ธุรกิจรุกเจรจารัฐค่าไฟแพง ยื่นคำขาดตรึงค่า Ft-ขู่ขึ้นราคาสินค้า

ค่าไฟ

ภาคเอกชนยื่นคำขาดขอรัฐตรึงค่าไฟฟ้ารอบ Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ไว้ที่อัตราเดิมแจงทุกอุตสาหกรรมผลิต-บริการเดือดร้อนหนัก ต้นทุนสินค้าพุ่งพรวด ส.อ.ท.ขู่ปรับขึ้นราคาสินค้า5-12% ทั้งเหล็กเส้น-อะลูมิเนียม-สิ่งทอ-โรงน้ำแข็ง-บ่อเลี้ยงกุ้งอ่วม ลามไปถึงค่าชาร์จไฟรถอีวีในปีหน้า ห้างค้าส่ง “แม็คโคร” โอดค่าไฟทำต้นทุนพุ่งทุกสาขา ด้าน กกพ.ถกค่าไฟเครียดทุกวัน ขีดเส้นหาข้อสรุปภายใน 15 ธ.ค.นี้ ลุ้นเคาะค่าไฟหน่วยละ 5.37-6.03 บาท กกร.ยกทัพพบ “สุพัฒนพงษ์” หาทางออก

ความกังวลในการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในรอบอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่า Ft งวด 1/2566 (ม.ค.-เม.ย.) กำลังบานปลายอย่างหนัก เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นค่า Ft จาก 2 เหตุผลหลัก

ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น กับการลดหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวนมากกว่า 120,000 ล้านบาท ที่เกิดจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ.ยอมแบกรับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไว้มาไม่ต่ำกว่า 4 รอบ Ft ซึ่งเกินกว่าความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟฟ้าของ กฟผ.ไปแล้ว

โดยค่าไฟฟ้าในต้นปี 2566 มีแนวโน้มว่าจะต้องขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 บาท/หน่วย จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ได้ยื่นข้อเสนอขอให้ “ตรึงราคา” ค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.72 บาท/หน่วยต่อไป

เนื่องจากภาคเอกชนเองก็ไม่สามารถที่จะแบกรับค่าไฟฟ้าที่จะต้องปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยที่ไม่ส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่เกิดจากค่าไฟฟ้าไปให้กับผู้ใช้สินค้าและบริการได้ และเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ทาง กกร.ได้เข้าพบ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือเรื่องการตรึงค่าไฟฟ้าด้วย

15 ธ.ค.สรุปค่า Ft เก็บเท่าไหร่

ล่าสุด นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ.ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องค่าไฟฟ้าทุกวัน จากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการพิจารณาปรับค่า Ft งวด 1/2566 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในหลายประเด็น

อย่างไรก็ตาม กกพ.จะต้องพิจารณาหาข้อสรุปเรื่องการปรับค่าไฟฟ้าให้ได้ภายในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เพื่อให้การประกาศค่า Ft งวด 1/2566 บังคับใช้ได้ทันในวันที่ 1 ม.ค. 2566

“กกพ.ได้รับทราบแรงกดดันจากภาคเอกชนที่เสนอขอให้ตรึงค่าไฟฟ้า (4.72 บาท/หน่วย) ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า แต่ทาง กกพ.จะพิจารณาอย่างรอบด้านในทุกประเด็น โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

ในขณะนี้ที่ประสบปัญหาราคาสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2566 และเราขาดแคลนก๊าซ ประกอบกับ กฟผ.เองก็แบกรับภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้ามามาก จนตอนนี้ก็แบกไม่ไหวแล้วจึงต้องให้ทาง ปตท.เข้ามาช่วยพิจารณาจัดสรรวงเงิน 6,000 ล้านบาท (เดือนละ 1,500 ล้านบาท จากโรงแยกก๊าซมาเป็นส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับ กฟผ.) เราได้ตระหนักดีอยู่แล้ว” นายคมกฤชกล่าว

ทั้งนี้ แนวทางที่ กกพ.เปิดรับฟังความเห็น 3 แนวทางในการขึ้นค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย กรณีที่ 1 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 224.98 สตางค์/หน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย

และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์/หน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน จำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาท/หน่วย

กรณีที่ 2 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 191.64 สตางค์/หน่วย แบ่งเป็น ค่า Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์/หน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี

โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาท/หน่วย และกรณีที่ 3 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย โดย กฟผ.จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาท/หน่วย

ขู่ปรับราคาสินค้า

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้า (Ft) ที่แพงขึ้นว่า สาเหตุที่พลังงานไทยแพง เนื่องจากการปล่อยให้เอกชนถือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า “มากกว่า” กฟผ. และยังคาดการณ์ดีมานด์การใช้ไฟฟ้าสูงเกินไป

ทาง ส.อ.ท.ได้เรียกร้องกับรัฐบาลถึง 7 ครั้ง ให้ทยอยการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารวมถึงชะลอขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ออกไปก่อน การขอรับอนุญาตติดตั้งโซลาร์ในสถานประกอบการ และการปรับสูตรโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ “แต่รัฐบาลเงียบและเพิกเฉยต่อข้อเสนอของเอกชนภาคอุตสาหกรรม”

และในการประชุม กกร.ในครั้งถัดไป ภาคเอกชนก็จะคงยืนยันข้อเสนอให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ออกไปก่อน เนื่องจากงวดก่อนนี้รัฐปรับขึ้นไปแล้ว ทำให้ค่าไฟพุ่งถึง 17% หากปรับค่า Ft ขึ้นอีกก็จะเป็นการปรับขึ้นครั้งรุนแรงมากถึง 2 ครั้งติดต่อกัน

มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไทย “สูงกว่า” เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญจน ส.อ.ท.เองกังวลว่า จะเกิดการ down sized ธุรกิจ และย้ายฐานการผลิตในปี 2566 เกิดขึ้นจากปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นได้

“กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นก็คือ เซรามิก เยื่อกระดาษ รวมถึงอุตสาหกรรมแก้ว เมื่อต้นทุนขึ้น การตรึงราคาสินค้าที่ขึ้นอยู่กับการขึ้นราคาพลังงาน มันเป็นจิตวิทยา ถ้าเราชะลอไม่ปรับขึ้นมันก็จะกดราคาอยู่ทั้งหมด ถ้ารัฐไม่ชะลอ เราก็คงต้องปรับราคาสินค้ารอบนี้ขึ้นอีก 5-12%” นายเกรียงไกรกล่าว

ล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เห็นชอบให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าโซลาร์ได้เกิน 1 เมกะวัตต์ (MW) โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตการตั้งโรงงาน หรือใบ รง.4 แล้ว ในส่วนนี้ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าให้โรงงานสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ “ตลาดเสรีคือคำตอบที่ ส.อ.ท.อยากเห็น”

แม็คโครโอดไฟแพงทำต้นทุนพุ่ง

นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน Opportunity Day (8 ธ.ค.) ว่า ค่าไฟฟ้าเป็นค่าใช้จ่ายอีกตัวหนึ่งที่เป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการมาก ซึ่งที่ผ่านมาค่าไฟฟ้าก็ทยอยปรับขึ้นมาแบบยั้งไม่อยู่ เนื่องจากบริษัทโอเปอเรตจำนวนสาขาของทั้งแม็คโคร และโลตัส รวมกันทั้งสิ้นเกือบ 3,000 สาขา

เพราะฉะนั้น ค่าไฟฟ้าจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายบริษัทเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 เดือนกันยายนเป็นต้นมา ปรากฏค่าไฟฟ้าก็ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่บริษัทจะต้องพยายามหาทางที่จะลด ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะได้มีเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาสาขาไปแล้วจำนวนหนึ่งก็ตาม

อะลูมิเนียมต้นทุนเพิ่ม 8,000 ล้าน

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่กำลังทยอยปรับขึ้นเรื่อย ๆ กระทบกับผู้ผลิตอะลูมิเนียมอย่างมาก เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนหลักของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะมีการใช้ทั้งไฟฟ้าเเละก๊าซโดยรวมทั้ง 2 ประเภท 40-50% ของต้นทุนทั้งหมด

ในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีการใช้ไฟฟ้าร่วมกันประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมกับอุตสาหกรรมหล่อชิ้นส่วนอะลูมิเนียมอีก 4,000 ล้านบาท หรือโดยรวมจะมีการใช้ไฟฟ้ารวม 10,000 ล้านบาท ในกรณีที่ค่าไฟฟ้าในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 บาท/หน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านบาท โดยประมาณ

