“อินโนสเปซ” ปลุกสตาร์ตอัพ DeepTech BCG ฟื้นเศรษฐกิจ

อินโนสเปซ

เป็นเวลา 3 ปี นับจากปี 2562 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นส่วนสำคัญและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านกลไกของ “startup” ยิงปืนนัดเดียวให้ได้นกถึง 2 ตัว เพราะไม่เพียงจะดึงงานวิจัยที่ขึ้นหิ้งอยู่มากมายออกมาใช้งานได้จริง แถมยังได้สร้าง startup ขึ้น้อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม DeepTech ที่เป็นเป้าหมายหลัก ต้นปี 2563 “บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด” ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์ด้วยการจับมือร่วมกันลงทุนจาก 13 หน่วยงานขนาดใหญ่ ภายใต้ทุนจดทะเบียนกว่า 750 ล้านบาท

ลงทุน DeepTech BCG

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานกรรมการ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า แม้ startup ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้การเชื่อมโยงกับดีลที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยงานต่างประเทศชะลอออกไปแต่ทุกครั้งที่มีอุปสรรคกลับเจอกับโอกาส ในเรื่องของการแก้ไขเรื่องโควิด-19 มันคือโจทย์ที่ startup บางส่วนได้ท้าทายตนเอง

สำหรับเงินทุนจดทะเบียนที่ระดมเข้ามากว่า 700 ล้านบาทนั้น ได้ถูกนำออกมาใช้ลงทุนไม่ได้ถึง 100 ล้านบาท ดังนั้นเงินทุนที่ผู้ถือหุ้นใส่เข้ามายังคงเหลืออีกจำนวนมาก พอใช้อีก 2-3 ปีนับจากนี้โดยไม่ต้องระดมทุนใหม่

“ในปี 2566 นี้ อินโนสเปซจะลงทุนอีก 150 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าอีกหลายโครงการและเข้าไปลงทุนใน startup ตัวเจ๋ง ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Deep Tech BCG เป็นแนวทางเดียวกับนโยบายรัฐบาล”

สอดคล้องกับ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้เปิดเผยถึงข้อมูลว่า กลไกของ BCG ถือว่าเป็นการดึงเอาสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่ดั้งเดิม (first S-curve) ออกมาใช้ต่อยอดและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดเป็นห่วงโซ่ทั้งซัพพลายเชน

จนทำให้ไทยชูนโยบาย BCG และสามารถใช้เป็นตัวนโยบายนำหลักที่เชื่อมไปยังทั่วโลกได้ ทำให้ BCG ไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศไทย แต่คือทั้งโลกที่กำลังจะเดินไปในแนวทางเดียวกัน และนี่มันคือโอกาสของ startup อย่างมาก

3 แนวทางปั้น Startup

อย่างที่ทราบกันอินโนสเปซมีเป้าหมายพัฒนาและส่งเสริม startup ecosystem ในประเทศให้แข่งขันได้ในระดับสากล แต่เครื่องมือที่ใช้จำเป็นต้องชัดเจนและตีโจทย์ให้แตก และนี่จะเป็น 3 ด้านที่จะเป็นแนวทางหลัก คือ

1.Gap Filling in the Ecosystem คือการลงทุนใน startup ที่จะเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจสําคัญในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง DeepTech startups ด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนให้

2.Alignment with Shareholders การทํางานในรูปแบบ Sharing CVC เชื่อมโยงและสร้างให้เกิด Synergy Value ระหว่าง startups และ Shareholders ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การพัฒนาไปเชิงพาณิชย์

3.Synergy among Stakeholders การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนา startup ecosystem เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงหรือให้บทบาทน้อยลงไม่ได้เลย

เช่น ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา อินโนสเปซได้ผนึกกําลังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรสนับสนุนโปรแกรมการพัฒนาและลงทุนใน potential startup และ DeepTech Startup กับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในการร่วมลงทุน startup ชื่อ Horganice ภายใต้โครงการ dVenture นั่นเอง

ลุย MOU ส.อ.ท.

ล่าสุดอินโนสเปซยังเดินหน้าขยายความร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการดำเนินโครงการ Innovation-One เป็นการร่วมผนึกกำลังสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนในกลุ่ม startup ไทย ทั้งสร้างความร่วมมือใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม SMEs ผ่านทางเทคโนโลยีของ startup ไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของ startup ให้แก่สมาชิกและเครือข่ายของสมาชิก ส.อ.ท. และจะนำไปสู่โอกาสและจัดหาแพลตฟอร์มแก่ startup และ SMEs เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของแนวคิดทางธุรกิจ ทดสอบทดลอง และนำผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

ผนึกสุดยอด 7 องค์กร

องค์กรพันธมิตรที่อินโนสเปซได้ร่วมมือ มีทั้งนาสท์ด้าโฮลดิ้ง, N-Vest Ventures, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), Techsauce Media, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) คือ 7 สุดยอดหน่วยงานตัวอย่างที่ร่วมกันพัฒนา statrup ไทยในปัจจุบัน และจากการแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องของ Thailand early-stage invesment and ecosystem ยังชี้ให้เห็นว่า

“แต่ละองค์กรต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่างานวิจัยเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลกและเศรษฐกิจไทย ไทยยังคงมีการลงทุนเพียง 1.3% ของ GDP เท่านั้น ต่างจากประเทศที่ startup เติบโตมากซึ่งจะมีสัดส่วนการลงทุนถึง 2% และที่สำคัญการนำเอางานวิจัยที่มีอยู่ออกมาใช้จริง”

และในอนาคตเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแก้ไขเรื่องของ ESG (environmental social governance) โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) จะทำให้เกิด ClimateTech และกองทุนใหม่ ๆ อย่าง กองทุน ESG ขึ้นมาช่วยในการแก้ปัญหาเหล่านี้ และนี่คือโอกาสของ startup

หากหน่วยงานที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ สามารถขับเคลื่อนแผนงานตามเป้าหมายได้จริง การปลดล็อกทั้งเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ ทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมงานวิจัยที่สามารถโอนสิทธินำออกมาใช้ได้จริง รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน สำหรับ startup ที่ต้องการบุคลากรด้านวิจัยร่วมงาน

รวมถึงการปลดล็อกทั้ง knowledge knowhow ในอีกไม่ช้า หรือไม่เกิน 10 ปี จะเกิดเครื่องมือจากเหล่า startup ขึ้นมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อย่างการรักษาพยาบาล ลดช่องว่างทางการศึกษา ที่สุดท้ายแล้วไทยจะมีนวัตกรรม งานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ จากเหล่า startup ที่ไทยสร้างขึ้นเอง