PRISM มองปี’66 ราคาน้ำมัน 85-95 เหรียญ ยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน Game Changer

PRISM มองปี'66 ราคาน้ำมัน

“กลุ่ม PRISM” คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปีหน้า 2566 เฉลี่ยอยู่ที่กรอบ 85-95 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มองเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลัง ชี้อุปทานน้ำมันจากรัสเซียอาจจะหายไปจากตลาด หลังยุโรปเริ่มการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันรัสเซียเต็มรูปแบบ จับตายกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน เวเนซุเอลา อาจเปลี่ยนเป็น Game Changer ตลาดน้ำมันโลก “ปลัดพลังงาน”-แบงก์ชาติ-องค์การก๊าซเรือนกระจก ตั้งรับวิกฤตพลังงาน พร้อมผนึกกำลังมุ่งนโยบายพลังงานสะอาด

โลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กล่าวในงาน สัมมนาออนไลน์ 2022 The Annual Petroleum Outlook Forum : Thriving amid Global Energy Volatility towards Sustainable Future เติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางความผันผวนของพลังงานโลก โดยกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ว่า ในปี 2022 นี้ หลายประเทศต่างให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและการเข้าถึงพลังงานเป็นประเด็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่แปรปรวน รวมถึงภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ต้องตระหนักและร่วมมือกันแก้ไขปัญหา Climate Change อย่างต่อเนื่องจริงจัง โดยนักวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน กลุ่ม ปตท. หรือ “PRISM Experts” ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมัน รวมถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมพลังงานต้องเผชิญ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสถานการณ์พลังงานโลกปัจจุบันเรียกว่าอยู่ในความผันผวนจากโควิด-19 และวิกฤตการเมืองระหว่างประเทศ จากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่นำไปสู่วิกฤตพลังงานในหลาย ๆ ประเทศ

ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ประชาคมโลกต่างต้องร่วมมือผลักดันการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยในการประชุม COP27 ที่ผ่านมา ที่สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ประเทศไทยได้ร่วมแถลงยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ตามที่ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ใน COP26 ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ท่ามกลางความผันผวนนี้ กลุ่ม ปตท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมความพร้อมและจัดหาพลังงานรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการปรับทิศทางและกลยุทธ์องค์กร มุ่งพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ตอบรับทิศทางโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจใหม่อื่น ๆ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ กลุ่ม ปตท. มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ  กลุ่ม ปตท. พร้อมเป็นกำลังสำคัญสร้างความมั่นคงทางพลังงาน  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างสมดุลและยั่งยืน

PRISM Expert ฉายภาพสถานการณ์พลังงาน

ด้านนายสิรวิชญ์ สมรัตนกุล กลุ่ม PRISM Expert กล่าวว่า หลังจากที่ประชาชนเติมน้ำมันที่แพงตลอดทั้งปีนี้ 2565 ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดน้ำมันโลกได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างมาก จนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล สะท้อนเป็นวิกฤตอุปทานน้ำมันโลก แต่หากย้อนไปดูราคาน้ำมันในอดีต ราคาน้ำมันได้รับผลกระทบด้านดีมานด์และซัพพลาย

โดยหลัก ๆ จะเป็นผลกระทบด้านซัพพลายเช่นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มโอเปคเคยมีมติปรับลดกำลังการผลิตจนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 100 เหรียญกว่าบาร์เรลเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกาสามารถคิดค้นนวัตกรรมจากชั้นหินมาได้ จึงทำให้มีการเพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง

มากไปกว่านั่นขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงอีกครั้ง 100 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลให้ปัจจุบันโลกเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซียเเละยูเครน ส่งผลกระทบไปทั่วโลกสร้างความวิตก เเละยังคงรุนแรง ยืดเยื้อ

หากย้อนที่มา อดีตสองประเทศเคยอยู่รวมกันเป็นสหภาพโซเวียต กระทั่งเกิดการล่มสลายไปแยกเป็นประเทศเล็ก ๆ จึงทำให้วัฒนธรรม วิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน 2014 ยูเครนประสบปัญหาภายในประเทศ รัสเซียเข้ามามีบทบาทรวมถึงไครเมีย กลับมารวมรัสเซียจึงเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่เเตกร้าวทั้งสองประเทศ ขณะที่ยูเครนมีความต้องการเข้าร่วมสมาชิกนาโต้ที่มีสหรัฐเป็นสมาชิก จึงสร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซีย กระทั่งต้นปีที่ผ่านมาตัดสินใจเข้าบุกยูเครนเกิดความรุนเเรงถึงปัจจุบัน

สำหรับรัสเซียมีบทบาทกับน้ำมันในตลาดโลก เนื่องจากมีกำลังผลิตน้ำมันดิบมากถึง 31 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นรองเพียงแค่สหรัฐที่จะเน้นการใช้ในประเทศ โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบสูงถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นรองซาอุดีอาระเบีย ทำให้ตลาดกังวลผลกระทบที่ตามมา อีกทั้งรัสเซียส่งออกไปยังตลาดยุโรปมากถึง 50% และความขัดเเย้งดังกล่าวกระทบไปถึงจีน ที่มีการขนส่งทางเรือ ท่อ ไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่เพียงแค่ยุโรป แต่หมายรวมไปถึงในแถบเอเชีย

นายนิธิภัทร แสงดาวฉาย PRISM Expert กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อวิถีชีวิตการจับจ่ายประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเห็นว่าราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคามากว่า 20% เกิดภาพราคาสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้ปีนี้ที่มีการคาดการณ์จีดีพีโต 3.9% พอเกิดสงครามเหลือเพียง 3.2% เมื่อเอาเงินเฟ้อมาเทียบอีกก็พบว่าสูงถึง 8.8%

ดังนั้น การที่เงินเฟ้อสูงกว่าจีดีพี เป็นผลมาจากรัสเซีย เพราะรัสเซียส่งออกสินค้าสำคัญของโลก อาทิ เหล็ก พาราเดียม น้ำมันดอกทานตะวัน ข้าวสาลี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่งผลให้ราคาแพงที่สุดในรอบ 14 ปี

นอกจากนี้ยังมีน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นสินค้าทดแทน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มแพงเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบจากสงครามทั้งหมดทำให้ราคาหลาย ๆ สินค้าและราคาพลังงานแพงขึ้น จึงส่งผลต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ปีหน้า 2566 กลุ่ม PRISM คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากปีนี้ที่อยู่ที่ 99 เหรียญสหรัฐ/บาเรล

อย่างไรก็ดี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้นถือว่ายังสูง หากเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่แล้วจะเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เท่านั้น แต่ราคาอาจจะเเกว่งตัวกับความผันผวน ความไม่แน่นอนที่ไม่ใช่เเค่เรื่องของสงคราม ยังมีเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน ปรากฎการณ์ฮีทเวฟจากอากาศที่หนาวจัด ร้อนจัดในรัฐเท็กซัส ที่น่าจับตามองอีกประเด็นคือ การเมืองระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีการลดการส่งออกชิปในบางสินค้า เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองระหว่างกัน

เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ปีที่แล้วกับปีนี้มีความต้องการเพื่อผลิตไฟฟ้าจาก 5-7 เเสนบาร์เรลต่อวัน แต่หากปีนี้หรือปีหน้าอากาศแปรปรวนก็ส่งผลต่อราคาก๊าซ บวกกับความยืดเยื้อสงครามที่รัสเซียลดการส่งออกไปยังยุโรป หากยุติส่งออกก็ยิ่งมีผลกระทบอย่างมาก และยิ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและแก๊สโซลีน น้ำมันเจ็ต ก็ยังไม่กลับมาเท่าที่ควร ซึ่งเป็นผลมาจากจีนยังไม่เปิดประเทศ มากไปกว่านั้นการที่สหรัฐเข้ามาแทรกแซงไต้หวันก็ย่อมส่งผลต่อการเมืองทั้งหมดจึงต้องขึ้นอยู่กับจีน และขึ้นอยู่กับนโยบายผู้นำ สี จิ้นผิง จะกำหนดทิศทางอย่างไร

