แผนพลังงานชาติ จ่อใช้ไตรมาส 2/66

วัฒนพงษ์ คุโรวาท
วัฒนพงษ์ คุโรวาท

สนพ.เปิด “Road Map” พลังงานไทยสู้วิกฤต เร่งเครื่องแผนพลังงานชาติ จ่อใช้ Q2/66

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมบรรยายพิเศษ “Road Map พลังงานไทย” ในงานสัมมนา “พลังงาน : วาระโลก-วาระประเทศไทย 2023” ที่จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ว่า ขณะนี้แผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 แผนย่อย คือ แผนด้านไฟฟ้า น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยแบบที่เรียกว่า focus group จากนั้นก็จะมีการปรับปรุงในรายละเอียดของแผนแล้ว คาดว่าจะเสร็จภายในไตรมาสนี้

หลังจากนั้นในไตรมาส 1 ปี 2566 ก็จะนำแผนที่เสร็จแผนย่อยมาประกอบร่างเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคาดว่าแผนพลังงานแห่งชาติจะสามารถนำไปใช้ได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2566

สำหรับการดำเนินการสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนจะมี 5 แนวทางหลัก คือ

  1. การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน
  2. การผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าแบบที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ
  4. การใช้พลังงานไฮโดรเจนซึ่งเป็นกรีนเทคโนโลยี
  5. การใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS)

ทั้ง 5 แนวทางเหล่านี้ถูกเขียนอยู่ในแนวทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ สหภาพยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สิงคโปร์

3 เช็กพอยต์

ในส่วนของไทยก็ได้มีเช็กพอยต์ 3 ด้าน สำคัญ คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น โดยก่อนที่จะมีการประชุม COP26 ไทยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% แต่ภายหลังจากการประชุม COP26 ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40%

ปี 2050 ให้มีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (carban neutrolity) ปี 2065 ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็น net zero

พลังงานต้องลดการปล่อยคาร์บอน

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการวางเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานขนส่งอุตสาหกรรมภาคเกษตร โดยเฉพาะภาคพลังงานเอง ซึ่งเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 70% คาดว่าไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2025 จากนั้นก็จะทยอยลดลงโดยในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 13% ปี 2040 จะลดลง 40% และปี 2050 จะลดลง 62%

ด้วยเหตุที่เราจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงได้มีการจัดทำ “แผนพลังงานแห่งชาติ” โดยหลังจากการประชุม COP26 ได้มีการกำหนดกรอบแนวทางแผนพลังงานแห่งชาติไว้ 4 แนวทาง คือ

  1. การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50%
  2. การเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 หมายถึงในปี 2030 จะมีการเปลี่ยนจากรถสันดาปมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า 30%
  3. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการผลิตพลังงานมากกว่า 30%
  4. การปรับโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบาย 4D1E (Digitalization, Decarbonization, Decentralization, Deregulation, Electrification)

Road Maps ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050

ซึ่งหลังจากที่กำหนดแนวทางแล้ว เราได้มีวาง road maps ปักหมุด สู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ประกอบด้วย

1.แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2037 จากเดิมปัจจุบันที่เราใช้แผน PDP 2018 (Rev.1) ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนไว้ที่ 20% และในปี 2030 ต้องมีพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 30% หลังจากปี 2030 ไปแล้วจะมีมากกว่า 50% และในระยะยาวจะมีมากกว่า 50% และจะต้องมีระบบการกักเก็บคาร์บอน (CCS) ซึ่งในรายละเอียดของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนจะมุ่งไปที่พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีทั้งโซลาร์ฟาร์มโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ลอยน้ำ

โดยอนาคตการใช้พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2030 จากนั้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 เมกะวัตต์ก่อนปี 2050 ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องความเสถียรของระบบการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะต้องมีการพัฒนาลงทุนในด้านระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) และระบบสายส่งกักเก็บพลังงาน (gride storage)

โดยปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีการพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากสถานีไฟฟ้าก่อน โดยในอนาคตระบบสายส่งนี้จะต้องพัฒนา ไปสู่บ้านเรือนที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในอนาคต ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากไฮโดรเจน จะเริ่มจาก blue hydrogen พัฒนาไปสู่ green hydrogen ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับระบบการกักเก็บคาร์บอน

2.ในส่วนของอีวีกำหนดว่าจะต้องเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดรถอีวีให้มากขึ้นกว่า 30% โดยเริ่มจากรถยนต์นั่ง รถบัส รถขนส่งขนาดใหญ่ และในปี 2030 เราจะต้องมีสถานีชาร์จสาธารณะ (public charge station) 12,000 สถานี โดยมองว่าในปี 2040 รถอีวีจะสามารถทดแทนรถจากเครื่องยนต์สันดาป หรือ ICE ได้ 100% นอกจากนี้การพัฒนาอีวีจะต้องมีการทำแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลและกำหนดนโยบายบริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีการมาชาร์จในตอนกลางคืนพร้อม ๆ กัน เป็นต้น

3.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการผลิตพลังงานเดิมกำหนดไว้ที่ 20% ได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% 35% และในระยะยาว 40% โดยจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ

4.ด้านโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าได้เปลี่ยนแปลงไปโดยมีการนำระบบสมาร์ทมิเตอร์เข้ามาใช้ ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจะต้องมีการลงทุนทำเรื่องสมาร์ทมิเตอร์ โดยในปี 2025 มีเป้าหมายว่ากลุ่มอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทมิเตอร์ทั้งหมด จากนั้นจะกระจายสู่กลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยต่อไป

3 หลักบริหารจัดการพลังงานอนาคต

ทั้งนี้ การบริหารจัดการพลังงานในอนาคตจะต้อง 1) มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพลังงานสะอาด 2) การปรับตลาดพลังงานไฟฟ้าให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันเสรีมีการปรับโครงสร้างค่าไฟ ซึ่งจะมีการแข่งขันและมีผลต่อค่าไฟในอนาคต 3) ตลอดจนกฎระเบียบของภาครัฐจะต้องมีการปรับปรุงจะต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าในการพัฒนาโครงสร้างไฟฟ้านั้น ในปัจจุบันส่วนโครงสร้างพื้นฐานมีการลงทุนสมาร์ทกริดประเทศไทยได้มีการประกาศแผนแม่บทดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดไปแล้ว แผนนี้จะทำให้ประเทศได้มีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบสายส่ง ซึ่งจะเห็นว่าจะมีทั้งการทำ hurd modernization, grid digital ization

ขณะที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องของตลาดกฎระเบียบและราคาพลังงาน กล่าวคือปัจจุบันไทยจัดหาพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานตลาดพลังงานเป็นตลาดซิงเกิลมาร์เก็ตเบส แต่ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจใหม่เข้ามามากขึ้น จากการที่เกิดผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า prosumer จำนวนมากขึ้นในอนาคต