IRPC ลงทุนเม็ดพลาสติกหลังราคาปิโตรเคมีเริ่มฟื้น ชวลิต ส่งไม้ต่อ CEO คนใหม่

IRPC ลงทุนเม็ดพลาสติก

IRPC ลุยลงทุนธุรกิจเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) ครึ่งปีหลัง 65 ปิดดีล 1 โครงการ ตั้งเป้าปี 2030 สัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเพิ่มเป็น 55% ชี้ครึ่งปีหลังราคาน้ำมันผันผวนเฉลี่ย 105 เหรียญสหรัฐ มองราคาปิโตรเคมีเริ่มฟื้นตัว พร้อมส่งไม้ต่อให้ CEO คนใหม่ สานต่อวิชั่นองค์กรไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ปี 2060 ดันเทคโนโลยีกักเก็บก๊าซคาร์บอน CCS ร่วมกับกลุ่ม ปตท.

วันที่ 8 กันยายน 2565 นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งเน้นขยายการลงทุนธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) โดยการเจรจาซื้อกิจการธุรกิจ Specialty นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปหรือปิดดีล M&A ได้ในครึ่งปีหลัง 2565 อย่างน้อย 1 โครงการ ส่วนการลงทุนปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 9,000-10,000 ล้านบาท รวมการ M&A จากที่ได้ตั้งงบฯลงทุนไว้ 20,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2565 นั้นใช้ไปแล้ว 6,000-7,000 ล้านบาท

ชวลิต ทิพพาวนิช
ชวลิต ทิพพาวนิช

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเป็น 55% ในปี 2030 จากปัจจุบันอยู่ที่ 24% ซึ่งเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษมั่นใจว่าในอนาคตจะมีความต้องการใช้มากขึ้นตามทิศทางความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะนำไปผลิตหน้ากากอนามัย ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก แขน ขาเทียม พร้อมกับรุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวนด์ (Polypropylene Compound : PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ก็มีโอกาสที่จะผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวนด์ให้กับ บริษัท อรุณพลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS ด้วยเช่นกัน

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 คาดว่าจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก 2565 เนื่องจากราคาน้ำมันผันผวน โดยในครึ่งปีหลัง 2565 คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเฉลี่ยในระดับ 105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2565 แม้ในช่วงไตรมาส 4/2565 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว และเป็นช่วงฤดูหนาวจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ขณะที่ทิศทางค่าการกลั่น หรือ Gross Refining Margin (GRM) ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 คาดว่าจะเฉลี่ยในระดับ 20-22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าจะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2565 นอกจากนี้โรงกลั่นจะมีการปิดซ่อมบำรุง 20 วันในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งก็เป็นไปตามแผน ซึ่งในช่วงปิดซ่อมบำรุงคาดว่ากำลังการผลิตจะปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ 160,000-165,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบกับครึ่งปีแรกที่อยู่ในระดับ 193,000 บาร์เรลต่อวัน

“ธุรกิจปิโตรเคมี ความต้องการใช้ และราคาจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 หลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในครึ่งปีแรก โดยคาดว่าความต้องการสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่”

ทั้งนี้ นายชวลิตกล่าวอีกว่า ในภาวะการเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง IRPC ได้ตั้งเป้าหมายสู่องค์กร Net Zero Emission ในปี 2060 โดยตั้งเป้าสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030 ไปสู่ Net Zero Company ด้วยกลยุทธ์ ERA

1.Eco-operation & technology การปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในบริษัท ลดการใช้พลังงานผ่านการกำหนดเป้าหมายเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดทดแทน พร้อมทั้งกำลังดำเนินการศึกษาการใช้พลังงานทางเลือก โดยการลงทุนในโครงการ Solar Rooftop และ โครงการ Solar Farm เพื่อใช้สำหรับกระบวนการผลิตในโรงงานต่อไปในอนาคต

ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 9,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้บนเกาะเสม็ด ทั้งเกาะ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่

นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project : UCF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 และเป็นไปตามนโยบายของ IRPC ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นโรงงานสีเขียว (Eco Factory) โดยคาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2024 รวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจใหม่ ๆ ที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ

2.Reshape portfolio มุ่งแสวงหานวัตกรรมที่ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนต่ำ ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ

3.Absorption and offset โดยได้ดำเนินการร่วมกับกลุ่ม ปตท. 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการปลูกป่า เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) หรือ CCS Hub Model

ทั้งนี้ CCS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปีและนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัย โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลสู่ระดับประเทศได้ในอนาคตได้สร้างการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน 3C และ IRPC ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ ผ่านโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” เพื่อสร้างเครือข่ายสตาร์ตอัพ ขับเคลื่อนการแสวงหาธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-Curve) เกี่ยวกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจพร้อมมุ่งไปสู่ Net Zero Emission

“IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว และเชื่อว่าธุรกิจสามารถเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักการดำเนินการตามพฤติกรรมพึงประสงค์ G3 (จี-ทรี) Good ดี ด้วยใจรับผิดชอบ-Great เก่ง ทันโลกธุรกิจ-Growth to success กล้า เพื่อความสำเร็จ เชื่อมั่นว่า CEO ท่านใหม่ จะสามารถสานต่อ และนำ IRPC ไปสู่วิสัยทัศน์ได้อย่างแน่นอน” นายชวลิตกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ นายชวลิต ทิพพาวนิช จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งซีอีโอไออาร์พีซี ในวันที่ 30 กันยายน 2565 นี้ เนื่องจากเกษียณอายุราชการ