สตาร์ตอัพลูกครึ่งไทยญี่ปุ่น Opn เป้าหมายที่มากกว่า “ยูนิคอร์น”

อิศราดร หะริณสุต
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

Opn บริษัทสตาร์ตอัพที่ก่อตั้ง และเติบโตในประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ (เพย์เมนต์เกตเวย์) อันดับต้น ๆ ในบ้านเรา และในเอเชีย-แปซิฟิก โดยอยู่เบื้องหลังร้านค้าในหลากหลายธุรกิจ ก่อนย้ายไปลงหลักปักฐานที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วรีแบรนด์จาก Omise-โอมิเซะ เป็น “Opn” กับเป้าหมายที่ต้องการเปิดตนเองให้โลกรู้จักมากขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปิดประตูสู่ธุรกิจดิจิทัลสำหรับทุกคน”

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “อิศราดร หะริณสุต” ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ Opn หลากหลายแง่มุมทั้งที่เกี่ยวกับโอกาส และการเติบโตของสตาร์ตอัพไทยกับเป้าหมายใหม่ที่มากไปกว่าความต้องการที่จะเป็น “ยูนิคอร์น”

เร่งเกมขยายตลาดโกลบอล

“อิศราดร” กล่าวว่า ปัจจุบันให้บริการทั้งกับร้านค้า และธุรกิจนับหมื่นราย มีกิจการอยู่ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันมีบริการประกอบด้วย บริการเกตเวย์การชำระเงิน (payment gateway) บริการด้านการประมวลผลธุรกรรม (processing) บริการออกบัตร (issuing) การให้บริการกับผู้รับบัตร (acquiring) การออกใบอนุญาต (licensing) การวางแผนในองค์กร (enterprise resource planning)

และบริการให้คำปรึกษา โดยเมื่อกลางปี 2565 ได้รีแบรนด์จาก Omise เป็น Opn และเข้าไปซื้อกิจการของ MerchantE แพลตฟอร์มดิจิทัลคอมเมิร์ซของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งเป็นตลาดโซลูชั่นด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุด และกำลังเติบโตมากที่สุดของโลก โดยมีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2569 จะมีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท หรือราว 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“เรามีเทคโนโลยีครอบคลุมบริการด้านการชำระเงินทั้งหมด ไม่ได้มีจุดเด่นแค่เทคโนโลยีชั้นสูง แต่ยังมีความเข้าใจธุรกิจในเอเชีย โดยเฉพาะในไทยเป็นอย่างดี จึงสามารถออกแบบโซลูชั่นที่เหมาะกับการใช้งาน สร้างความสะดวกสบาย และประสบการณ์ที่ดีให้ธุรกิจ ร้านค้า และผู้บริโภคได้”

ปัจจุบัน Opn เป็นผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์ระดับภูมิภาคเอเชีย และอเมริกา ที่มีเป้าหมายใหญ่คือการเข้าไปบุกตลาดระดับโลก โดยให้บริการกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจต่าง ๆ (B2B) ที่ทำธุรกิจ และมีการชำระเงินทั่วโลก จากที่ผ่านมาถนัดให้บริการกับลูกค้าองค์กรที่ให้บริการกับผู้บริโภค หรือ B2B2C

“การเข้าซื้อ MerchantE ซึ่งชำนาญเรื่องการสร้างโซลูชั่นการชำระเงินสำหรับองค์กรในสหรัฐอเมริกา ก็เพื่อปูทางไปสู่การขยายไปในตลาดระดับโลกทำให้ Opn ออกจากการเป็นเพย์เมนต์เกตเวย์ในภูมิภาคสู่ระดับโลกได้ใน 2-3 ปี”

เติมบริการใหม่เพิ่ม “มาร์จิ้น”

ปัจจุบันธุรกรรมการชำระเงินบนแพลตฟอร์ม Opn มีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ส่งผลให้รายได้ของแพลตฟอร์มที่เกิดจากค่าธรรมเนียมการชำระ เติบโต 25-30% ต่อปี แต่ต้องยอมรับว่าการให้บริการระบบชำระเงิน (เพย์เมนต์เกตเวย์) มีกำไรไม่มากนัก บริษัทจึงเร่งพัฒนาบริการใหม่ ๆ เช่น บริการ PayFac-as-a-Service

หรือระบบการเงินสำหรับธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์ม และบริการเสริมใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงช่องทางการชำระเงินใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างธุรกิจ และลูกค้า เพื่อขยายลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ และคาดด้วยว่าจะทำให้บริษัทพลิกกลับมาทำกำไรได้ภายใน 1-2 ปี

