ถอดบทเรียน Gantik-AWS ความท้าทายใหม่ของ EdTech สตาร์ตอัพ

Gantik

เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (Education Technology) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวบีบบังคับ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ปาริตา เสือพันธ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอ แพลตฟอร์ม Gantik สตาร์ตอัพด้านการจัดทำ และจำหน่ายแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ด้านการศึกษา และการจัดทำซอฟต์แวร์การศึกษาสำเร็จรูปสัญชาติไทย และ “นายแซม แฮริส” ทีมสนับสนุนสตาร์ตอัพภาคบริการสาธารณะ และนวัตกรรมเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น อะเมซอนเว็บเซอร์วิส (AWS)

ความลำบากของ EdTech สตาร์ตอัพ

ประเด็นแรกที่ต้องพูดถึงคือเทคโนโลยีทางการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ และบริการสาธารณะมีความลำบากมากในช่วงเริ่มต้น โดย “แซม” กล่าวว่า ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานด้านการศึกษาหลายด้าน โดยเฉพาะการเรียนในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย รวมถึงเนื้อหา และความคาดหวังจากการเรียนการสอนที่หลากหลาย และสามารถเข้าถึงได้หลายทาง

โดยทีมของ AWS จะคอยสนับสนุนลูกค้าที่กำลังพัฒนานวัตกรรมบนคลาวด์ของ AWS ในส่วน Public Sector ซึ่งเรื่องการศึกษาหรือ EdTech Startup จะได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี เนื่องจากมีโอกาสอีกมากในด้านเทคโนโลยีการศึกษา

“ปกติแล้วสตาร์ตอัพต้องทำงานหนักในการพัฒนาโครงการ รวมถึงการระดมทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่ง Public Sector ที่ต้องหาลูกค้าเป็นภาครัฐ ดังนั้นการสนับสนุนของเราคือการให้เครดิตและสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้การ Kick Start ง่ายขึ้น ทั้งการเข้าหาลูกค้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์”

ด้าน “ดร.ปาริตตา” กล่าวว่าในช่วงการเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์จะมีความต้องการเรื่องการลดต้นทุน เพิ่มพื้นที่คลาวด์ และเครือข่ายเพื่อทดสอบระบบ รวมถึงการเวิร์กช็อปหรือการมีส่วนร่วมจากผู้ชำนาญด้านต่าง ๆ นอกจากนี้การไม่มีเครดิตหรือลูกค้ามาก่อนทำให้การเข้าหาลูกค้าทำได้ยาก ยิ่งเป็นภาครัฐเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ

เทคโนโลยีการศึกษาต่างจากอีเลิร์นนิ่ง

“ปาริตา” กล่าวถึงแพลตฟอร์ม Gantik ด้วยว่าปัจจุบันดำเนินการในสองส่วน คือ 1.BOOTCAMPDEMY แอปพลิเคชั่นวิเคราะห์การทำข้อสอบเพื่อสนับสนุนการสอบ Tcas ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่สามารถวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนจากการทำข้อสอบแล้วออกแบบการศึกษาสำหรับบุคคลได้ และ 2.Computer Adaptive Test

“เราเคยเข้าไปช่วย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เขาอยากได้เครื่องมือสำหรับเข้าถึงช้างเผือกที่เรียนดีแต่ยากจน เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษา แต่ไม่อยากให้มีการวัดผลด้วยการสอบแบบ On Topic เหมือนข้อสอบโอเน็ต แต่อยากวัดวิธีคิด ทักษะทางคณิตศาสตร์ ด้วยระบบของเราจะวัดได้ดีกว่าข้อสอบแบบ Linear คือยิ่งเด็กทำข้อสอบได้ ก็จะยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ”

ดังนั้น Gantik จึงไม่ใช่แพลตฟอร์มที่พัฒนาเนื้อหาหรือคอนเทนต์สำหรับการเรียนรู้ แต่เป็นผู้พัฒนา “อัลกอริทึ่ม” เกี่ยวกับข้อสอบและการประเมินผลวิเคราะห์ผู้ทำข้อสอบ

“ปาริตา” กล่าวเสริมด้วยว่า การพัฒนาอัลกอริทึ่มเหล่านี้ต้องใช้ข้อมูลและตัวอย่างผลการทดสอบจากโรงเรียนต่าง ๆ นับหมื่นโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สตาร์ตอัพเล็ก ๆ จะขอความร่วมมือจากโรงเรียนเหล่านั้น แต่ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาต่อไป โดยผลการทดสอบหนึ่งหมื่นโรงเรียนจะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้

อาจกล่าวได้ว่า Gantik ใช้แนวคิดทฤษฎีวัดผลทางการศึกษาสร้างระบบ และออกแบบการเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นระเบียบวิธีที่ใช้วิจัย จากนั้นการเก็บข้อมูล ประมวลผล และออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ทำบนฐานของคลาวด์ โดยมีทีม Public Sector ของ AWS เป็นผู้สนับสนุน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็น “อัลกอริทึ่ม” สำหรับวิเคราะห์และวัดผลทางการศึกษาผ่านการใช้แอปพลิเคชั่นการสอบ

เป้าหมายและการเติบโต

“ปาริตา” กล่าวว่าเป้าหมายการเติบโตในแง่รายได้ยังระบุได้ยากเพราะผลิตภัณฑ์ต้องพัฒนาอีกมาก อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ แต่ในระยะสั้นอยากขับเคลื่อนแอปพลิเคชั่น Bootcampdemy ก่อน พร้อมพัฒนาและหาโซลูชั่นอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ

ส่วน Computer Adaptive Test จะทดสอบให้เสถียร เพื่อวัดทักษะอื่น ๆ นอกเหนือจากทักษะทางคณิตศาสตร์ อาจจะต้องขยายไปวัดทักษะทางการเงิน ซึ่งการวัดทักษะใหม่ ๆ นี้ต้องหาวิธีพัฒนา

โดยการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีไม่มีปัญหาอะไรเพราะการสนับสนุนจาก AWS ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการเงิน ที่สนับสนุนพื้นที่คลาวด์ ส่งผลให้เกิด Scalability โดยเฉพาะการทดสอบพร้อมกันหลายพันคนทำได้เสถียร ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ระเบียบวิธีที่วางไว้นำไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมได้เร็วขึ้น กล่าวคือ เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูล 11-12 เดือน จะได้ “ระบบ” หรือ “ผลิตภัณฑ์” ใหม่ ๆ

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนด้านเครดิต และช่องทางการติดต่อกับลูกค้า พร้อมกับมีส่วนร่วมในการพัฒนาทำให้คาดว่าจะเติบโตได้ดี

“เทคโนโลยีด้าน Assessment หรือการประเมินผลยังไม่มีใครจับในวงการ Edtech” ปาริตากล่าว