เตือนภัยบริโภคค้างคาว เสี่ยงติดเชื้อโรคหลายชนิด

เนื้อค้างคาว

กรมปศุสัตว์เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงเมนูเปิบพิสดาร หลังจากมีผู้ทำคอนเทนต์กินค้างคาวในสื่อสังคมออนไลน์ และพบนักท่องเที่ยวแอบลักลอบนำค้างคาวรมควันเข้าราชอาณาจักรไทย จับกุมได้ที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุค้างคาวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งผู้ที่ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองฯ และมีการลักลอบนำซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรไทยจะมีความผิดตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ ค้าวคาวยังเป็นแหล่งรังโรคตามธรรมชาติของเชื้อโรคหลายชนิด มีรายงานพบเชื้อไวรัสมากกว่า 60 ชนิดในค้างคาว ซึ่งไวรัสหลายชนิดสามารถติดต่อและก่อโรคในคนและสัตว์ได้ เช่น ไวรัสนิปาห์ ที่ก่อโรคไข้สมองอักเสบในคนและสุกร ไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซาร์ส เมอร์ส และ COVID-19 ไวรัสลิสสาที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า และไวรัสอีโบลา ที่ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังสามารถพบเชื้อก่อโรคชนิดอื่นได้ด้วย เช่น เชื้อเลปโตสไปโรสิส สาเหตุของโรคฉี่หนู โรคติดเชื้อรา Histoplasmosis เป็นต้น

เนื้อค้างคาว
กรมปศุสัตว์ แนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสและบริโภคค้างคาว เพราะสัตว์รังโรคมักไม่แสดงอาการป่วย โดยโอกาสในการได้รับเชื้อโรคอาจเกิดขึ้นตั้งแต่การเข้าไปจับสัตว์ป่า การสัมผัสสารคัดหลั่งหรือมูลค้างคาว จนกระทั่งขั้นตอนการชำแหละก่อนการปรุง รวมทั้งการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก อย่างไรก็ตามอาจมีเชื้อโรคบางชนิดที่ไม่สามารถทำลายโดยการปรุงสุกได้ กรมปศุสัตว์ จึงขอให้ประชาชนไม่รับประทานสัตว์แปลกและรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะ หากพบสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้แจ้งอาสาปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติและศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ประจำภูมิภาค