กางแผนลงทุน ซีอีโอใหม่ IRPC “กฤษณ์ อิ่มแสง” ตั้งงบ 3.6 หมื่นล้าน ฝ่า Recession

เปิดกลยุทธ์ลงทุน IRPC

เปิดกลยุทธ์ลงทุน IRPC ของซีอีโอ “กฤษณ์ อิ่มแสง” ซีอีโอคนที่ 7 ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร ตามวิสัยทัศน์การสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว ที่วางการลงทุนโดยเน้นต่อยอดลงทุนธุรกิจใหม่ และตั้งงบ 5 ปี ไว้กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท หวังเพิ่ม EBITDA 3.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2030 ผลักดัน IRPC ก้าวสู่บริษัทนวัตกรรมวัสดุและพลังงานยั่งยืน วางเป้าองค์กร Net Zero ภายในปี 2060 เผยปีหน้า ประเมินรายได้เติบโต 12% วางแผนงบประมาณ ลดต้นทุน ที่ไม่จำเป็น ฝ่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Resession) EU Green deal

ทุ่ม 3.6 หมื่นล้าน รุกลงทุนธุรกิจใหม่ ตั้งเป้า EBITDA 3.5 หมื่นล้านปี 2030

ไออาร์พีซี วางแผนดำเนินธุรกิจระยะ 5 ปี (2023-2027) โดยมุ่งเน้นความเข้มแข็งและความชำนาญในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจปัจจุบันเพื่อการพัฒนาขยายธุรกิจ และแสวงหาธุรกิจใหม่ ๆ โดยผลักดันให้บริษัทเติบโตได้ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมวัสดุและพลังงานอย่างยั่งยืน (Material and Energy Solutions) ซึ่งการเติบโตในอนาคตจะเน้นให้ความร่วมมือกับคู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตรธุรกิจ ที่พร้อมสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของประเทศ

กฤษณ์ อิ่มแสง
กฤษณ์ อิ่มแสง

สำหรับการดำเนินธุรกิจนั้น บริษัทวางเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ไว้ที่ 25,000 ล้านบาท ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 35,000 ล้านบาท ในปี 2030 ซึ่งการเติบโตทางธุรกิจจะเน้นต่อยอดจากความแข็งแกร่งของฐานธุรกิจปัจจุบัน (Existing Stream) และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Stream)

ทั้งนี้ ภายใต้การไปสู่เป้าหมายนั้น บริษัทมีแผนที่จะลงทุนในระยะ 5 ปี (2023-2027) ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 36,000 ล้านบาท ขณะที่เฉพาะงบการลงทุน ปีหน้า 2566 อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท

โดยคาดการณ์รายได้ปีหน้า คาดว่าจะเติบโตราว 12% จากปีนี้ หลังประเมินว่าตลาดน้ำมันยังมีทิศทางที่ดี และมองว่าราคาน้ำมันดิบจะทรงตัวระดับสูงราว 94 เหรียญฯ/บาร์เรล หรือต่ำกว่าเล็กน้อย และบริษัทคาดว่าโรงกลั่นจะเดินเครื่องการผลิตสูงขึ้นจากปีนี้

ขณะที่การขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะน้อยลงจากปีนี้ ที่คาดว่าจะมีการขาดทุนราว 9,000 ล้านบาท ส่วนตลาดปิโตรเคมี ในปีหน้า แม้ว่าทิศทางจะไม่ดี จากหลาย ๆ ปัจจัย และหลังคาดการณ์ราคาจะอยู่ในระดับต่ำเทียบย้อนหลัง 4 ปี แต่ก็คาดว่าตลาดปิโตรเคมี ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้แล้ว และเริ่มดีขึ้น

สำหรับการลงทุนนั้นจะใช้กลยุทธ์มุ่งเน้นขับเคลื่อนและขยายธุรกิจปัจจุบันเข้าสู่ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ Health and Life Science, Advanced Material, Circular Business, Future Energy และ Energy Storage โดยใช้ความรู้ด้านนวัตกรรมและแสวงหาความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางธุรกิจ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามกลยุทธ์ 3C ซึ่งประกอบด้วย Climate Change, Circular Economy และ Creating Shared Value สร้างความยั่งยืนให้องค์กร

