หมากอ่วม-ต้นทุนส่งออกพุ่ง ค่าผ่านทางเมียนมาไปอินเดียเพิ่ม100%

hmak

“หมาก” พืชส่งออกอ่วมหลายเด้ง ราคาดิ่ง สงครามในเมียนมาทำพ่อค้าถูกชาร์จค่าผ่านทางไปอินเดียสูงกว่า 100% กระทบต้นทุนส่งออก ความต้องการลดฮวบ พ่อค้ากดราคาเกษตรกร

แหล่งข่าวจากผู้ค้าหมากรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การส่งออกหมากไปตลาดหลักประเทศอินเดียประสบปัญหามาก สาเหตุหลักจาก 1.การขนส่งหมากจากชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อส่งออกไปตลาดปลายทางประเทศอินเดียมีปัญหา เนื่องจากมีการสู้รบกัน และมีการเรียกเก็บค่าอำนวยความสะดวกสูงขึ้นเกือบ 100% ทำให้ผู้ส่งออกกลับมากดราคารับซื้อหมากไทยให้ต่ำลง

2.ประเทศอินเดียออกมาตรการห้ามนำเข้าหมากจากต่างประเทศ เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกหมากของประเทศอินเดียได้รับผลกระทบ จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกหมากของไทย ปัจจุบันราคาหมากแห้งเคลื่อนไหวที่ราคา 8 -17 บาท/กก. และโอกาสที่หมากจะปรับราคาสูงอย่างในอดีต 50-60 บาท/กก.คงยาก

น.ส.ดาเรศร์ กิตติโยภาส นายกสมาคมวิศวกรรมการเกษตรแห่งประเทศไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัยแนวทางการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการส่งออกผลไม้ไทย ซึ่งมี ดร.ประจักษ์ ทรัพย์มณี เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ภายใต้ทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

โดยหมากเป็น 1 ใน 10 ของผลไม้ที่ศึกษา ไทยมีการส่งออกทั้งหมากสดและหมากแห้งปี 2560-2565 ส่งออกเฉลี่ย 2,293 ล้านบาท/ปี ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 16.8% ต่อปี โดยปี 2566 มูลค่าส่งออกรวม 2,556 ล้านบาท ไปตลาดหลักเมียนมา 54.6% รองลงมาเป็นเวียดนาม 18.6% บังกลาเทศ 11.9% อินเดีย 7.3% และ UAE 2.2%

Advertisment

หมากแห้งที่ส่งออกไปเมียนมาส่วนใหญ่ถูกส่งต่อไปประเทศอินเดียและบังกลาเทศ ซึ่งปี 2565 อินเดียนำเข้าหมากจากตลาดโลกสูงที่สุด 274.143 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นนำเข้าจากเมียนมา 47% ศรีลังกา 25% และอินโดนีเซีย 20% ทั้งนี้ หมากที่อินเดียนำเข้าจากเมียนมาส่วนหนึ่งเป็นหมากไทย

ปี 2566 รัฐบาลอินเดียมีมาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ โดยประกาศเก็บภาษีนำเข้าหมากในอัตราที่สูงจากเดิม ซึ่งการนำเข้าหมากของอินเดีย หากไม่ได้รับสิทธิพิเศษต้องเสียภาษีสูงมาก ตามประกาศ CBIC เลขที่ 09/2024-ศุลกากร N.T. โดยอัตราภาษีนำเข้าหมากอยู่ที่ 8,140 เหรียญสหรัฐ/ตัน และต้องเสียภาษีศุลกากรขั้นพื้นฐานอีก 100% ตามมูลค่าที่นำเข้า และห้ามนำเข้าหมากหากราคา CIF ต่ำกว่า 351 รูปี/กก. ยกเว้นนำเข้าเพื่อส่งออกต่อ 100% และนำเข้าในพื้นที่ SEZ (Notification Number 57/2015-2020)

และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีการยกเลิกสิทธิพิเศษแก่เมียนมาในการเก็บภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ สำหรับการนำเข้าสินค้าผ่านพรมแดนอินเดียด้านรัฐมณีปุระ และเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมาทำให้พ่อค้าคนกลางเสียภาษีผ่านแดนสูงมาก ส่งผลให้การซื้อหมากจากไทยลดลง ผู้ที่มีสต๊อกหมากไว้เสี่ยงต่อการขาดทุน ส่วนหมากแห้งที่ไทยส่งออกไปอินเดียโดยตรงมีมูลค่าน้อยมาก

น.ส.ดาเรศร์ กล่าวว่าประเทศอินเดียยังเป็นประเทศที่มีโอกาสในการขยายการส่งออกหมาก โดยรัฐบาลไทยต้องเร่งเจราจาลดมาตรการกีดกันทางการค้า ผ่านกรอบความตกลงเปิดเสรีทางการค้าที่ปัจจุบันมีอยู่ 3 กรอบ ได้แก่อาเซียน-อินเดีย ไทย-อินเดีย BIMSTEC รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งออกหมากผ่านช่องทางใหม่ แทนการส่งออกผ่านเมียนมา

Advertisment

ส่วนตลาดรอง เช่น เวียดนามที่ซื้อไปแปรรูปส่งต่อไปจีน รวมถึงบังกลาเทศมีการนำเข้าหมากในตลาดโลกมูลค่าประมาณ 33.3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็นการนำเข้าจากอินเดีย 35% อินโดนีเซีย 33% และไทย 26% มีผลการศึกษาว่าชาวบังกลาเทศ 33-35% นิยมบริโภคหมาก

อินเดียและบังกลาเทศห้ามนำเข้าหมากข้ามพรมแดนจากเมียนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกหมากของไทย ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกผ่านพรมแดนเมียนมา โดยตลาดบังกลาเทศมีการเปลี่ยนแปลงสูง และเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ

จึงควรศึกษาและวิเคราะห์ตลาดให้ชัดเจน ภายในกรอบการเจรจาการค้า BIMSTEC รวมทั้งโลจิสติกส์ อาจขนหมากจากภาคใต้ผ่านท่าเรือระนอง ไปท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศ แทนส่งออกผ่านเมียนมา

น.ส.ดาเรศร์กล่าวต่อไปว่า ยังมีตลาดต่างประเทศอีกจำนวนมากที่ต้องการหมากไทย จึงควรส่งเสริมการส่งออกหมากไปยังตลาดใหม่ เช่น สหราชอาณาจักร และ UAE ซึ่งยังนำเข้าจากไทยต่ำ แต่นำเข้าหมากจากตลาดโลกสูง เนื่องจากแนวโน้มมีผู้อพยพจากอินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน เอเชีย และแอฟริกาตะวันออกเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงตลาดสหรัฐอเมริกาต้องการหมากไทยไปเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมสี เพื่อทำสีย้อมผ้า และเครื่องหนังจากธรรมชาติ