พลังงานเตรียม ของขวัญปีใหม่ ลั่นงัดทุกวิธีช่วยตรึงค่าไฟ 4.72 บาทยาวถึง Q2/66

ค่าไฟ

“พลังงาน” เตรียม “ของขวัญปีใหม่” ชง กพช.เดือนหน้า ยืดมาตรการช่วยค่าไฟผู้ใช้รายย่อย 17 ล้านคน ปลัดกุลิศ ลั่นงัดทุกวิธีตรึงค่าไฟ 4.72 บาท/หน่วยยาวถึงไตรมาส 2/66 พร้อมส่งเสริมประหยัดพลังงาน

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนาฝ่าวิกฤตพลังงานโลกทางรอดพลังงานไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า กระทรวงอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานให้กับประชาชนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 เบื้องต้นคาดว่าจะยังคงใช้มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟรายย่อยขนาด 300-500 หน่วยซึ่งมี 17 ล้านคนทั่วประเทศ และจะมีการขยายมาตรการใหม่เพิ่มด้วย

กุลิศ สมบัติศิริ
กุลิศ สมบัติศิริ

ในส่วนของการดูแลค่าไฟฟ้า เท่าที่ทราบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่งสัญญาณว่าจะมีการตรึงอัตราค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/ต่อหน่วยไปจนถึงไตรมาสสองของปี 2566 หรือในช่วงของการคำนวนค่าเอฟทีงวดแรกของปี 2566 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน

“กระทรวงพลังงานจะทำทุกวิธีที่ทำให้ค่าไฟคงอยู่ในระดับ 4.72 บาทเหมือนปัจจุบัน ตอนนี้ต้นทุนราคาแอลเอ็นจีเฉลี่ยที่ประมาณ 34 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งจากการคำนวณหากราคาแอลจีขยับขึ้นไปถึง 50-55 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จัดส่งผลให้ราคาค่าไฟปรับขึ้นจาก 4.72 บาท เป็น 7 บาท ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันผลิตพลังงานไฟฟ้าแทนจึงคุ้มค่ากว่าหากราคาน้ำมันอยู่ที่ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล”

นายกุลิศกล่าวว่า กระทรวงวางแนวทางที่จะดำเนินการในไตรมาส 4 จนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า เพื่อให้ค่าไฟคงที่ประกอบด้วยหนึ่งการปรับเปลี่ยนใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า โดยขณะนี้ได้ประสานกับโรงไฟฟ้า ภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนน้ำมัน 250-300 ล้านบาร์เรล/เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ได้ช่วยลดการนำเข้าแอลเอ็นจี คิดเป็นปริมาณเท่ากับเรือขนาด 60,000 ตัน จำนวน 5 ลำ ซึ่งหากราคาแอลเอ็นจียังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เราจะไม่มีการนำเข้าในเดือนพฤศจิกาธันวาคมนี้

2.การยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะโรงที่ 8 ต่อไปอีก 2 ปี ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 300 เมกะวัตต์ ไม่เพียงเท่านั้นยังอยู่ระหว่างการขยายการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ โรงที่ 4 ซึ่งได้หมดอายุการใช้งานไปแล้วให้กลับมาใช้งานได้ใหม่ โดยอยู่ระหว่างกระบวนการขอ EIA คาดว่าจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์ภายในปีนี้

3.การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศโดยเฉพาะการฟื้นฟูการผลิตในแหล่งเอราวัณรวมถึงแหล่งอื่น ๆ เช่น ซอติก้า ยาดานา ตลอดจนการหาแหล่งนำเข้า เช่นแหล่งเอ็มทีเจเอ ซึ่งเป็นแรงระหว่างมาเลเซียและไทย

4.การซื้อไฟฟ้าพลังงานจากประเทศ สปป.ลาว เพิ่มมากขึ้น 30% โดยให้ราคาเพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิม เพราะประเมินแล้วว่าแม้ราคาที่ซื้อได้เพิ่ม แต่มีความคุ้มค่า

5.การเพิ่มปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาไทยมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 275% และในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้มียอดจำหน่ายครึ่งคูณ 223% มีจำนวนการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากหลักพันคัน เป็นกว่า 13,000 คัน นอกจากนี้ในส่วนของ 3 การไฟฟ้า และ ปตท.ยังได้ร่วมกันจัดทำแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สถานีชาร์จระหว่างกัน

6.การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นจาก 2,700 เมกะวัตต์เป็น 10,000 เมกะวัตต์ จากภาพรวมแผน 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะบรรจุอยู่ในแผนพลังงานแห่งชาติโดยในจำนวนนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ 6,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้พลังงานลมเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 1500 เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับปัจจัยที่จะขับเคลื่อนนโยบายพลังงานของประเทศไทจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงานรองรับการใช้พลังงานสะอาด สมาร์ทกริด มีระบบการกักเก็บคาร์บอน (CCS) มีระบบการกักเก็บคาร์บอนเพื่อใช้ประโยชน์ (CCUS) กรันไฮโดรเจน รวมถึงการวางระบบและพัฒนาคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์พลังงาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการประหยัดพลังงาน เพราะหากคนไทยประหยัดพลังงาน 20% จะช่วยประหยัดเงินให้กับประเทศชาติได้เป็นแสนล้าน เพราะปัจจุบันไทยมีการนำเข้าพลังงานมากกว่า 92% และผลิตได้เองเพียง 3% ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น