EEC ล็อกเป้าเจรจารายบริษัท-เงื่อนไขพิเศษ ดึงเข้า 7 เขตส่งเสริมพิเศษ

คณิศ แสงสุพรรณ
คณิศ แสงสุพรรณ

“คณิศ แสงสุพรรณ” ปรับกลยุทธ์ดึงนักลงทุนเข้า EEC ใช้การเจรจาเป็นรายบริษัท โดยเฉพาะรายใหญ่ต่างชาติที่ตรงกับเป้าหมายของประเทศ ใช้เงื่อนไขสิทธิพิเศษทั้งภาษี วีซ่า บุคลากร ดึงเข้า 7 เขตส่งเสริมพิเศษทั้งคลัสเตอร์ โชว์ผลงาน 4 ปี ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครบ-ดึงทุนต่างชาติทะลุ 1.72 ล้านล้านบาท ต่อยอดใช้ 5G สร้างคน-ชุมชน-โรงงานอัจฉริยะ

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวว่า การชักจูงนักลงทุน EEC ทำมาโดยตลอด แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่านักลงทุนจากจีน ยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น มุ่งมาที่ไทยกว่าปกติ

ด้วยความสำเร็จของ RCEP ทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากขึ้น เพราะจะสามารถเชื่อมโยง และได้สิทธิในบางเรื่องกับกลุ่มประเทศใน RCEP ซึ่งอุตสาหกรรมหลัก ๆ จะเป็น 5G อุตสาหกรรม Wellness หรือความงามและการดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งรวมไปถึงแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ใน EV อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติก เป็นต้น

โดยแน่นอนว่า EEC เปิดรับนักลงทุนทุกชาติ โดยเฉพาะรายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง มีนวัตกรรม จะใช้การเจรจาเฉพาะราย เนื่องจากนักลงทุนแต่ละรายแต่ละอุตสาหกรรมมีซัพพลายเชนที่ยาว สามารถดึงมาลงทุนทั้งคลัสเตอร์ได้ ซึ่งนั่นตรงกับเป้าหมายของประเทศไทยเอง ดังนั้นการเจรจาจำเป็นต้องใช้การเจรจาเฉพาะรายให้รู้ความต้องการของนักลงทุน ติดขัดเรื่องใด เพราะแต่ละกลุ่มต้องการเฉพาะด้าน และสิ่งที่รัฐบาลจะสามารถสนับสนุนให้ได้ เช่น เรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ระยะเวลาของวีซ่า ความพร้อมของบุคลากรที่จะมารองรับ

ซึ่งเป้าหมายหลักคือการดึงลงทุนมาทั้งคลัสเตอร์เข้า 7 พื้นที่ ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa), เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันอออก (EECi), เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd, เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh), ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา), การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) และศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง ที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ไม่ซ้ำซ้อนกับ BOI

ทั้งนี้ ผลงานตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น EEC ทำงานสำคัญไป 4 เรื่อง คือ 1.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ PPP หลักจนครบ ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เกิดการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนสูงถึง 655,821 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐลงทุนเพียง 36% แต่รัฐจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 440,193 ล้านบาท ทำให้ประเทศก้าวสู่การพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ประหยัดเงินงบประมาณของรัฐ

2.ดึงเอกชนระดับโลกลงทุน 4 ปี (2561-2564) อนุมัติมูลค่าการลงทุน ได้กว่า 1,722,720 ล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งไว้คือ 1.7 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนจากโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 654,921 ล้านบาท การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 985,799 ล้านบาท เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และได้วางแผนลงทุนระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2569)ไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท เน้นที่การดึงดูด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 4 แกนธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง

อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า EV ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งทำให้มูลค่าการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) จะเป็นกลไกหลักผลักดันให้ GDP โต 4.5-5% ต่อปี

3.ต่อยอดใช้ 5G ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมขั้นสูง สร้างคน ชุมชน และโรงงานอัจฉริยะ ปัจจุบันการใช้ 5G ในพื้นที่ EEC ได้ติดตั้งสัญญาณครบ 100% ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียน ทั้งนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ได้ผลักดันให้ชุมชนบ้านฉาง ก้าวสู่ smart city เกิดศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง บ้านฉาง (EEC Tech Park) มูลค่าลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท

คาดว่าก่อสร้างในเฟสแรกภายในปี 2567 และในพื้นที่เมืองพัทยา ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเสา 5G ไปแล้วกว่า 100 เสา อยู่ระหว่างขยายเพิ่มเติมเพื่อให้พัทยาก้าวสู่ smart city เช่นกัน รวมทั้งในปี 2565 จะนำร่องต้นแบบ EEC Common Data Lake นำข้อมูล Data platform ภาครัฐและเอกชน ใช้ประโยชน์เพื่อต่อยอดธุรกิจ คาดว่าในภาพรวมทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง มีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ได้ประโยชน์เพิ่ม 5 เท่า จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่อเสาสาย 2 แสนล้านบาท

และยังผลักดันให้โรงงานในอีอีซี เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม 4.0 เกิดการใช้ระบบหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่นอคาดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้กว่า 30% โดยปัจจุบันได้เริ่มทำแล้วกว่า 40 โรงงาน และจะเพิ่มเป็น 200 โรงงาน (ขนาดใหญ่ 20% ขนาดกลาง 30% SME 50%) ภายในปีนี้ และภายในปี 2568 โรงงานกว่า 6,000 แห่งใน EEC จะก้าวสู่โรงงานอัจริยะ รวมทั้งการเร่งสร้างบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง โดยร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น หัวเว่ย ซิสโก้ เป็นต้น ซึ่งได้ตั้งเป้าภายใน 4 ปี จะสามารถพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี (New Skill, Up-Skill, Re-Skill) ในด้าน 5G, ดิจิทัล, Network ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน

4.พัฒนาด้านสังคม ผ่านแนวคิด 5 สร้าง ได้แก่ สร้างอาชีพ สร้างความรู้ สร้างรัฐสวัสดิการ สร้างเครือข่าย และสร้างการเข้าถึงสถาบันการเงิน เช่น การพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ สู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมาตรฐานโลก การพัฒนา Wellness Center การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมสินค้าโอท็อป การร่วมกับ 7 สถาบันการเงินสนับสนุนบริการทางการเงินให้ประชาชน ผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่ ซึ่งได้ให้บริการทางการเงินในพื้นที่อีอีซีไปแล้ว 37,637 ราย เป็นวงเงินรวม 17,245 ล้านบาท และให้บริการค้ำประกัน 66,019 ราย วงเงินรวม 84,367 ล้านบาท และแผนพัฒนาการเกษตรเป็นต้นแบบการใช้ตลาดนำการผลิต ด้วยการผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) รักษาเสถียรภาพราคาผลไม้