รายงานพิเศษ
ย้อนกลับไปดูในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา มีหลาย ๆ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมเหตุการณ์ที่โดดเด่นในรอบปีที่ผ่านมา 10 เหตุการณ์ มานำเสนอ ดังต่อไปนี้
1.สินมั่นคงฯยื่นฟื้นฟูกิจการ-เจ๊งเคลมโควิด
หลังจากธุรกิจเผชิญผลกระทบจากการเข้าไปรับประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” จนปี 2564 “บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK)” ต้องประสบกับผลการดำเนินงานที่ขาดทุนสุทธิเกือบ 5 พันล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีกำไร ซึ่งมาจากการที่ต้องจ่ายเคลมประกันภัยโควิด และผลกระทบยังลุกลามต่อเนื่องมาถึงในปี 2565 นี้ ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะพยายามดิ้นรนหาพันธมิตรเข้ามาเพิ่มทุนตั้งแต่ต้นปี แต่ก็มีอันต้องยกเลิกไปเพราะพันธมิตรขอรอสรุปตัวเลขความเสียหายทั้งหมดก่อน
โดยสุดท้ายแล้ว ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2565 สินมั่นคงฯต้องขาดทุนสุทธิไปราว 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรลดลง จากงวดเดียวกันปีก่อนกว่า 16,000% สุดท้ายบริษัทจึงตัดสินใจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 และศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันถัดมา ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีเดดไลน์ส่งแผนในวันที่ 20 พ.ค. 2566 และคาดว่าจะเริ่มเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการได้ราวเดือน ก.ย. 2566
2.Zipmex เขย่าวงการคริปโตไทย
หลังคริปโตเคอร์เรนซีระดับโลก อย่างเหรียญ LUNA ล่มสลาย นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลชาวไทยก็ต้องตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) แฟลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์สัญชาติไทย ประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 ซึ่งปมปัญหาเกิดจากโปรดักต์ที่ชื่อว่า ZipUp+ มีการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปยังอีกบริษัทในสิงคโปร์ เพื่อนำไปฝากต่ออีกทอด ซึ่งพอบริษัทในต่างประเทศเกิดปัญหาขึ้นมา จึงกระทบชิ่งมาถึงนักลงทุนในไทย
ต่อมากลุ่มนักลงทุนได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม “ผู้เสียหาย Zipmex Thailand” ขึ้นมา เพื่อดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท และทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สั่งให้ Zipmex ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น และเข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
โดย ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ Zipmex และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex รวม 2 กรณี คือ กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งบอร์ด ก.ล.ต.ได้มีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1.92 ล้านบาท และล่าสุด มีปรับในกรณีระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอีก 5.4 แสนบาท ระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet-Zwallet อีก 1.38 ล้านบาท รวมถึงปรับตัวบริษัทอีก 6.95 แสนบาท จากกรณีเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน
โดยเคสนี้กำลังนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อล้อมคอกไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก รวมถึงการดูแลผู้เสียหาย ซึ่งยังต้องติดตามกันต่อไป
3.สองบิ๊กดีล “ยานแม่” ล่ม
หลังเปิดตัว “ยานแม่” หรือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายปี 2564 พร้อมกับประกาศดีลสำคัญ ๆ กับพันธมิตรทางธุรกิจหลายดีลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub Online) ที่ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล
โดย SCBX จะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ Bitkub Online ในสัดส่วน 51% ด้วยมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 17,850 ล้านบาท หรือการลงนามในสัญญร่วมทุนกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เพื่อจัดตั้ง บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) ซึ่ง 2 บริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (digital lending)
ทว่ามาถึงในปี 2565 นี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลตกลงอย่างน่าใจหายทั่วโลก ดีลกับ Bitkub Online ก็มีอันต้องล้มเลิกไป โดยประกาศออกมาในเดือน ส.ค. 2565 แต่ก็ไม่ได้มีการชี้แจงสาเหตุอย่างชัดเจนนัก และต่อมาในเดือน พ.ย. 2565 ทาง AIS ก็ขายหุ้นที่ถือทั้งหมดใน AISCB ให้แก่ SCBX เป็นการปิดฉากดีลประวัติศาสตร์ลงไปอีกดีล
4.ttb แอปล่ม 3 วัน
ในยุคที่โทรศัพท์มือถือแทบจะกลายเป็นอวัยวะสำคัญที่ขาดไม่ได้ของผู้คน การทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ก็ล้วนพึ่งพาแอปพลิเคชั่นบนมือถือแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชั่นของบรรดาแบงก์ต่าง ๆ ซึ่งปีนี้สถานการณ์ระบบขัดข้องหรือ “แบงก์ล่ม” ทำท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลงกว่าปีก่อน ๆ ทว่าเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2565 เกิดเหตุการณ์ ระบบของธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb ขัดข้องนานติดต่อกันถึง 3 วัน (1-3 ก.ย.) ส่งผลกระทบต่อลูกค้าอย่างมาก
จน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกโรงสั่งการให้ ttb เร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบให้ได้อย่างครบถ้วนและทันท่วงที รวมถึงสั่งการให้ ttb จัดทำแผนปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานของระบบ เพื่อให้บริการโมบายแบงกิ้งของ ttb มีความเสถียร โดยให้คณะกรรมการธนาคารกำกับดูแลการนำแผนไปปฏิบัติและประเมินผลอย่างจริงจัง รวมทั้งรายงานผลให้ ธปท.ทราบเป็นระยะ
5.หวยดิจิทัลบูมแก้เกมเกินราคา
หลังจากทำสารพัดวิธีแล้ว ก็ยังแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็หันมาขายสลากผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคากรุงไทย โดยเรียกว่าเป็น “สลากดิจิทัล” ซึ่งเริ่มจำหน่ายงวดแรกเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 เริ่มต้นที่กว่า 5 ล้านใบ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากบรรดานักเสี่ยงโชคเป็นอย่างมาก เพียงวันแรกมียอดจำหน่ายพุ่งกระฉูดถึง 2.4 ล้านใบ จำนวนผู้ซื้อสลากกว่า 6 แสนคน จากจำนวนสลากทั้งหมด 5.2 ล้านใบ และใช้เวลาเพียง 5 วัน ก็ขายเกลี้ยงทั้งหมด สร้างความฮือฮาให้แก่ประชาชน และผู้คนในวงการหวยเป็นอย่างมาก
ต่อมาสำนักงานสลากฯก็ทยอยปรับเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลอีกเป็นระยะ โดยเพิ่มอีกราว 2 ล้านใบ เป็นกว่า 7.1 ล้านใบ ในงวดวันที่ 1 ส.ค. 2565 จากนั้นก็เพิ่มเป็น 9.1 ล้านใบ ในงวดวันที่ 16 ส.ค. 2565 ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่เริ่มดังขึ้นจากผู้เสียประโยชน์ และผู้ค้ารายย่อยบางกลุ่ม
นอกจากนี้ สำนักงานสลากฯได้เพิ่มลูกเล่น โดยในงวดวันที่ 1 ก.ย. 2565 มีการเปิดตัวเลือกในแอป “เป๋าตัง” เพิ่ม ให้ผู้ขายสามารถลดราคาสลากได้ ทำให้ประชาชนสามารถซื้อสลากในราคาที่ถูกกว่า 80 บาทได้ด้วย หลังจากนั้น สำนักงานสลากฯก็ทยอยเพิ่มสลากดิจิทัลงวดละ 1-2 ล้านใบ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 20 ล้านใบ
6.หนี้ครัวเรือนไทยพีกสุด
ต้นปี 2565 เป็นช่วงที่หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จนหลายฝ่ายต้องออกมาส่งเสียงเตือน ขณะที่รัฐบาลประกาศให้ปีนี้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ซึ่งแม้ว่าช่วงปลายปีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเริ่มลดลง ส่วนหนึ่งมาจากจีดีพีที่ขยายตัวได้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นระดับที่น่ากังวล โดยกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อยู่ระหว่างเดินหน้าจัดมหกรรมแก้หนี้ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งในส่วนของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีการจัดไปแล้ว ซึ่งในเดือน ม.ค. 2566 จะมีจัดอีก 2 ครั้ง ที่ชลบุรี และสงขลา
นอกจากนี้ ต้นปีหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการออกเอกสารทิศทางและนโยบาย (directional paper) ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน ตั้งแต่ต้นเหตุยันปลายเหตุ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของบรรดาสถาบันการเงินภายใต้กำกับต่อไป
7.เงินเฟ้อพุ่งถึงยุคดอกเบี้ยขาขึ้น
