่คณะกรรมการใหม่ และจะมีคณะอนุกรรมการประเมินผล

“สศก. จะเน้นพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีศักยภาพ สามารถใช้ทุนคืนงบประมาณแผ่นดินตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรนำไปพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่องปีต่อปี อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่จัดตั้งเกษตรกรมีความสามารถในการใช้คืนเงินกู้ ต่อจากนี้จะร่วมกับกรมบัญชีกลางไปตรวจรับรองและเร่งรัดการใช้จ่ายคืน เราต้องใช้เงินงบประมาณส่งเงินคืนแผ่นดิน ไม่ใช่ให้เปล่า ดังนั้น ต้องเป็นโครงการที่เหมาะสมและผู้เสนอโครงการต้องมีศักยภาพในการชำระคืนด้วย”

เอกชนชี้เปิดช่องเงินทอน


นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากองทุนเอฟทีเอฯ ยังมีปัญหาเรื่องวิธีการนำไปใช้ยังไม่รัดกุม ทำให้ผลประโยชน์มักจะตกอยู่กับนักวิชาการที่มีความสามารถในการเขียนโครงการเพื่อมาขอเงินกองทุนฯ แต่ไม่ได้ไปถึงประชาชน/เกษตรกร/ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจริง ๆ ทั้งยังขาดวิธีการประเมินผลลัพธ์จากการใช้เงินกองทุนว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด นำเงินไปใช้ทำอะไร สามารถช่วยเหลือสินค้าใดได้บ้าง เมื่อไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจังกลายเป็นการเปิดช่องให้มีผู้อ้างตัวเองว่าได้รับผลกระทบเพื่อมาขอเงินกองทุนแทนผู้เสียหาย เพื่อรับประโยชน์จากเงินทอนที่ได้รับจากโครงการ ดังนั้น รัฐบาลควรปรับปรุงเรื่องนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น