ซึ่งถ้ารวมกับอุตสาหกรรมหล่อชิ้นส่วนอะลูมิเนียมด้วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มเป็น 13,000 ล้านบาท โดยประมาณ นั่นหมายถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าในการผลิตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30%

“แนวทางการบริหารรับมือเรื่องต้นทุนค่าไฟระยะสั้นยังต้องขอให้ภาครัฐช่วยตรึงราคาค่าไฟฟ้าอย่างต่ำ 6 เดือน เพื่อให้ภาคเอกชนได้ปรับตัว ซึ่งถ้าเทียบกับเวียดนาม ทางภาครัฐสามารถคุมราคาค่าไฟฟ้าได้ที่ 2.8 บาท/หน่วย ซึ่งตรงนี้จะกระทบกับความสามารถในการเเข่งขันของผู้ผลิตภายในประเทศเป็นอย่างมาก และคาดว่าคงต้องมีการปรับราคาสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนหลัก

ส่วนในระยะยาวรัฐบาลควรหามาตรการที่เหมาะสม เช่น แหล่งก๊าซราคาถูก เพื่อลดต้นทุนในการผลิตกระเเสไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบเป็นวงกว้าง ภาครัฐควรสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาด โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินกลับ (net metering) จากภาคอุตสาหกรรมในราคาที่เหมาะสม ขณะที่ภาคเอกชนต้องเร่งลงทุนพลังงานทางเลือก เช่น โซลาร์เซลล์

เหล็กเส้นกระทบหนักสุด

ด้านนายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีล อินดัสทรี (SSI) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มเหล็กสนับสนุนท่าทีของประธาน ส.อ.ท. ในการขอให้รัฐพิจารณาตรึงค่าไฟฟ้าไว้ก่อน เพราะอุตสาหกรรมเหล็กจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง มีสัดส่วนคิดเป็นต้นทุนอันดับ 2 รองจากต้นทุนวัตถุดิบเหล็ก

ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากต้นทุนเหล็กปรับสูงขึ้นไปแล้วรอบหนึ่ง เคยปรับขึ้นราคาไปแล้ว 2 เท่า หากมีการปรับค่าไฟฟ้ารอบนี้ก็จะกระทบต่อต้นทุนเหล็กอีก

“การปรับขึ้นราคาเหล็กมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทเหล็กและการใช้พลังงานของแต่ละโรงงาน ยกตัวอย่าง เช่น เหล็กเส้นทรงยาว จะได้รับผลกระทบสูงสุดเพราะต้องใช้ไฟฟ้าในการหลอมเศษเหล็กวัตถุดิบมาผลิตเป็นเหล็กเส้นก็อาจจะต้องมีการปรับขึ้นราคา ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง และประเทศไทยมีการใช้เหล็กชนิดนี้คิดเป็น 40% ของความต้องการใช้เหล็กทั้งประเทศ แต่ก็มีบางโรงงานที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติในการให้ความร้อนมากกว่าไฟฟ้าก็อาจจะกระทบน้อยกว่า”

สิ่งทอขึ้น 10% หวั่นกำลังซื้อหด

นายอัมรินทร์ ศรีสุภาพพาณิชย์ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับค่าไฟฟ้าผ่านทางค่า Ft รอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะ “โรงงานปั่นด้าย” จะได้รับผลกระทบสูงสุด

โดยปัจจุบันต้นทุนการผลิตปรับขึ้นประมาณ 20% หากมีการปรับค่าไฟฟ้าคาดว่าจะต้องปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปลายทางขึ้นอีกอย่างน้อย 5-10% ในปี 2566 ทั้งนี้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่เพียงกระทบต่อราคาสินค้า แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถแข่งขันของไทยด้วย

เพราะเทียบปัจจุบันต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทย “แพงกว่า” เวียดนามที่ 2 บาทกว่าต่อหน่วย ด้านโรงงานผู้ผลิตเองยังมีอุปสรรคหลายด้าน เช่น ค่าบาทก็หายไป 10% จากการสะวิงค่าเงินที่ 37-38 มาเป็น 34-35 บาท และรายใดที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินก็ยังได้รับผลกระทบจากเรื่องดอกเบี้ยอีก ซึ่งปัจจัยดอกเบี้ยอีกด้านก็จะกระทบต่อกำลังซื้อด้วย เพราะต่อให้ขึ้นค่าแรง แต่ก็ไม่ใช่การปรับฐานทั้งหมด หากโรงงานค่าแรงสูงกว่าก็ไม่ปรับ จะเป็นการปรับขึ้นกันตามสัดส่วน