ปี 2565 เป็นปีแห่ง “ดอกเบี้ยขาขึ้น” อย่างแท้จริง เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือน ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 โดย กนง.ลงมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ในขณะที่แบงก์ยังคงตรึงดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้กันไว้ในรอบนี้
จากนั้นที่ประชุม กนง. รอบวันที่ 28 ก.ย. 2565 ก็มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 อีก 0.25% เป็น 1.00% ส่งผลให้บรรดาแบงก์ต่าง ๆ ออกมาประกาศขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้กัน และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 3 ก็เกิดขึ้น ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ซึ่งคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์อีกเช่นกัน ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.25%
8.เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38 บาท อ่อนสุดรอบ 16 ปี
นอกจากนี้ ในปี 2565 นี้ ยังเป็นปีที่ “ค่าเงินบาท” ผันผวนอย่างมาก โดยต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปมากสุดที่ 32.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะระเบิดขึ้น ซึ่งการเกิดสงครามเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้เอื้อกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้เงินบาททำสถิติอ่อนค่าต่อเนื่องจนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ ถึง 2 ช่วง คือ ในเดือน ก.ย. 2565 และในเดือน ต.ค. 2565 ที่อ่อนค่าไปถึง 38.46 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี
9.หุ้น MORE สั่นสะเทือนตลาดทุนไทย
ประเด็นร้อนสั่นคลอนตลาดหุ้นไทย เมื่อไม่นานมานี้ คือ กรณี “หุ้น MORE” หรือ บริษัทหลักทรัพย์ มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ที่ถูกเรียกกันว่า “ปฏิบัติการปล้นโบรกฯ” ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 โดยหุ้น MORE มีการซื้อขายอย่าง “ผิดปกติ” มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7,142 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด (SET และ mai) โดยเปิดตลาดที่ราคา 2.90 บาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากราคาปิดวันก่อนหน้า จากนั้นราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนราคาต่ำสุด (floor) และ floor ต่อเนื่องอีกในวันถัดมา
ปมเรื่องนี้ คือ การส่งคำสั่งซื้อที่ราคาเดียว โดยคนคนเดียว ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายแห่ง รวมกันถึง 1,500 ล้านหุ้น เป็นวงเงินมาร์จิ้นกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งความเดือดร้อนจะตกมาสู่โบรกฯ ที่จะต้องชำระค่าหุ้นแทน
ในที่สุด เคสนี้มีการอายัดทรัพย์สิน โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และมีการเดินหน้าดำเนินคดีใน 2 ส่วน คือ “ฉ้อโกง” ที่มีบรรดาโบรกเกอร์เป็นผู้เสียหาย และ “ปั่นหุ้น” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนเกณฑ์การกำกับดูแล ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เดินหน้าแก้ไข เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีก
10.รัฐเอาจริงเก็บภาษีขายหุ้น
ก่อนสิ้นปี 2565 แค่ไม่กี่วัน กระทรวงการคลังก็เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ไฟเขียวเรื่องการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือภาษีขายหุ้น โดยจะเริ่มจัดเก็บหลังจากร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว 90 วัน หรือจัดเก็บในเดือนที่ 4 หลังจากบังคับใช้ ซึ่งในปีแรกกำหนดจัดเก็บครึ่งหนึ่งของอัตรา 0.1% หรือจัดเก็บที่ 0.05% แต่เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นแล้วจะเก็บที่ 0.055% จนถึงสิ้นปี 2566 หลังจากนั้นจะเก็บเต็มเพดานที่ 0.1% หรือเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้วอยู่ที่ 0.11% โดยรัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้ 16,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน ทว่า กระทรวงการคลังก็ยืนยันหนักแน่นว่า “เก็บแน่นอน” เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษีอื่น ๆ ขณะที่ผู้คัดค้านก็ยังคงเดินหน้าคัดค้าน และยังมีความหวังว่ากฎหมายนี้จะ “ตก” ไป ในห้วงเวลาที่นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งนี้