“บริการใหม่ ๆ ที่จะได้เห็นในปีหน้าจะเป็นบริการที่เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ลูกค้า หรือร้านค้าที่ใช้บริการ เช่น บริการการเงินที่ให้เครดิตหรือปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ร้านค้า โดยเริ่มแรกเราจะใช้เงินของเราเองไปก่อนที่จะดึงสถาบันการเงิน และ nonbank ต่าง ๆ มาร่วมด้วย เรามองว่าธุรกรรมจำนวนมากบน Opn ทำให้มีข้อมูลที่มีศักยภาพมากพอที่จะนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก”

ขณะเดียวกันยังเตรียมขยายบริการ bank as a service กับธนาคาร และองค์กรขนาดใหญ่ โดย Opn จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังระบบปฏิบัติการของทั้งแบงก์ และน็อนแบงก์ ไม่ว่าจะต้องการโซลูชั่นอะไรก็พร้อมจัดหาให้ รวมถึงการให้บริการให้คำปรึกษา (DX consult) เพื่อปรับปรุงโซลูชั่นการชำระเงิน

เดินหน้าระดมทุนรอบใหม่

ผู้ร่วมก่อตั้ง “Opn” เล่าย้อนไปถึงในช่วงเริ่มต้นธุรกิจในปี 2014 ด้วยว่า ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนขนาดใหญ่มาโดยตลอดรวมแล้วกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำไปใช้ในการพัฒนาระบบ และขยายบริการให้ครอบคลุมด้านต่าง ๆ และในปีหน้าเตรียมจะเปิดระดมทุนรอบใหม่

“สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอาจไม่ดีนักทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจนต้องปลดพนักงานจำนวนมาก แต่ Opn ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ และไม่มีผลกับการตัดสินใจระดมทุนรอบใหม่ด้วย เพราะมองว่ายังมีกลุ่มนักลงทุนที่มองหาโอกาสในการสร้างการเติบโตจากสตาร์ตอัพอย่างเราที่แข็งแรง และชัดเจนในการพัฒนาบริการซึ่งอยู่รอดได้ แม้เศรษฐกิจมีปัญหา และกำลังซื้อมีแนวโน้มลดลง เราเองเตรียมกลยุทธ์เพื่อรับมือไว้แล้ว โดยขยายบริการไปในกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) ในตลาดโลก เชื่อว่าจะทำให้บริษัทเติบโตต่อได้”

ปัจจุบัน Opn มีพนักงานทั่วทั้งภูมิภาคอยู่กว่า 650 คน และไม่มีแผนปลดคน

ไม่ได้โฟกัสการเป็นยูนิคอร์น

“อิศราดร” กล่าวว่า หลายคนถามว่าจะเรียก Opn ว่าเป็นยูนิคอร์นสัญชาติอะไร เพราะ Omise เริ่มต้น และเติบโตที่ประเทศไทย จากนั้นจึงย้ายไปอยู่สิงคโปร์ และสุดท้ายมาจดทะเบียนที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมรีแบรนด์ใหม่เป็น Opn จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “ยูนิคอร์นไทย-ญี่ปุ่น” ได้

“การเริ่มต้นธุรกิจที่ประเทศไทยทำให้เรามีฐานลูกค้า และรายได้เกินครึ่งมาจากตลาดไทย ขณะที่ทีมปฏิบัติงานในไทยเทียบกับในประเทศอื่นก็ถือว่าใหญ่ที่สุดด้วย มีทั้งที่เป็น developer hub, ฝ่ายกฎหมาย, ฝ่ายการตลาด เป็นต้น

ส่วนการเข้าไปซื้อบริษัท MerchantE ที่อเมริกา ก็เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การขยายไปในตลาดโลก เพราะปัจจุบันทีมงานจะอยู่ในเอเชียเป็นหลัก จึงเหลืออีกหลายพื้นที่ที่ต้องไปต่อ”

ผู้ก่อตั้ง Opn ย้ำด้วยว่า เป้าหมายของบริษัทที่ถือเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตนเองไปข้างหน้า ไม่ได้อยู่ที่การเป็นบริษัทสตาร์ตอัพระดับ “ยูนิคอร์น” แต่อยากทำให้ Opn เป็นโกลบอลคอมปะนีที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง

“ชีวิตคนเรามันสั้น เราจึงอยากให้สิ่งที่เราทำยังคงอยู่ต่อไป”