เลือกตั้งปี’66 คาดเงินสะพัด 4 หมื่นล้าน ค่าแรง 600 บาทจะผลักภาระให้เอกชน

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

ธนวรรธน์ เผยเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังคงท้าทาย คาดการณ์การเลือกตั้งปีหน้า เงินสะพัด 4 หมื่นล้านบาท ขึ้นค่าแรง 600 บาท จะผลักภาระให้เอกชน

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีปัจจัยท้าทายโดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และกระทบมาถึงภาคการส่งออกของไทยด้วย

พร้อมกันนี้ยังต้องจับตานโยบาย Zero COVID ของประเทศจีนว่าจะเริ่มผ่อนคลายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็มีความเคลื่อนไหวว่าจีนจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การท่องเที่ยวในภูมิภาครวมถึงไทยดีขึ้น คาดจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยกว่า 4-5 ล้านคน

“ถ้าเศรษฐกิจจีนฟื้นในปีหน้าจะทำให้ เศรษฐกิจในอาเซียน เอเชีย ไทยฟื้นตัวได้ดี ไม่ซึมตัวหรือทรุดตัว ซึ่งต้องติดตามมาตรการผ่อนคลายของจีน ส่วนคาดการณ์การเติบโตปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5-4% การส่งออกขยายตัว 2-3%”

ส่วนการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 จะทำให้มีเม็ดเงินที่มองเห็นและมองไม่เห็นสะพัดในระบบเศรษฐกิจ รวม 4 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงจะเกิดการจ้างงาน จ้างผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกรวมแล้ว 7-8 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ปี 2566 ให้เพิ่มขึ้นอีก 0.4-0.6%

นายธนวรรน์กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ที่พรรคการเมืองนำมาใช้หาเสียงนั้น มองว่าการกำหนดเป้าหมายค่าแรงดังกล่าวจะเป็นภาระหนักสำหรับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นการทยอยปรับขึ้นภายใน 4 ปี หรือปี 2570 ก็จะเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นถึง 40% หรือเฉลี่ยปีละ 10%

ดังนั้น อยากจะให้มองเป้าหมายเรื่องการทำให้เศรษฐกิจเติบโต เพราะเมื่อเศรษฐกิจในประเทศดีแล้ว เชื่อว่าภาคเอกชนก็จะมีความพร้อมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจได้ เพราะหากดูความเป็นจริงในปัจจุบันในหลายภาคส่วนโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะมีการจ้างค่าแรงขั้นต่ำสูงถึง 800-1,000 บาทต่อวัน

นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทยยังขาดแรงงานอยู่ 3-5 ล้านคน ยังต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในระบบ พร้อมกันนี้ หากแรงงานมีทักษะ ผู้ประกอบการเองก็มีการให้ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าปัจจุบันอยู่มาก และพยายามให้ค่าแรงที่สูงเพื่อดึงแรงงานเข้ามาทำงานในระบบอยู่