ปีใหม่ 2566 คึกคักครั้งแรก คาดเงินสะพัดทะลุ 103,039 ล้านบาท

การใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566

ศูนย์พยากรณ์ฯ เผยพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 คึกคัก มีเงินสะพัดกว่า 103,039 ล้านบาท ขยายตัว 20.1% ครั้งแรกในรอบ 17 ปี

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง “พฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 และทรรศนะต่อประเด็นต่าง ๆ” พบว่าการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 คาดว่ามีเงินสะพัดอยู่ที่ 103,039 ล้านบาท ขยายตัว 20.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นครั้งแรกที่มีเงินสะพัดทะลุแสนล้านบาท

นอกจากนี้ จะพบว่าประชาชนมีการจับจ่ายในช่วงเทศกาลอย่างคึกคักและเป็นการกลับมาจับจ่ายที่มีความสุขในรอบ 3 ปี และจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีความทะยานขึ้นอย่างสดใส และประกอบกับมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ที่รัฐบาลออกมาเป็นของขวัญปีใหม่ อย่างช้อปดีมีคืน พร้อมกับเราเที่ยวด้วยกัน คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเฉลี่ยกว่า 60,000 ล้านบาท จะส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ขยายตัวเพิ่ม 0.1 ถึง 1% จะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัว 3.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ประชาชนส่วนใหญ่มองปีใหม่นี้คึกคัก

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่สำรวจระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม 2565 จำนวน 1,345 ตัวอย่างทั่วประเทศ ประชาชนจะใช้จ่ายให้กับตัวเองและผู้อื่น 69.8% โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของการสังสรรค์ จัดเลี้ยง เดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ทำบุญทางศาสนา และพบว่าจะมีการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น และของขวัญที่นิยมซื้อในช่วงปีใหม่ยังเป็นการซื้อกระเช้าของขวัญเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย

ขณะที่การวางแผนออกนอกพื้นที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนใหญ่จะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด และภูมิภาคที่ไปเที่ยวมากสุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเวลาที่วางแผนไปเดินทางท่องเที่ยว จะอยู่ในช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566

ด้านภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 54.4% ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มีผล 80.4% ภาระหนี้สินมีผล 55.6% สำหรับแหล่งที่มาของการใช้จ่าย 63.6% ยังมาจากเงินเดือนรายได้ตามปกติ

บรรยากาศในช่วงเทศกาลปีใหม่ 48.3% มองว่าคึกคักกว่าปีที่แล้วและการใช้จ่ายโดยรวมของประชาชนอยู่ที่ประมาณ 103,039 ล้านบาท

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย

ส่วนใหญ่ประชาชนขอพรให้พระองค์ภาฯ ทรงหายจากพระอาการประชวร

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คําอวยพรที่ท่านอยากอวยพรให้ประเทศไทยส่วนใหญ่ 90.9% ขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงหายจากพระอาการประชวรในเร็ววัน 84.9% ขอให้พระราชินีในรัชกาลที่ 9 และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงมีพระพลามัยแข็งแรง 80.4% ขอให้เศรษฐกิจดีขึ้น 78.5% ขอให้การเมืองมีเสถียรภาพ 76.1% ขอให้คอร์รัปชั่นหมดไป

สิ่งที่ต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาลมากที่สุด 37.6% การปฏิรูปภาครัฐปราบปรามการทุจริต รัฐบาลควรมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ 26.7% มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายเงินภายในประเทศ อาทิ คนละครึ่ง 12.9% ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน 7.9% เพิ่มการจ้างงานและค่าแรงให้กับประชาชน

ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงในปี 2566 ส่วนใหญ่ประชาชนยังให้ความเป็นห่วงในเรื่องของยาเสพติด เศรษฐกิจ ค่าครองชีพ การตกงาน หนี้สินในปัจจุบัน คอร์รัปชั่น และการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประเมินผลการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ ในการแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้คะแนน 7.9 คะแนน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 6 คะแนน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 5.9 คะแนน


สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการในปี 2566 กระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลการมีงานทำ สร้างรายได้ แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาเกษตร แก้ปัญหายาเสพติด ประชาชนต้องการให้มีมาตรการใดมากที่สุด 50.9% คนละครึ่ง 27.7% เราเที่ยวด้วยกัน 21.4% ช้อปดีมีคืน ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการท่องเที่ยว 89.5% บอกว่าไม่มี

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย