IRPC ปักหมุดตลาดชิ้นส่วนแบตเตอรี่ EV ปี’68 ปั้นยอดขายเม็ดพลาสติกพิเศษ

หุ้นกู้ IRPC

IRPC ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 24% ในปี 2565 เป็น 52% ในปี 2568 พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง รุกตลาดส่วนประกอบ อุปกรณ์เก็บพลังงานสำรอง และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า IRPC วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 24% ในปี 2565 เป็น 52% ในปี 2568 และอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) EV เช่น Battery Separator และ Li-ion Anode

รวมถึงได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีนคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP โดยถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวนด์ (PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ EV ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก บริษัทฯจึงดำเนินโครงการ Acetylene Black for Li-ion Battery วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรองรับเทรนด์ EV

โดยเพิ่มคุณสมบัติให้มีความพิเศษมากขึ้นในเรื่องความบริสุทธิ์และการนำไฟฟ้าสูง ช่วยลดเวลาการอัดประจุไฟฟ้า กำลังการผลิต 1.2 กิโลตันต่อปี (KTA) รวมถึงอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรอง คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ต้นปี 2570” นายชวลิตกล่าว

ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ดำเนินโครงการขยายกำลังการผลิต ABS โดยใช้ Agglomeration Technology กำลังการผลิต 9.8 KTA เน้นตลาดกลุ่ม EV, ชาร์จจิ้ง สเตชั่น, โดรน และรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ IRPC ในส่วนของการผลิต ABS Powder จากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการผลิต คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปี 2568

นายชวลิต กล่าวว่าแนวโน้มการดำเนินงานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นี้มีโอกาสที่จะดีขึ้นจากไตรมาสแรกเนื่องจากราคาของผลิตภัณฑ์ของปิโตรเคมีนั้นดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่แทบจะไม่สามารถทำกำไรให้กับบริษัทได้

ขณะที่ค่าความต่างของราคาซื้อกับราคาขาย (สเปรด) ของราคาปิโตรเลียมที่บริษัทจะได้รับนั้นเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันบริษัทยังมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน (สต๊อกเกน) ที่ดีจากไตรมาสแรกที่อยู่ประมาณ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้จึงมองว่าการออกหุ้นกู้ในระยะต่อไปยังไม่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ IRPC ยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดย วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี หรือ IRPCT ร่วมกับบริษัท อรุณพลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS พัฒนาหลักสูตรและสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน EV เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในบริษัทด้าน EV ของกลุ่ม ปตท. ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้วในปัจจุบัน

เช่น on-ion EV Charging Station หรือ Swap & Go สถานีบริการเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์แบบไม่ต้องรอชาร์จ รวมถึงโรงงานผลิต EV ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ARUN PLUS และ Foxconn