ข่าวเศรษฐกิจร้อน ปีเสือไฟ วิกฤตพลังงาน สินค้าพาเหรดขึ้น

เศรษฐกิจร้อน

ปีเสือไฟที่กำลังผ่านไป สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่เพียงต้องประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 ฟาดหาง แต่ยังต้องเผชิญวิกฤตซ้อนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ กระทบต่อราคาพลังงานและราคาธัญพืชวัตถุดิบอาหาร “ประชาชาติธุรกิจ” ไล่เรียงประเด็นข่าวร้อนรอบปีในสาขาเกษตร-พาณิชย์-อุตสาหกรรม-พลังงาน ผ่านวิกฤตข่าวร้าย-ข่าวดีอะไรมาบ้าง

เรื่องพลังงานน่าจะเป็นวาระหลักในปี’65 ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 7 ปี จากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครนในช่วงต้นปี กลุ่มม็อบรถบรรทุกกดดันรัฐบาลให้ช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร

เพื่อพยุงภาคการขนส่งและต้นทุนการผลิตสินค้า กองทุนน้ำมันฯติดลบทะลุ 1.2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก จนต้องขยายเพดานเงินกู้

ต่อเนื่องด้วยราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น การรับไม้ต่อแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเอราวัณในเดือนเมษายน 2565 ที่ไม่สามารถฟื้นกำลังการผลิตได้ตามแผน กดดันให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยพุ่งสูงขึ้น

ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เริ่มเห็นสัญญาณและทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร 3 งวดติดต่อกัน นับจากงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ปรับ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ตามด้วยงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ปรับขึ้นอีก 24.77 สตางค์ต่อหน่วย

และงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 อีก 93.43 สตางค์ต่อหน่วย จนทำให้มีอัตราค่าไฟฟ้า 4.72 บาท และล่าสุดแนวโน้มค่าไฟฟ้ายังพุ่งต่อสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ที่จะปรับขึ้นในส่วนของการใช้ไฟภาคอื่นที่ไม่ใช่ครัวเรือน

ของแพงมาแรงที่สุด

ตามมาด้วยข่าว “การปรับขึ้นราคาสินค้า” นำโดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 บาทต่อซองครั้งแรกในรอบ 15 ปี ให้ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (มาม่า) โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย (ไวไว) วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร (ยำยำ)

ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 จากต้นทุนที่พุ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม น้ำมันดีเซลขึ้นราคา จนผู้ประกอบการขู่จะหันไปส่งออกราคาดีกว่าที่จะขายในประเทศการขึ้นราคาครั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าถ้าวัตถุดิบหรือต้นทุนลดลงต้องปรับราคาลง นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กก.ละ 1.50 บาท จากต้นทุนการเลี้ยงที่ปรับสูงขึ้นด้วย ไม่นับรวมราคาสินค้าเกษตรผักและเนื้อหมูที่สะวิงและปรับตัวสูงขึ้นไปเช่นกัน

ตามด้วยข่าวข้าวหอมมะลิไทยพ่ายแพ้ต่อข้าวผกาลำดวน กัมพูชา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมข้าวโลกปี 2022 แต่ผลการตัดสินปรากฏว่าข้าวหอมมะลิกัมพูชา ชื่อ ผกาลำดวน ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลก

โดยเฉือนเอาชนะข้าวหอมมะลิ 105 แชมป์เก่าจากไทย ถือเป็นการเสียแชมป์คาบ้าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ข้าวหอมมะลิ 105 เคยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวโลกถึง 2 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2563-2564 แต่หากย้อนข้าวหอมมะลิของไทยเคยชนะการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกมาได้ 7 ครั้ง

ภาคเอกชนชี้ว่า การแพ้ไม่กระทบการส่งออกข้าวไทยปี’65 ยังมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน และอาจทะลุ 8 ล้านตัน ในปี’66 แต่ขอให้รัฐบาลมุ่งพัฒนาพันธุ์ข้าวมาแข่งขันสู้คู่แข่งให้ได้โดยเร็ว

ปีทองการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ต้องยกให้เป็นปีทองการค้าระหว่างประเทศ ผลจากการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 30 ปี ทำให้ยอดขายสินค้าหลายรายการไปยังตลาดตะวันออกกลางพุ่ง

ต่อเนื่องด้วยการที่ไทย เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ทิ้งทวน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 แม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะขาดผู้นำจากสหรัฐอเมริกาอย่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ติดภารกิจ และผู้นำจากรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ติดปัญหาระหว่างประเทศ จึงไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ได้ และได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมงาน

แต่ไม่ถึงกับกร่อย เพราะยังมี “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เดินทางมาร่วมงาน พร้อมด้วยแขกพิเศษอย่าง “เอ็มมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร

และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่เยือนประเทศไทยครั้งแรกในรอบหลายปี หวังว่าผลสำเร็จของเอเปคจะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบาย BCG เกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคต

3 ปมร้อนวงการเกษตร

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นปีประเด็นร้อน นสพ.สรวิศ ธานีโต อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ออกมายอมรับ พบโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever : ASF) ทางการเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเปิดปมมาจากคณะทำงานด้านวิชาการแถลง พบโรค ASF ในสุกรจากโรงฆ่าจังหวัดนครปฐม ซึ่งวิกฤตนี้ถือเป็นโรคระบาดร้ายแรงในหมู

อีกทั้งเจอปัจจัยต้นทุนการผลิต วัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้นทุนพลังงาน จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายเล็กล้มหายไปจากระบบราว 50% ปัจจุบันเกษตรกรต้องการกลับมาเลี้ยงใหม่ แต่ยังติดปัญหาเงินทุน โรคระบาดที่ยังคุมไม่ได้และยังมี “หมูเถื่อน” ทะลักเข้ามาสู่ตลาดจำนวนมาก กระทบต่อผู้เลี้ยง

กระทั่งเข้าสู่ช่วงกลางปีประเทศไทยก็ต้องเข้าสู่วิกฤตปัญหาการบริหารจัดการน้ำอีกครั้ง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญภาวะ “ลานีญา” ที่พีกสุดในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2565

ซึ่งจะมีปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ทำให้พายุก่อตัวเคลื่อนเข้าประเทศไทย เกิดฝนตกมากซ้ำเติมน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตรไปเกินครึ่งประเทศ ภาวะฝนตกต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤศจิกายน แต่เป็นความโชคดีที่ไทยไม่ต้องเผชิญภาวะมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 2554

นอกจากนี้ ข่าวสะเทือนวงการข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ จากเคส “ยักยอกเงินสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ” เสียหายกว่า 491 ล้านบาท นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความอ่อนแอของกฎหมาย มีช่องโหว่กับบทบาทหน้าที่ของผู้ใช้กฎหมาย ผู้บริหารสหกรณ์ที่จงใจทุจริต ขาดความโปร่งใส เหตุใดปัญหาเดิมจึงวนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเสมือน “แผลอักเสบที่รักษาไม่หาย”

อุตฯบูม อีวี-เหมืองทองไม่แผ่ว

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง ในแวดวงอุตสาหกรรมและเหตุการณ์ที่สำคัญกับภาคการผลิตของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 70% ของ GDP ท็อปข่าวเด่น “ประชาชาติธุรกิจ” 3 อันดับแรกต้อยยกให้ “ไอมอเตอร์บุกจักรยานยนต์ EV” เป้าหมายผลิต 8 พันคัน/เดือน กดราคาสูสีรถน้ำมัน

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังรัฐบาลประกาศนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วยรัฐเองต้องการเดินหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาดและลดภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 บริษัท ไอ มอเตอร์แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด

ในเครือไอ มอเตอร์ ไทยแลนด์ จึงผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ รุ่น Vapor สัญชาติไทย 100% ขึ้นมา จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ I Motor เริ่มให้สั่งจองเดือน พ.ย. 2565 และผลิตไตรมาส 1 ปี 2566 ราคาใกล้เคียงรถที่ใช้น้ำมัน

ตามด้วยดีลใหญ่สุดรอบ 20 ปี WHA-BYD จุดสตาร์ตไทยฮับ EV ดันรายได้โต 2 หลัก ปรากฏการณ์ที่สะเทือนทั้งวงการอุตสาหกรรมและยานยนต์ เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับบริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BYD บนพื้นที่จำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36

เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเเบตเตอรี่ (BEV) กำลังการผลิต 150,000 คัน/ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 17,891 ล้านบาท ผลักดันให้ไทยพร้อมก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ Hub EV

สุดท้ายคือ คดีเหมืองทองอัครา พร้อมเปิดเหมืองปี 2566 ใบอนุญาตครบจับมือ PMR สกัดทองคำ หลังจากที่ บริษัท Kingsgate Consolidated Limited บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรี พื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ถูกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ให้ระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดไปตั้งแต่ปี 2560 ผ่านมา 5 ปี

อัคราฯเตรียมกลับมาเปิดเหมืองอีกครั้ง โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทยอยพิจารณาให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ การคืนประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และพิจารณาคำขอต่ออายุประทานบัตรต่าง ๆ มีผลตั้งแต่ปลายปี 2564 ให้กับอัคราฯ

ซึ่งได้ให้เหตุผลว่า คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่อัคราฯได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม และต่อมาได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560)