RCEP กู้ส่งออกโต 2% เตรียมรับน้องใหม่ “ติมอร์-ฮ่องกง”

การส่งออก

การใช้ประโยชน์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทย ภายหลังมีผลใช้บังคับครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ร่วมกับสมาชิก 14 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย พบว่า มียอดการค้ารวม 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10 ล้านล้านบาท

โดยไทยการส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.8 ล้านล้านบาท และนำเข้า 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5.2 แสนล้านบาท โดยประเทศอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย รองลงมาเป็นเกาหลีใต้และออสเตรเลีย ขณะที่แหล่งนำเข้าไทยมาจากบรูไนดารุสซาลาม ออสเตรเลีย และเมียนมา เป็นอันดับต้น ๆ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หากแยกเป็นรายประเทศ จะพบว่า ประเทศที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น โดยรายการสินค้าที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูง

เช่น น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด น้ำมันรำข้าว ผงสิ่งทอ และปลาแมกเคอเรลปรุงแต่ง เป็นต้น ขณะที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP นำเข้าสินค้า มาจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มากตามลำดับ

โดยสินค้าที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้าสูง เช่น ด้ายใยยาวสังเคราะห์ ไม้อัดพลายวูด ส่วนประกอบเครื่องยนต์ พอลิเมอร์ของเอทิลีน ในลักษณะขั้นปฐม และองุ่นสดหรือแห้ง เป็นต้น

“ความตกลง RCEP ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มเติมจากความตกลง FTA ที่ไทยมีกับประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น FTA แบบ 2 ฝ่าย หรือ FTA ในกรอบอาเซียน

ซึ่งนอกจากประโยชน์จากการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรเพิ่มเติมแล้ว ผู้ประกอบการยังจะได้ประโยชน์จากเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ RCEP กับการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ เป็นช่องทางที่ช่วยให้การตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านศุลกากรมีความรวดเร็วขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง สำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย และไม่เกิน 2 วัน สำหรับสินค้าปกติ”

ห่วงค่าเงินบาทฉุดส่งออก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า การใช้ประโยชน์ RCEP ครบ 1 ปี สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยใช้สิทธิประโยชน์และผลักดันการค้าในกลุ่มประเทศสมาชิกได้มากขึ้น ดังนั้น ในระยะต่อไปต้องการเห็นผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายการส่งออกของไทยในปี 2566 นี้

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศคู่ค้าหลักของไทย อย่างยุโรป สหรัฐ กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งตามข้อตกลงอาร์เซปช่วยสร้างแต้มต่อในการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดสำคัญอื่นเพิ่ม โดยมองว่าในปีนี้ โดยสินค้าที่มีโอกาส เช่น อาหาร รถยนต์ ชิ้นส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนจากค่าขนส่งถูกลง เรือขนส่งมีเพียงพอ

รวมไปถึงตู้คอนเทนเนอร์ด้วย แต่สิ่งที่ยังเป็นกังวลที่จะทำให้ศักยภาพของการส่งออกของไทยมีปัญหา คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ขณะนี้แข็งค่ากว่าคู่แข่งถึง 7% ดังนั้นมองว่าการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกมีโอกาสติดลบ 3%

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สิ่งที่ต้องการที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันให้อินเดียซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่ยอมรับ RCEP เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เพราะอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 1,200-1,300 ล้านคน

จะมาช่วยเสริมโอกาสในการส่งออกมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐควรเดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ซึ่งเป็นความตกลงที่เจรจายังไม่ได้ข้อสรุปให้เดินหน้าไปได้เพื่อขยายการส่งออกมากขึ้นด้วย

RCEP ดันส่งออกไทย

ด้าน รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 2566 นี้มองว่าผู้ส่งออกไทยควรที่จะเร่งส่งเสริมและผลักดันการส่งออกในกลุ่มประเทศ RCEP ให้มากขึ้น

โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น และสินค้าที่เป็นโอกาสในตลาดนี้ เช่น ผลไม้ ผลไม้แปรรูป อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารแห่งอนาคต ที่กำลังมีความต้องการและตลาดมีการเติบโตอย่างมาก

“RCEP จะเป็นโอกาสโดยเฉพาะในกลุ่มของอาหารเสริม อาหารเพื่อสุขภาพ ยังมีความต้องการและเติบโตอย่างมาก หากขยายตลาดในกลุ่มประเทศ RCEP จะทำให้ภาพรวมในตลาดนี้ไทยมีโอกาสส่งออก plants based มากถึง 10-20%

และจะดันให้การส่งออกไทยในภาพรวมมีโอกาสโตถึง 2% ได้ ซึ่งที่สำคัญเพื่อเป็นการขยายโอกาสตลาดส่งออกในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นจะต้องยกระดับและพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย เข้ามาส่งเสริม ภาครัฐจำเป็นจะต้องให้การสนับสนุนด้วย”

ตาราง การส่งออก RCEP

ตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP

ด้าน นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 1/54 ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคมที่ผ่านมา ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซียที่ผ่านมา ได้พิจารณาถึงแนวทางการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP

เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้ความตกลง RCEP และการนำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า e-Form D มาใช้อย่างเต็มรูปแบบผ่านระบบ ASEAN Single Window ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุนทางธุรกิจ ส่งเสริมการค้าไร้กระดาษข้ามพรมแดน และส่งเสริมการใช้ e-Form D เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน ATIGA e-Form D มีอัตราการใช้อยู่ที่ 89.6%

ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน อาทิ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน และการขยายความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค

พร้อมกันนี้ อาเซียนได้เร่งรัดติดตามความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาทิ ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) อาเซียน-จีน และอาเซียน-อินเดีย ตั้งเป้าสรุปผลในปี 2568 อาเซียน-แคนาดา คาดว่าจะสรุปผลในปี 2567 และออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ตั้งเป้าจะมีการลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลงในปีนี้

ทั้งนี้ การเจรจายกระดับความตกลง จะปรับปรุงเนื้อหาสาระด้านกฎเกณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดอุปสรรคการใช้สิทธิพิเศษทางภาษี และผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับประเด็นการค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จะเป็นความตกลงฉบับที่ 3 ของไทย ที่สามารถใช้รูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง เพิ่มเติมจากความตกลง ATIGA และ RCEP ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เตรียมรับติมอร์-เลสเต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม SEOM ได้หารือแนวทางการดำเนินการต่อไปของเสาเศรษฐกิจในการรับติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปีนี้

ซึ่งการที่ติมอร์จะร่วม RCEP หลังจากเข้าอาเซียน ตามกระบวนการแล้ว ติมอร์ต้องมีการเจรจาเช่นเดียวกันกับประเทศสมาชิก RCEP อื่น และต้องมีการผูกพันว่าจะทำตามกฎเกณฑ์ของ RCEP ได้หรือไม่ จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปจึงจะให้สัตยาบันความตกลงในลำดับต่อไป

นอกจากนี้คาดว่ายังจะมีประเทศอื่น เช่น ฮ่องกงที่จะสมัครสมาชิก RCEP กลางปีนี้อีกราย