กลุ่ม ปตท.กำไร Q3 ดิ่งยกแผง “GC” ติดลบหนักสุด-โบรกเล็งหั่นเป้าปี’65

ปตท.

กลุ่ม ปตท.กำไร Q3 ดิ่งยกแผง PTTGC หนักสุดติดลบ 1.33 หมื่นล้านบาท “บล.กสิกรไทย” ชี้สาเหตุธุรกิจโอเลฟินส์-อะโรเมติกส์อ่อนแอหนัก โรงกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันสูงกว่า 8 พันล้านบาท เผยมีเพียง PTTEP กำไรแข็งแกร่งสุดพยุงกลุ่ม ประเมินไตรมาส 4 ภาพรวมกำไรทั้งกลุ่มฟื้น

ส่อหั่นประมาณการกำไรทั้งปีลงจากเดิมคาด 2.57 แสนล้านบาท เหตุผลประกอบการบริษัทลูกในธุรกิจ “โรงกลั่น-ปิโตรเคมี” อ่อนแอ ด้านซีอีโอ PTT เผย 9 เดือนแรกกำไรกลุ่มลดลง 9%

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หุ้นกลุ่ม ปตท. จำนวนทั้งสิ้น 7 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ.ปตท. (PTT) 2.บมจ.ปตท.

สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 3.บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) 4.บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 5.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 6.บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ 7.บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ประกาศกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2565 รวมกันออกมาอยู่ที่ 18,166 ล้านบาท ลดลง 62% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และลดลง 78% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)

“ไตรมาสนี้มีเพียง PTTEP เท่านั้นที่กำไรปรับตัวดีขึ้นทั้ง YOY และ QOQ นอกนั้นปรับตัวลดลงหมด โดยแย่สุด คือ PTTGC ที่ติดลบสูงถึง 13,384 ล้านบาท รองลงมา คือ IRPC ติดลบกว่า 2,549 ล้านบาท นอกนั้นกำไรลดลงมาค่อนข้างแรง แต่ยังเป็นบวก (ดูตาราง)”

ตาราง กำไรหุ้นปตท

สำหรับ PTT กำไรที่ออกมา 8,884 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากงบการเงิน PTTGC ที่ PTT ถือหุ้นอยู่เกือบ 50% มีกำไรน่าผิดหวัง หรือต่ำกว่าคาดประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำให้กำไรที่ส่งมาเหลือแค่ 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ PTTEP กำไรยังเติบโตได้จากผลยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% YOY และเพิ่มขึ้น 3% QOQ ในขณะที่การควบคุมค่าใช้จ่ายทำได้ดี โดยต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ทรงตัวอยู่ที่ 28.8 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาขายลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบ แต่เนื่องจากมีเรื่องภาษี (taxing gain) จึงทำให้กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

ด้าน OR สาเหตุที่กำไรลดลงค่อนข้างแรงทั้ง YOY และ QOQ หลัก ๆ มาจาก oil margin ต่อลิตร มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง จาก 1.61 บาทต่อลิตรในไตรมาส 2/2565 ลงมาเหลือ 0.68 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นผลตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเร็วและแรง ทำให้เกิดขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (inventory loss) ประมาณ 5,000 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายลดลง 8% QOQ ตามฤดูกาลในช่วงหน้าฝน

ส่วน TOP ที่มีกำไรลดลงเหลือแค่ 12 ล้านบาท เป็นผลจากค่าการกลั่นปรับตัวลดลงแรง จากระดับกว่า 20 เหรียญ ลงมาเหลือแค่ 6.7 เหรียญ นอกจากนี้กำลังการกลั่นปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 110% เหลือ 104% ก็เป็นไปตามค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงมา

และมี inventory loss และขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยง (hedging loss) ค่อนข้างใหญ่ ส่งผลให้กำไรหายเกือบหมด

ด้าน PTTGC ได้รับผลกระทบจากธุรกิจโอเลฟินส์และธุรกิจอะโรเมติกส์ที่อ่อนแอมาก ๆ โดยกำไรส่วนที่เป็นเงินสด (EBITDA) ติดลบ เป็นผลจากส่วนต่าง (spread) ของทั้ง 2 ธุรกิจที่่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุน (break even)

แม้ธุรกิจโรงกลั่นจะมีกำไร แต่ก็เป็นการปรับตัวลดลง และพอมาเจอ hedging loss ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง โดยมี inventory loss สูงกว่า 8 พันล้านบาท

สำหรับ IRPC ทิศทางเหมือน PTTGC ธุรกิจโอเลฟินส์มีผลส่วนต่างต่ำกว่าจุดคุ้มทุน ทำให้ติดลบ ประกอบกับมี inventory loss ขณะที่ GPSC ได้รับผลกระทบจากต้นทุนก๊าซที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไตรมาส 3/65 ราคาเนื้อก๊าซ (pool gas) ของ ปตท. ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จาก 10 เหรียญ ขึ้นมาอยู่ที่กว่า 12 เหรียญ ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (float time) ที่เพิ่มขึ้นยังตาม pool gas ไม่ทัน จึงกดดันกำไรและมี effect loss จากค่าเงินบาทอ่อนค่า

ส่วนทิศทางผลประกอบการไตรมาส 4/2565 นายจักรพงศ์กล่าวว่า คาดว่ามีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ เพราะว่า inventory loss น่าจะสวนกลับเป็น inventory gain เล็กน้อย ประกอบกับ effect loss จะกลายเป็น effect gain ในขณะที่การดำเนินงานหลัก (core operation) เชื่อว่าจะยังอ่อนแอต่อเนื่องในธุรกิจปิโตรเคมี เพราะ spread ยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุนหมดทุกสายผลิตภัณฑ์

“สำหรับโรงกลั่น เชื่อว่าค่าการกลั่นน่าจะใกล้เคียงหรืออ่อนกว่าไตรมาส 3/2565 เล็กน้อย เพราะเดือน ต.ค.แย่มาก แต่เดือน พ.ย.กำลังฟื้นตัว และเชื่อว่าเดือน ธ.ค.จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยประเมินราคาน้ำมันน่าจะทรงตัว

และราคาก๊าซปรับขึ้นในไตรมาส 4/2565 ภาพรวมคือวอลุ่มดีขึ้น กลุ่มปิโตรเคมีขั้นต้น (upstream) ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ส่วน retail oil อย่าง OR เชื่อว่างบฯจะฟื้นตัว สวนกลับเป็น inventory gain ค่าการตลาด (marketing margin) น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 4 จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ฉะนั้นการดำเนินงานหลักคงดีขึ้น แต่ถูกกดดันจากค่าใช้จ่าย”

นายจักรพงศ์กล่าวด้วยว่า จากประมาณการกำไรกลุ่ม ปตท.ทั้งกลุ่มในปีนี้ที่ประเมินไว้ 257,000 ล้านบาท มีความเสี่ยงจะถูกปรับลดลงได้ จากผลประกอบการของบริษัทลูกที่ค่อนข้างอ่อนแอ ทั้งในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี


นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ปตท.และบริษัทย่อยมีผลประกอบการทั้งในและต่างประเทศ กำไรสุทธิ 73,303 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2564