เศรษฐกิจไทย 5 เรื่องที่ฮิตมากที่สุดในปี 2565 มีอะไรบ้าง

เยาวราช เศรษฐกิจไทย
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดอันดับ Top 5 เรื่องเศรษฐกิจไทย ที่มีคนพูดถึงมากที่สุดในปี 2565 มีอะไรบ้าง เช็กที่นี่

วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูล 5 เรื่องเศรษฐกิจไทยที่มีคนพูดถึงมากที่สุดในปี 2565 ประกอบด้วย

เงินเฟ้อ

เงินเฟ้อไทยปีนี้ (2565) เกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push) ตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถจัดการได้โดยตรง แต่หากเงินเฟ้อยังสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้คนเริ่มคาดว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไปเรื่อย ๆ ยากที่จะลดลง ลูกจ้างจะขอขึ้นค่าแรงเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ธุรกิจปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ

แบงก์ชาติจึงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยดูแลเงินเฟ้อในภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากโควิดแล้ว ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

เงินสำรองระหว่างประเทศ

มีไว้เพื่อเป็นกันชนรองรับความเสี่ยงด้านต่างประเทศ เช่น กรณีเงินทุนไหลออกจำนวนมาก หรือตลาดการเงินขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศเฉียบพลัน หากประเทศมีเงินสำรองเพียงพอ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

โดยฐานะของเงินสำรองของไทยยังแข็งแกร่ง และอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล เช่น มูลค่าเงินสำรอง เทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น หรือมูลค่าการนำเข้าสินค้า

เงินดิจิทัล
ภาพจาก Pixabay

CBDC

เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น บิตคอยน์ ซึ่งมักมีมูลค่าผันผวน และความเสี่ยงขึ้นกับผู้ออกเหรียญ แบงก์ชาติได้พัฒนารูปแบบการโอนเงินแบบเครือข่ายหลายประเทศภายใต้โครงการ CBDC ระหว่างสถาบันการเงิน (mBridge) ร่วมกับธนาคารกลางจีน ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

และอยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบการใช้งาน CBDC จริงกับรายย่อย (Retail CBDC) ในวงจำกัดร่วมกับภาคเอกชนเพื่อประเมินประโยชน์ ความเสี่ยง และความเหมาะสมของเทคโนโลยีต่อไป

ค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทและสกุลเงินอื่นในเอเชียเคลื่อนไหวผันผวนภายใต้ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกที่สูงจากโควิด การปรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารทั่วโลก และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา เงินบาทและสกุลภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยแบงก์ชาติได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงด้านค่าเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้


จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ แบงก์ชาติได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งช่วยแก้หนี้เดิม และเพิ่มเงินใหม่ ซึ่งได้ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และตรงกับปัญหาลูกหนี้แต่ละกลุ่ม และได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลังจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไขเริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สมัครเข้าร่วมได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย