ฤดูหนาวยุโรปราคาก๊าซ LNG แพง ไทยบังคับประหยัดไฟ

ค่าไฟ

จับตาฤดูหนาวยุโรปดันราคาก๊าซ LNG โลกพุ่งแตะ 50 เหรียญ/ล้านบีทียู กพช.ขอเอกชน ห้าง ร้านค้า ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดพลังงานแบบสมัครใจ ชี้หากราคาสูงติดต่อ 2 สัปดาห์ รัฐพร้อมงัดมาตรการประหยัดไฟภาคบังคับทันที

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง รวมทั้งจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก

ทำให้เกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซล รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท จึงได้เห็นชอบมาตรการสมัครใจการขอความร่วมมือประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ สถานีบริการน้ำมัน ห้าง ร้านสะดวกซื้อ สถานประกอบการ ในการประหยัดพลังงาน ซึ่งระหว่างนี้ต้องจับตาสถานการณ์ช่วงฤดูหนาวของยุโรป

กุลิศ สมบัติศิริ
กุลิศ สมบัติศิริ

โดยหากราคาก๊าซ LNG เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 50 เหรียญต่อล้านบีทียูขึ้นไป กรณียาวนานต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 เหรียญต่อล้านบีทียู จะยกระดับการขอความร่วมมือโดยสมัครใจ เป็นมาตรการภาคบังคับทันที

สำหรับมาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่จะเป็นมาตรการบังคับนั้น ได้แก่ การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารให้สูงขึ้นจากปกติ 2 องศาเซลเซียส (27 องศาเซลเซียส) และปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น, การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณาขนาดใหญ่, การปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. (เปิดเวลา 05.00-23.00 น.), การกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง

เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง, การปิดระบบปรับอากาศก่อนห้างสรรพสินค้าปิด 30-60 นาที, การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงของโรงงานอุตสาหกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนการให้ข้อมูล/คำแนะนำและอาจสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนแก่โรงงานอุตสาหกรรม และ มาตรการประหยัดพลังงานอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์

“ตอนนี้ราคาก๊าซ LNG อยู่ที่ 29 เหรียญฯต่อล้านบีทียู ก็ถือว่าสูงมากแล้ว แต่หากราคาก๊าซ LNG สูงขึ้นตั้งแต่ 50 เหรียญต่อล้านบีทียูขึ้นไปต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ เราได้วางมาตรการบังคับไว้ดังข้างต้น และโดยขั้นตอน นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศใช้ทันที จะเห็นว่าหลายประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ดำเนินการแล้ว เราก็ยังคาดหวังว่าไทยจะไม่ได้ใช้มาตรการบังคับ

ดังนั้นก็ต้องดูสถานการณ์ใกล้ชิดโดยเฉพาะหน้าหนาวยุโรป ที่จะลากยาวไปถึงมีนาคม 2566 ระหว่างนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันทำงาน” นายกุลิศกล่าว

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จะเห็นว่าปัจจัยจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อราคาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ การที่รัสเซียตัดการส่งขายก๊าซธรรมชาติให้กับสหภาพยุโรป (EU) ทำให้อียูต้องหันมาแย่งซื้อ LNG ในตลาดเอเชียดันราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ราคา LNG ตลาดจรซื้อขายล่วงหน้าช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 50 เหรียญ/ล้านบีทียู

วัฒนพงษ์ คุโรวาท
วัฒนพงษ์ คุโรวาท

ซึ่งถือว่าสูงมาก ระหว่างนี้กระทรวงพลังงานจึงต้องวางมาตรการรองรับไว้ให้พร้อมในกรณีเลวร้ายหากถึง 50 เหรียญ/ล้านบีทียู ในช่วงเดือน ธ.ค. 65 ขณะที่การนำเข้า ปัจจุบัน ปตท.ยังนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวที่ 5.2 ล้านตัน/ปี เช่นเดิม แต่จำเป็นต้องเพิ่มการจัดหาแหล่งก๊าซและเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย

โดยมีทั้งการให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนก๊าซ LNG ที่ขณะนี้จะมีการนำเข้ามาสำรองไว้ให้มากขึ้น พร้อมทั้งจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศรวมทั้งแหล่งไทย-มาเลเซีย (JDA) ปริมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมไปถึงเร่งรัดผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะหน่วยที่ 8 ซื้อไฟระยะสั้นจากพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดค่าไฟประชาชนปี 2566 โดยเฉพาะค่าเอฟทีงวดแรก ม.ค.-เม.ย. 66 จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)