เพิ่มสัดส่วนขายเม็ดพลาสติก 24% เป็น 33%

อย่างไรก็ดี ไออาร์พีซี ยังมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ (Specialty Product) จาก 24% ในปี 2022 เป็น 33% ในปี 2023 โดยมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Smart Material ที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก อาทิ ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ (Health and Wellness) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ของผู้คนปัจจุบัน

โดยในปีนี้ได้ดำเนินการลงทุนโครงการเม็ดพลาสติกพีพี สปันบอนด์ (PP Spunbond) 200,000 ตันต่อปี เพื่อรับกระแสการดูแลสุขภาพ และขยายการลงทุนโครงการพีพี เมลต์โบลน (PP Meltblown) 40,000 ตันต่อปี รวมถึงพีพีอาร์ (PPR: PP random copolymer pipe) 80,000 ตันต่อปี ใช้ผลิตท่อน้ำร้อนน้ำเย็นชนิดทนทานพิเศษไร้สารทาเลตได้เป็นรายแรกของภูมิภาค และเอชดีพีอี 100-อาร์ซี (HDPE 100-RC) 40,000 ตันต่อปี ใช้ผลิตท่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีอายุการใช้งานนานถึง 100 ปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2024

นอกจากนี้ IRPC พร้อมส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษภายใต้แบรนด์ “POLIMAXX” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต โดยเพิ่มตราสัญลักษณ์แสดงคุณสมบัติเด่นของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Pro-Efficient เป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน Life-Pro เป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ เช่น Medical Supplies, Hygiene Product ส่วน Dura-Pro เป็นผลิตภัณฑ์ที่เสริมความแข็งแรง ทนทาน

เช่น Automotive Parts, Pipes & Construction และ Electrical & Home Appliance และ Eco-Pro เป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น Kitchenware & Utensil, Packaging และ Furniture ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้า คู่ค้า และผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมไปพร้อมๆ กับโซลูชันที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ลงตัว

จับตากฎ Green deal ฝ่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ปีหน้า’66

ซีอีโอไออาร์พีซี กล่าวอีกว่า การลงทุนดังกล่าว แน่นอนว่าต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ตามนโยบาย Thailand 4.0 รวมทั้งรองรับการขยายตัวของสังคมเมือง และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับกลยุทธ์การต่อยอดนวัตกรรมสร้างคุณค่าให้สังคมควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

โดย IRPC ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 20% ภายในปี 2030 จากปีฐาน 2018 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2060

โดยล่าสุดได้ร่วมกับกลุ่ม ปตท. ในการศึกษาพัฒนาและลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เพื่อมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก อีกทั้ง บริษัท ได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าโครงการรับซื้อไฟฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเป็นการยื่นเสนอผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม กำลังผลิตราวประมาณ 70 เมกะวัตต์ พื้นที่ภาคใต้ของบริษัทเอง ซึ่งเป็นการลงทุนโดยบริษัทลูก โดยจะอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากภาครัฐ (กกพ.) ดังนั้นโครงการนี้ เป็นหนึ่งในเป้าหมายลดคาร์บอนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้ธุรกิจของไออาร์พีซีต้องให้ความสำคัญกับเงื่อนไขการค้าที่หลายประเทศระบุสินค้าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม อาทิ EU Green deal เพราะบริษัทส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นหลัก อีกทั้ง ประเมินความเสี่ยงการลงทุนอย่างรอบคอบ และมีการคาดการณ์ว่าปีหน้า 2566 ประเทศคู่ค้าหลักและโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

จึงได้วางแผนตัดลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมกับตั้งหน่วยงานใหม่ SOS เพื่อประเมินสถานกาณณ์ ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงาน มีนโยบายให้ปรับลดสำรองน้ำมันตามกฎหมายลง 0.2% นั้น บริษัท ได้ดำเนินการตามมาตรการของภาครัฐ ทำให้มาร์จิ้นน้ำมันสำเร็จของบริษัทดีขึ้นตามไปด้วย

“IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” ด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีธรรมาภิบาล รวมทั้งคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทให้เติบโตไปพร้อมกัน “IRPC สร้างสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต” นายกฤษณ์กล่าว