ขณะที่ปัจจุบันการผลิตน้ำมันจะดูจากโอเปคอย่างเดียวต่อไปไม่ได้ ต่อจากนี้ต้องดูจากนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ที่ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีลดลง และเร็ว ๆ นี้กลุ่ม G7 ตั้งเพดานกดดันรัสเซียจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งนาโต้ที่เริ่มมีสัญญาณการเข้าร่วมของฟินแลนด์และสวีเดน จะส่งผลมากขึ้นอีกอย่างไร ดังนั้นโลกพลังงานยังคงผันผวนจากหลายปัจจัย สิ่งที่ทุกคนทำได้ขณะนี้คือต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน และไม่ประมาท

โลกจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว จับตา Game Changer ตลาดน้ำมัน

นายเดชาธร ฐิวิฐสกร PRISM Expert กล่าวว่า ภาวะการณ์ของโลกมาถึงจุดวิกฤตที่ท้าทายด้านพลังงาน โดยโลกเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ โรคระบาด ภัยสงคราม ที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบเป็นโดมิโนถึงต้นทุนผลิตสินค้าทุกชนิด ถึงเวลาเเล้วที่โลกต้องเปลี่ยนแปลง ที่ทุกคนต้องตระหนัก

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงจากภัยธรรมชาติ มีตัวแปรมาจากอุณภูมิโลกสูงขึ้น (Globol Climage change) กระทั่งสหประชาชาติ (UN) มาร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมลงนามสัตยาบัน Carbon Neutral 2050 ลดการปล่อยควัน เช่นเดียวกับไทยที่รัฐบาลกำหนดนโยบาย ในหลากหลายมาตรการทั้ง EV คาร์บอนเครดิต ปลูกป่า พลังงานหมุนเวียนที่เกิดการลงทุนท่ามกลางความท้าทาย Energy disruption หรือรัสเซีย และนาโต้ ที่มีข้อต่อรองด้านพลังงาน ด้วย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ยังคงเฝ้าติดตามสหภาพยุโรปที่มองว่าจากนี้การพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากรัสเซียจะลดลงและหันไปพึ่งพาตนเองในการใช้พลังงานสะอาดในประเทศ และนอกจากนี้โลกจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ในรูปแบบ Deglobalization Impacted โลกฝั่งตะวันตก และตะวันออก ที่แบ่งข้างกันอย่างชัดเจน ดังนั้น จะเห็นว่า สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง เช่นจีน เพื่อลดการพึ่งพาชาติตะวันตก ดิจิทัล อุตสาหกรรมใหม่ ๆ (New S-curve) หรืออย่างอินเดียสร้างอุตสาหกรรมอวกาศขึ้นมาเอง

ดังนั้น จากการวิเคราะห์ดังกล่าว ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์สถานการณ์พลังงานภาพรวมปี 2023 ยังคงเต็มไปด้วยความผันผวน จากความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก

โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Dubai เฉลี่ยปี 2023 ในกรอบ 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ด้วยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 แต่อุปทานน้ำมันจากรัสเซียอาจจะหายไปจากตลาด หลังยุโรปเริ่มการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันรัสเซียเต็มรูปแบบในปลายปี 2022 รวมทั้งความร่วมมือของ OPEC+ ในการพยุงราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่าผู้ผลิตรายอื่น ๆ จะสามารถเพิ่มการผลิต เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากรัสเซียได้หรือไม่ รวมถึงประเด็นการยกเลิกคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และเวเนซุเอลา ที่อาจเป็น Game Changer ในการเพิ่มอุปทานน้ำมันดิบเข้ามาในตลาด

ทั้งนี้ โลกอนาคตจะมั่งสู่การใช้พลังงานทางเลือก (Renewable Energy) จะเป็นทิศทางในการสร้างพลังงานยั่งยืน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป

รัฐตั้งรัจวิกฤต/รุกพลังงานสะอาด

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ผลจากโควิด-19 ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่ลดลงจากการล็อกดาวน์รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ ตรึงราคาเชื้อเพลิง จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลดค่าไฟ กระทั่งสถานการณ์โควิดคลี่คลายกลางปี 2564 ราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้นมาจาก 40 เป็น 70-80 เหรียญ/บาร์เรล บวกกับโอเปคพลัสลดกำลังผลิต ส่งผลต่อดีมานด์จนถึงมกราคม 2565 ก่อนเกิดความขัดเเย้งรัสเซียยูเครน จนกระทั่งเกิดสงครามส่งผลต่อราคา LPG LNG น้ำมัน ค่าไฟ เพิ่มเงินเพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันทุกชนิด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานไม่นิ่งนอนใจหากปลายปีนี้เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรป ได้เตรียมแผนที่ต้องเร่งดำเนินการ หากกรณีที่ราคา LNG สูงเกิน 50เหรียญ โดยปีนี้ไทยนำเข้า 40% ต้องเร่งปริมาณการผลิตแหล่งก๊าซอ่าวไทยให้มากขึ้น รวมถึงใช้น้ำมันดีเซลทดแทนและกลับมาใช้ฟอสซิลระยะหนึ่ง และซื้อไฟเพื่อนบ้าน สปป.ลาว มากขึ้น

ขณะที่ระยะยาว แน่นอนว่ายังคงต้องลงทุน Green Energy เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2040 และผลิตรถยนต์ EV ที่เห็นการเพิ่มถึง 200% ในปีนี้ โดยกำหนดไว้ว่าจะผลิต 10,000 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปี ในทุกประเภทของพลังงานสะอาด รวมทั้งต่อจากนี้การขายไฟฟ้าจะต้องมาจากพลังงานสะอาดและออกกฎระเบียบเงื่อนไขทางการค้าให้ได้ ทั้งหมดนี้เป็นเมกะเทรนด์ที่จะตอบโจทย์ความมั่นคงทั้งในระยะสั้น รวมถึงวางแผนระยะยาว โดยมีปัจจัยทั้งจากการพัฒนาระบบ Smard grid ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ CCS CCUS

นายธาริฑธิ์  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 จีดีพีไทยติดลบ 62% แบงก์ชาติได้ให้การช่วยเหลือ 3 ข้อหลัก 1.ลดอัตราดอกเบี้ย 2.สินเชื่อซอฟต์โลน ฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัว 3.การปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อจบเรื่องโควิด ภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แต่กลับมีประเด็นน้ำมัน ของแพง ซัพพลายเชนดิสรัปชั่น จึงต้องปรับดอกเบี้ย การเงินให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล

ทั้งนี้ เร็ว ๆ นี้ ภาคการเงินของไทยต้องมีการปรับนโยบายหนี้ครัวเรือน เปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียวย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องปรับแนวคิดของข้อมูลสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การจัดสรรเงินทุนที่เหมาะสม อาทิ หากใครที่เป็น Green จะได้รับสิทธิที่มากกว่า ทั้งนี้ เอกชน รัฐ ต้องปรับตัวตระหนักรู้ เปลี่ยนผ่านสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกัน

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโควิดและวิกฤตพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ทุกประเทศอยู่ในสภาวะเดียวกัน ส่งผลให้มีข้อตกลงร่วมกันในการประกาศเจตจำนงความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้น แทนที่ไทยจะมองเพียงเเค่เศรษฐกิจต่อไปต้องมองข้ามช็อตไปถึงโอกาสในการสร้างเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างอำนาจทางการค้าให้กลับมาเกิดการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

“ก่อนหน้านี้ราคาฟอสซิลผันผวนมาก แต่กลับเกิดโอกาสในการสร้างพลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินควบคู่กัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต กำหนดภาษี ประเมินราคา มีองค์กรกลางควบคุมกำกับ ให้เกิดบรรยากาศการลงทุนและเทคโนโลยี ดิจิทัล ระบบกักเก็บคาร์บอน CCS CCUS  และปรับโครงสร่างอยู่ระหว่างก่อตั้งกรมใหม่ ที่ดูแลเรื่องสภาพภูมิอากาศโดยตรง กลางปีหน้าจะเห็นความชัดเจน ดังนั้น วิกฤตพลังงานทั้งหมดจะต้องเป็นโอกาสและความท้าทายของไทยต่อไป ซึ่งทุกภาคส่วนต้องปรับตัว โดยไม่ประมาท”