“ตอนนี้คนที่อยู่เส้นทางตรงกลางต้องคอยดูดซับ ขายได้ก็ขายไปก่อน แต่ช้าเร็วยังไงต้องขึ้นราคา เพราะค่าไฟมาขนาดนี้แล้ว อย่างไรก็ต้องขึ้น แต่จะขึ้นช้า ๆ สมมุติต้นทุนไป 20% สินค้าอุปโภคบริโภคไปได้เต็มที่ก็ 5% เพราะคนไทย sensitive กับราคา หรือไม่ก็เปลี่ยนโมเดล ผ้าก็บางลงหน่อย แต่ว่าเราก็พยายามจะให้มันไปได้ แต่ถ้าคนขายสินค้าคุณภาพเพราะเขาฟิกซ์มาตรฐานอย่างนี้ไว้ หากไม่ขึ้นราคาก็ไม่ได้ ขนาดบางยี่ห้อก็จะปรับราคาหลังจากลอตเก่าหมด ก็เริ่มปรับในลอตใหม่ไปแล้ว” นายอัมรินทร์กล่าว

โรงน้ำแข็งอ่วมต้องขึ้นค่าน้ำแข็ง

โรงงานน้ำแข็งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างหนัก จากการสอบถามเจ้าของโรงงานน้ำแข็งในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปี 2565 มีการปรับขึ้นค่า Ft ไปแล้วถึง 3 รอบ (รอบละ 4 เดือน) โดยรอบแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ค่า Ft อยู่ที่ 0.0139 สตางค์/หน่วย ทางโรงงานเสียค่า Ft อยู่ที่ 1,270 บาท/เดือน พอมาถึงเดือนกรกฎาคมค่า Ft เพิ่มขึ้นมา 0.2477 สตางค์/หน่วย ทางโรงงานเสียค่า Ft อยู่ที่ 35,000 บาท/เดือน

ล่าสุดค่า Ft ปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนกันยายนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 0.93 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้โรงงานเสียค่า Ft สูงถึงเดือนละกว่า 100,000-120,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 200% ถือเป็นต้นทุนที่หนักหนาสาหัสมากของโรงงานผลิตน้ำแข็ง เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็น 80% ของการผลิตน้ำแข็ง

“ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 40% ทางโรงน้ำแข็งได้ปรับราคาขายน้ำแข็งมาแล้ว 3 ครั้ง โดยราคาน้ำแข็งหน้าโรงงานปัจจุบันอยู่ที่ 21-22 บาทต่อถุง (น้ำหนัก 22 กิโลกรัมต่อถุง) หรือตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 1 บาท ล่าสุด กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำแข็งได้หารือในสมาคมโรงงานน้ำแข็ง

คาดว่าจะต้องมีการปรับราคาน้ำแข็งเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2566 เป็น 2-3 บาท/กิโลกรัม ด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อให้สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยลดค่า Ft ลงมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้” เจ้าของโรงงานน้ำแข็งที่เชียงใหม่กล่าว

ห้องเย็นขอค่า Ft เท่าเดิม

นายณัฐภูมิ เปาวรัตน์ กรรมการบริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจคลังสินค้าไซโลและห้องเย็น กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิกรายกลางและรายเล็กได้มีการหารือเข้ามายังสมาคมเกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า Ft พร้อมกับแสดงความต้องการให้รัฐบาลคงอัตราค่า Ft เท่ากับปี 2565

โดยเฉพาะกิจการที่เป็นคลัสเตอร์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ มีช่องทางที่จะขอรับการส่งเสริมเพิ่มเติมอะไรได้บ้าง เช่น กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประมง การบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งสมาคมจะได้ยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาลผ่านทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“ผู้ประกอบการธุรกิจห้องเย็นได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยต้นทุนค่าไฟของธุรกิจห้องเย็นอยู่ประมาณ 3-4% ของต้นทุนทั้งหมด ตอนนี้ต้องพยายามลดต้นทุน หาทางใช้ไฟอย่างประหยัด ต้องหันไปใช้พลังงานทางเลือก

เพราะการผลักภาระด้วยการปรับราคาค่าบริการให้กับลูกค้าตอนนี้เป็นเรื่องยาก สมาคมเข้าใจสมาชิกรายกลาง-รายเล็กที่ได้รับผลกระทบ ประหยัดต้นทุนได้น้อย เพราะการลงทุน เช่น โซลาร์รูฟ 1 MW จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท อาจจะลงทุนได้ไม่ครบ” นายณัฐภูมิกล่าว

ผู้เลี้ยงกุ้งแห่ติดโซลาร์

ด้านนายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่า Ft มีผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งแน่นอน เพราะต้องใช้ไฟมาปั่นมอเตอร์ไฟฟ้าในการผลิตออกซิเจนในบ่อกุ้ง ปกติกุ้ง 1 กิโลกรัม แบ่งเป็น ต้นทุนค่าไฟประมาณ 10-12 บาท ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แจ้งว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ราคาค่า Ft จะปรับขึ้นอีก

คาดว่าค่า Ft จะทำให้ต้นทุนพุ่งขึ้นไป 18-20 บาท นอกจากนี้ในห่วงโซ่การผลิต ผู้เลี้ยงจะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย จะทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก “กำไรจะหดลง” แต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ตามต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะราคากุ้งขึ้นกับกลไกตลาด ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องพยายามบริหารต้นทุนอย่างละเอียด ต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือก เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ เข้ามาช่วยลดต้นทุน

“ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาล แต่ถามว่าจะได้รับการช่วยเหลืออะไรหรือไม่ เป็นเรื่องยาก เราไม่ได้คาดหวังอะไร เราต้องมาบริหารจัดการต้นทุนของเราเอง เช่น การสร้างวินัยในการใช้ไฟให้พนักงาน นอกจากนี้กำลังศึกษากันว่า ถ้าค่า Ft ปรับขึ้นไประดับ 600-700% การปรับมาใช้พลังงานทางเลือกจะเร็วขึ้น

ตอนนี้หลายฟาร์มเริ่มใช้โซลาร์เซลล์กันแล้ว ที่ฟาร์มของผมจะเริ่มใช้ปีหน้า ทำระบบใหญ่ เดิมเราคำนวณค่าใช้จ่ายการลงทุนต่อยูนิต 3 ล้านกว่าบาท กว่าจะคุ้มทุนใช้เวลา 7-8 ปี แต่ถ้าค่า Ft ปรับขึ้นระดับนี้ ผมเชื่อว่าความคุ้มค่าในการลงทุนจะถอยลงมาเหลือ 5 ปีเท่านั้น” นายสมชายกล่าว

สอดคล้องกับชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี โดยนายพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ ประธานชมรม ก็ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่องความเดือดร้อนจากการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการปรับขึ้นค่า Ft มาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตกุ้งต่อกิโลกรัมขึ้นไปประมาณ 50% พร้อมกับขอให้ กฟภ. “ลดทอนค่า Ft ลงบ้าง” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้ง

ใช้อีวีจ่ายค่าชาร์จไฟแพงแน่

นอกจากกลุ่มผู้ผลิตที่ประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้นจากอัตราค่าไฟที่แพงขึ้น ส่งผลให้กำลังต่อหน่วยลดลง ล่าสุดผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ยังมีความเสี่ยงต้องจ่ายค่าชาร์จแบตเตอรี่รถอีวีสูงตามไปด้วย จากการสอบถามผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ MG i-SMART, GWM, EA Anywhere, Greenlot ของค่ายเชลล์, MEA EV ของการไฟฟ้านครหลวง, PEA Volta ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ PTT EV Station ของกลุ่ม ปตท.

ส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันว่า หากอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยรอบใหม่เพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับค่าบริการให้สอดรับกับต้นทุน ซึ่งปกติค่าบริการชาร์จไฟปัจจุบันจะอยู่ที่ 7-11 บาท/หน่วย แล้วแต่พื้นที่และช่วงเวลาการใช้งาน

ด้านร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การปรับค่าไฟฟ้าที่อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้านั้น กรมติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยังคงขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าในการตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน การพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป แต่จะไม่ได้มีการอนุญาตให้โดยอัตโนมัติ