ฟองสบู่สตาร์ตอัพ ก้าวที่ยากของการตลาด

ฟองสบู่สตาร์ตอัพ

กูรูชี้วิกฤตแพลตฟอร์ม-ฟองสบู่สตาร์ตอัพ ป่วนการตลาด อัลกอริทึ่มเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนเร็ว ฉุดสตาร์ตอัพโตยาก

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 นายไผท ผดุงถิ่น ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Builk One Group ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการก่อสร้าง และยังเป็น “กูรู” สตาร์ตอัพ ได้ฉายภาพสถานการณ์ทางการตลาดและวงการสตาร์ตอัพในปัจจุบัน ในงาน Thailand Marketing Day 2022 : The Game Changer โดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

นายไผทกล่าวว่า สตาร์ตอัพเป็นคำที่มักจะได้ยินกันอย่างแพร่หลาย มาพร้อมกับความเข้าใจและความคาดหวังว่า สตาร์ตอัพจะต้องเติบโตแบบ Exponential ทำให้มีการระดมทุนและเร่งทำการตลาดเพื่อสร้างการเติบโต

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้อาจบอกได้ว่าสตาร์ตอัพ ไม่ได้เติบโตแบบ Exponential อีกแล้ว หรือโตได้ยากมาก

นายผไทอธิบายว่า ลักษณะการเป็นสตาร์ตอัพจริง ๆ แล้วเป็นขั้นบันได

ขั้นแรก คือ การหาปัญหา แนวคิดหรือไอเดียนั้นยังไม่มีมูลค่า ต้องหาว่าอะไรคือปัญหาและประเมินว่าแก้ได้ไหม

“โชคดีที่ประเทศเรามีแต่ปัญหา ความห่วย ช้า แพง คือโอกาส”

ขั้นต่อมาคือ หาโซลูชั่นให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการทำให้เป็นแพลตฟอร์มน่าสนใจ เพราะทำให้คนที่มีปัญหาไปได้ไกลขึ้น

คำว่าแพลตฟอร์ม คือ ที่ยืนเพื่อขึ้นไปข้างบน มันมีนานแล้ว ชานชาลาขึ้นรถไฟก็คือแพลตฟอร์ม เวทีนี้ก็คือแพลตฟอร์ม

แต่แพลตฟอร์มมันเปลี่ยนเพราะคำว่าดิจิทัล ซึ่งทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วและเหยียบยืนขึ้นไปได้เร็ว

อย่างไรก็ตาม การที่จะคิดว่าทำแล้วช่วยให้ปัญหาต้องพิสูจน์ว่าแพลตฟอร์มแก้ปัญหาได้จริง จากนั้นต้องหาเงินสนับสนุน

ขั้นต่อมา คือ การหาเงินมาสนับสนุน ทั้งการระดมทุน และการหาโมเดลธุรกิจเพื่อหารายได้

นอกจากนี้ ต้องคิดว่าแพลตฟอร์มจะต้องทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นได้ เพื่อให้คนอื่นมายืนบนเเพลตฟอร์มของเรา เราต้องร่วมมือกับอื่น ๆ ไม่มีแพลตฟอร์มที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง เช่น เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของตึกนี้ ตึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ต้องมีคนช่วยเพื่อเกื้อกูลกัน

นายผไทกล่าวด้วยว่า บันไดแต่ละขั้นไม่มีใครพูดถึงกำไร มีแต่การหาเงินและทำให้ขาดทุนแบบมีศักยภาพ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคน ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ”

“ความยากคือไม่ได้มีแค่เราคนเดียว ที่คิดวิธีแก้ปัญหา เมื่อเราทำตามบันไดแต่ละขั้นไปแล้ว อัดฉีดเงินเพื่อแคปเจอร์ตลาด จนถึงจุดที่พร้อมทำกำไรแล้ว แต่คู่แข่งใหม่เกิดขึ้นมาทำอัดฉีดเงินต่อจากเราไปอีกสองสามปีพอดี แพลตฟอร์มก็อยู่ไม่ได้”

การระดมทุนมาแข่งด้านการตลาดกันเช่นนี้ ทำให้ตลาดเดือดอย่างมากในตอนนี้

ดังนั้น ในปี 2019-2020 เป็นปรากฏการณ์สตาร์ตอัพบับเบิล ที่ทุกคนต่างแข่งขันกันทำสตาร์ตอัพและอัดฉีดเพื่อแคปเจอร์ตลาด จนปัจจุบันที่หุ้นเทคฯ อิ่มตัว เม็ดเงินก็ลดลง ส่งผลให้สตาร์ตอัพที่คิดจะเป็นยูนิคอนได้ เริ่มอิ่มตัว เกิดได้ยาก

“การแข่งขันด้านการตลาดไม่มีวันสิ้นสุด มีคนจะเเข่งตลอดเวลา สตาร์ตอัพที่สายป่านไม่ยาวก็อยู่ไม่ได้”

นายไผทเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า “วิกฤตแพลตฟอร์ม” หรือ Platform Crisis

เมื่อทุกคนต่างแข่งขันการทำแพลตฟอร์ม เก็บเกี่ยวข้อมูลและพัฒนาการตลาดเพื่อเร่งทำกำไร จึงเกิดสงครามเย็นของแพลตฟอร์ม คือ แพลตฟอร์มไม่ยอมให้ย้ายออกจากแพลตฟอร์มตัวเอง เกิดการพัฒนาตาม ๆ กันไปเพื่อแจ่งขันให้ทัน

นายไผทยกตัวอย่างว่า กรณีเฟซบุ๊ก ที่เริ่มโฟกัสการทำกำไร ก็เกิดเเพลตฟอร์มใหม่อย่างติ๊กต๊อกมาแย่งคนที่เปลี่ยนพฤติกรรมไปวิดีโอสั้น ดังนั้นจึงเอาการพัฒนาของติ๊กต๊อกมาทำเอง แล้วตั้งเงื่อนไขของอัลกอริทึ่มกีดกันว่าถ้าเอาวิดีโอมาจากติ๊กต๊อกจะถูกลดการมองเห็น

ติ๊กต๊อกยังไม่เริ่มโฟกัสการทำกำไร หากเริ่ม ก็คงจะมีแพลตฟอร์มใหม่ที่สามที่สี่เกิดขึ้นมาอีก

“ในการแข่งขันนี้ เรา (นักการตลาด) อยู่บนที่ที่เราเลือกกติกาของแพลตฟอร์มไม่ได้ วันดีคืนดีก็เปลี่ยนอัลกอริทึ่ม ยอดรีชก็ตก ก็ต้องปรับวิธีทำการตลาดตามการแข่งขันของแพลตฟอร์ม”

นอกจากนี้ อัลกอริทึ่มที่ปรับเปลี่ยน ส่งผลต่อพฤติกรรมของคน นำไปสู่ขั้วความขัดแย้งชัดเจนมาก เพราะอัลกอริทึ่มทำให้เกิดแอคโค่แชมเบอร์ จับคนที่คิดเหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน นำเสนอแต่สิ่งที่คน ๆ นั้นอย่างเห็น

หากจะให้มีคนเห็นเนื้อหา ก็ต้องดูว่าใครจ่ายหนัก

“นี่คือกติกาใหม่ที่ต้องเรียนรู้ พฤติกรรมใหม่ ๆ ของคนก็จะเกิดขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มที่แข่งขันไม่สิ้นสุด

ไม่ว่าใครในฐานะผู้ประกอบการหรือนักการตลาดจะต้องอยู่กับสิ่งนี้”