ซีอีโอ ปตท.ชูธง 5 ธุรกิจใหม่ หัวหอกลงทุนขับเคลื่อนประเทศ

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของปัญหาวิกฤตพลังงานทั่วโลก “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำทีมผู้บริหารกลุ่ม ปตท. และคณะสื่อมวลชนอาวุโส เดินทางศึกษาดูงาน FUTURE ENERGY รองรับวิสัยทัศน์ใหม่ ปตท. และการจัดการด้านความยั่งยืน ณ ประเทศฝรั่งเศส

ทั้งในส่วนของธุรกิจพลังงานไฮโดรเจน จากบริษัท Air Liquide ธุรกิจยาจากบริษัท Adalvo และเทคโนโลยีชีวภาพจาก Biovally France รวมถึงโซลูชั่นจัดการพลังงานไฟฟ้าจาก Schneider Electric

เหล่านี้ล้วนเป็นทิศทางแห่งอนาคตที่กลุ่ม ปตท.ให้ความสนใจ

เพราะเมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในยุคที่โลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและพลังงานสะอาด

ซีอีโอ ปตท.มองอนาคตพลังงาน

“อรรถพล” กล่าวว่า พลังงานฟอสซิลอย่าง “ถ่านหิน” ผ่านจุดพีกไปแล้ว จากนี้ไปมีแต่ลดลง ส่วน “น้ำมัน” คาดว่าจะยังมีการเติบโตอีก 10 ปีข้างหน้า และตั้งแต่ปี 2032 จะเริ่มใช้น้อยลง

ส่วน “ก๊าซธรรมชาติ” อนาคตไปได้อีกไกล เพราะก๊าซเป็นฟอสซิลที่สะอาดที่สุด และประเทศไทยก็มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปเยอะ ทั้งท่อก๊าซ ท่าเรือ และโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเยอะมาก

เรียกว่าก๊าซธรรมชาติเป็น “เชื้อเพลิงช่วงเปลี่ยนผ่าน” ก่อนที่จะไปพลังงานทดแทนแบบเต็มที่

ซีอีโอ ปตท.สรุปว่า สำหรับมุมมองทิศทางพลังงานในอนาคต ขอให้สองคำคือ go green คือการไปสู่เชื้อเพลิงที่สะอาดมากขึ้น และ go electric หมายถึงรูปแบบพลังงานขั้นสุดท้ายจะใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น รถยนต์ที่ใช้น้ำมันก็จะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ ปตท.ระบุว่า พลังงานไฟฟ้าแม้ว่าเวลาใช้จะสะอาด แต่ถ้าไฟฟ้าผลิตจากถ่านหิน ก็ไม่ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด จะเป็นพลังงานสะอาดทั้งแวลูเชน ต้นทางต้องผลิตมาจากพลังงานทดแทน

ส่งสัญญาณผ่านวิสัยทัศน์ใหม่

สำหรับทิศทางธุรกิจพลังงานของ ปตท. ก็ชัดเจนว่าต้องลดฟอสซิส โดยเลิกธุรกิจถ่านหิน ส่วนธุรกิจน้ำมันก็รักษาระดับคงที่ ขณะที่ก๊าซก็เติบโตต่อ ด้วยเป้าหมายเป็น Regional LNG Hub

อย่างไรก็ตาม ทิศทางพลังงานยังไม่มีความแน่นอน ปตท.ต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงาน จึงได้ส่งสัญญาณชัดเจนด้วยการประกาศวิสัยทัศน์ใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา เป็น Powering Life with Future Energy and Beyond

ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และธุรกิจใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในธุรกิจพลังงานอีกต่อไป

ชู 4 ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต

“อรรถพล” ฉายภาพของ future energy ที่กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญ มี 4 ตัวคือ 1.พลังงานทดแทน มุ่งขยายการลงทุนทั้งในโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 12,000 เมกะวัตต์ ตอนนี้มีอยู่ในกระเป๋าประมาณ 2,000 เมกะวัตต์

2.EV value chain ตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ทำหน้าที่ขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่การร่วมทุนกับฟ็อกซ์คอนน์ ตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด เพื่อสร้างฐานการผลิต EV ในไทย และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลาง EV ของภูมิภาค ในลักษณะของการเป็นโออีเอ็ม

บริษัท นูออโว พลัส จำกัด เป็นการร่วมทุนกับ GPSC ลงทุนด้านแบตเตอรี่ สนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่

นอกจากนี้ยังมีแผนจับมือกับพันธมิตรขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกับของโออาร์ ที่จะเป็นการเปิดสถานีชาร์จในปั๊มน้ำมัน

รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์ม EV me เช่าใช้รถอีวี ปัจจุบันหลายคนอยากขับอีวี แต่ยังไม่กล้าซื้อ ก็สามารถมาทดลองเช่าใช้ก่อนตัดสินใจ มีทุกยี่ห้อ

3.energy storage & system related ที่มีบริษัท GPSC เป็นหัวหอก ลงทุนเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และได้เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid ที่ระยอง

และ 4.พลังงานไฮโดรเจน เป็นอีกหนึ่งพลังงานแห่งอนาคตที่ ปตท.สนใจ ล่าสุดได้ร่วมกับโออาร์ โตโยต้า และบีไอจี เปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ FCEV แห่งแรกของประเทศไทย โดยโตโยต้านำรถรุ่น Mirai มาทดสอบใช้งานในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา-ชลบุรี

5 ธุรกิจใหม่นอกวัฏจักรพลังงาน

สำหรับธุรกิจใหม่ของ ปตท. ที่ออกนอกธุรกิจพลังงาน ซีอีโอ ปตท.กล่าวว่า ยึดหลัก New S-curve จากนโยบายของประเทศมาเป็นตัวตั้งต้นในการขยายธุรกิจใหม่ ๆ โดย ปตท.ก็เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เริ่มจาก life science โดยมี บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนหลัก เน้นการลงทุนธุรกิจยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงการตั้งโรงงานแพลนต์เบส

โดยขณะนี้ ปตท.ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 37% ในบริษัท Lotus Phamaceutical บริษัทผู้ผลิตยาในไต้หวัน และได้เข้าถือหุ้นในบริษัท Adalvo เป็นบริษัทที่ซื้อสิทธิบัตรยาจากทั่วโลก

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการแพทย์ต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและพัฒนา อาทิ ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม สร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนางานวิจัย “โมเลกุลมณีแดง” นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา เป็นต้น

เป้าหมายก็เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับประเทศ แม้ประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องบริการทางการแพทย์ แต่ยังขาดเรื่องของต้นน้ำ การวิจัยและพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต้องเป็นการนำเข้าทั้งสิ้น

อีกธุรกิจคือ “ธุรกิจไลฟ์สไตล์” (mobility & lifestyle) ภายใต้การนำของ OR เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค การปรับตัวของปั๊มน้ำมันเพื่อรองรับอนาคต กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่เฉพาะคนเดินทาง แต่จะรวมถึงชุมชนรอบ ๆ ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ มากมาย

ธุรกิจที่ 3 คือ ธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (high value business) โดยมีบริษัท GC เป็นหัวหอก ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง และการเข้าสู่ไบโอเทคโนโลยี

ปตท.ลงสมรภูมิโลจิสติกส์

สำหรับธุรกิจใหม่ตัวที่ 4 คือ โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานโดยโลจิสติกส์ของ ปตท.คือ การเน้นเสริมศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีอยู่ ครอบคลุมการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ รวมถึงการบริหารคลังสินค้า

“ตอนนี้ที่ ปตท.ทำไปแล้ว คือ การลงทุนในท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ส่วนระบบราง อยู่ระหว่างการหารือกับการรถไฟฯ ปตท.ไม่ได้ไปประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่จะไปดึงศักยภาพของระบบโลจิสติกส์ที่ซ่อนอยู่ขึ้นมาใช้ เช่น เมื่อระบบรางคู่ของการรถไฟฯเสร็จ จะมีศักยภาพมหาศาลในการเชื่อมต่อกับทางลาวไปจีนได้ โมเดลของ ปตท.คือ ไปเช่าระบบราง และนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ เพื่อให้บริการขนส่งสินค้า”

รวมถึงทางอากาศ ก็มีการร่วมกับการบินไทยหลายโครงการ โดย ปตท.มีเป้าหมายสู่การเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของอาเซียน

และ ธุรกิจ AI, robotics & digitalization โดยร่วมกับกลุ่มมิตซุย ประเทศญี่ปุ่น ตั้งบริษัท พีทีที เรส จำกัด ให้บริการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด ให้บริการระบบ public cloud และบริษัท ที-อีโคซิส จำกัด พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

ทั้งหมดนี้ก็คือ หมุดหมายใหม่ของกลุ่ม ปตท. เป็นหัวหอกการลงทุนของประเทศ ที่เป็นมากกว่าบริษัทพลังงาน