กระแสต้านอียูเริ่มลุกลาม!”ประมง”สุดทน คว่ำบาตรสินค้าอียู บีบรัฐจับแลกใบเขียว

กระแสต้านอียูเริ่มลุกลาม ประชุมสัญจรของสมาคมการประมงที่ชุมพร รณรงค์ให้คนไทยเลิกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ล่าสุด บีบไทยจับหนักขึ้นแลกใบเขียว ชี้ที่ผ่านมาแทรกแซงอำนาจการบริหาร ตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติให้ออกกฎหมายเข้มงวดหนักทั้ง พ.ร.ก.การประมง กฎหมายเดินเรือในน่านน้ำไทย และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

รายงานข่าวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมสัญจรของผู้บริหารสมาคมและชาวประมงทั่วประเทศที่จังหวัดชุมพร นำโดย นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคม เมื่อวันที่ 22-23 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมลงมติให้ชาวประมงไทยและลูกเรือประมงเลิกซื้อสินค้าจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และช่วยกันรณรงค์ชักชวนคนไทยเลิกซื้อสินค้าจากอียู โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ได้แก่ นาฬิกา กระเป๋าหรู เครื่องสำอาง และรถยนต์ เนื่องจากที่ผ่านมา อียูมีการตั้งเงื่อนไขให้ฝ่ายบริหารของไทยออกกฎหมายหลายฉบับลงโทษที่รุนแรงต่อชาวประมงและธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้แรงงานต่างด้าวของไทย ทั้งการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง ฉบับที่ 2 เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ภาพรวมโทษรุนแรงขึ้น การบีบไทยให้ออกกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาท่าเทียบเรือหรือสะพานปลาที่ผิดกฎหมาย แต่กลับสร้างผลกระทบวงกว้าง และการแทรกแซงให้ไทยออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจหลายประเภทในไทย

“ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย ทั้งอำนาจของฝ่ายบริหาร ตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ผ่านมาเจ้าของเรือประมงแทบกระดิกตัวไม่ได้จากกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น องค์ประกอบความผิดไม่ครบ อัยการไม่สามารถสั่งฟ้องได้ ก็ถูกบีบให้สั่งย้ายอัยการ” นายมงคล สุขเจริญคณา กล่าว

ทางด้าน นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการร้องเรียนของชาวประมงว่า กฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 สร้างปัญหากับชาวประมงมาก แค่ทำผิดเล็กน้อยมีโทษถึงขั้นยึดเรือ ถือเป็นการเขียนกฎหมายแบบครอบจักรวาล เพราะการทำประมงผิดกฎหมายตามหลักสากล คือ การกระทำต่อทรัพยากร แต่การยึดทรัพย์ของชาวประมงถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมนั้น ประเด็นดังกล่าวว่าตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในมาตรา 169 ที่กำหนดให้เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เรือประมง หรือสิ่งอื่นใด ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้ให้ริบเสียทั้งสิ้นนั้น มีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลกระทบมากต่อชาวประมง ผู้ซึ่งอาจจะกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยไม่ได้ตั้งใจหรืออาจเป็นความผิดเล็กน้อย

ดังนั้นจึงได้มีการเสนอปรับแก้ไขพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 169 ซึ่งได้มีการประกาศใช้เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยปรับเปลี่ยนหลักการให้การริบของกลางตามกฎหมายประมง ได้แก่ เรือประมง เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ จะกระทำได้เฉพาะกรณีความผิดร้ายแรงตามกำหนดไว้ในพระราชกำหนดการประมงเท่านั้น มิใช่ริบของกลางตามความผิดทั้งหมดตามที่กำหนดไว้เช่นเดิม ซึ่งทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยไม่ทำให้มาตรการป้องกันการทำการประมงผิดกฎหมายได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ หลักกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจในการริบเรือประมงของกลาง ซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นั้น มีหลักทั่วไปว่า การริบเรือนั้นเป็นอำนาจศาล และกำหนดให้ริบทรัพย์สินบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยกระทำความผิดเท่านั้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานถึงผลสรุประหว่างไทย-อียู ที่เดินทางมาตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ในไทยครั้งล่าสุดนี้ว่า 1.อียูพอใจไทยที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ถือเป็นกฎหมายที่เข้มงวดมากที่สุด เพราะได้แก้ไขช่องโหว่ของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ปี 2558 จนเสร็จสมบูรณ์ 2.อียูพอใจไทยที่สามารถให้ภาพกองเรือที่ชัดเจนขึ้น และสามารถลดจำนวนเรือที่อยู่ในกลุ่ม “สีเทา” ลงได้เหลือ 1,336 ลำ ซึ่งยังต้องสำรวจต่อไปว่าเรือเหล่านี้อยู่ที่ใด 3.อียูพอใจการทำงานของศูนย์เฝ้าระวังการทำประมง (FMC) มีพัฒนาระบบการทำงานดีขึ้นมาก สามารถติดตามเรือประมงได้อย่าง Real Time มากขึ้น

4.สิ่งที่อียูกังวลคือประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ แม้มีกลไกทุกอย่างพร้อม แต่การบังคับใช้กฎหมายและการใช้กลไกที่มีประสิทธิภาพยังอ่อนแอ เพราะขาดขีดความสามารถในการวิเคราะห์และตรวจจับพฤติกรรมของเรือ รวมถึงขาดความเด็ดขาดในการใช้กฎหมาย 5.ประเด็นเทคนิคที่ยังต้องหารือกับอียูในการตรวจสอบย้อนกลับและการเฝ้าระวังเรือขนถ่ายทั้งเรือไทยและเรือต่างประเทศในเส้นทางขนส่งทูน่าและการนำทูน่าขึ้นท่าไทย ต้องมีการตรวจสอบเข้มข้น 6.อียูกังวลต่อ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่ระบุโทษอาญาและโทษปรับสูง อียูเห็นว่าแรงงานต่างด้าวเป็น “เหยื่อ” และควรได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแทนถูกลงโทษ ควรทบทวนพิจารณาแก้ไข

7.อียูหวังให้ไทยเป็นหุ้นส่วนในการส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาสมุทร เพราะไทยมีศักยภาพสูงทางทะเล และหวังจะให้ไทยเป็นแบบอย่างในการอ้างอิงของความสำเร็จ 8.อียูจะมาประเมินไทยอีกครั้งต้นปีหน้า ดังนั้น อียูหวังเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด โดยเฉพาะเรือที่ทำความผิดด้วยมาตรการที่รุนแรงเพื่อให้เกิดการป้องปราม และตรวจจับกรณีใหญ่ ๆ หากไทยทำได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าไทยจะได้รับการปลดใบเหลืองในช่วงการประเมินต้นปีหน้า