ปตท.สผ. โชว์กำไรปี’65 กว่า 7 หมื่นล้าน ส่งเงินคืนรัฐ 6.2 หมื่นล้านบาท

ปตท.สผ. ส่งเงินเข้ารัฐประมาณ 62,000 ล้านบาท พัฒนาประเทศ หลังกวาดรายได้ปี’65 พุ่ง 32% ทะลุ 3.39 แสนล้าน กำไร 7 หมื่นล้าน จากปริมาณขาย 468,130 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเพิ่ม 12% ในโครงการต่างประเทศ ผลจากเริ่มผลิตปิโตรเลียมในโครงการจี 1/61 อนุมัติจ่ายเงินปันผลที่ 9.25 บาทต่อหุ้น เตรียมทุ่มงบ 1.91 แสนล้านปี’66 เร่งเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อต้นทุนทางพลังงานให้กับประชาชน พร้อมเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกสะสม หลังปี’65 ลดได้กว่า 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

วันที่ 30 มกราคม 2566 นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทของปี 2565 ว่า ปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 9,660 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 339,902 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2564 ซึ่งมีรายได้รวม 7,314 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 234,631 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 1,999 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 70,901 ล้านบาท)

โดยในปี 2565 ปตท.สผ. สามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 62,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล
มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล

“ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ที่ 28.36 ดอลลาร์ และมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย (Sales volumes) 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 12% จาก 416,141 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตปิโตรเลียมของโครงการในต่างประเทศ เช่น โครงการโอมานแปลง 61 และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช รวมทั้ง โครงการในประเทศ ได้แก่ โครงการจี 1/61 ด้วย ในขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก”

จ่ายปันผล 9.25 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ จากผลประกอบการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ได้อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2565 ที่ 9.25 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 4.25 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ส่วนที่เหลืออีก 5 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 และจะจ่ายในวันที่ 24 เมษายน 2566 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 แล้ว

สำหรับปี 2566 บริษัทได้ตั้งงบประมาณการลงทุน จำนวน 5,481 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 191,818 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ได้แก่ การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการเอส 1 และโครงการผลิตในประเทศมาเลเซีย การเร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410 บี และโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 รวมถึง การเร่งการสำรวจในโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย มาเลเซีย และโอมาน

นอกจากนี้ ยังได้สำรองงบประมาณ จำนวน 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 166,052 ล้านบาท) สำหรับช่วง 5 ปี (2566-2570) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่ต่าง ๆ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจ CCS ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) ธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด รวมทั้ง การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์

“ปตท.สผ. กำลังเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เสร็จสิ้นการติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead platform) จำนวน 8 แท่นเป็นที่เรียบร้อย และในปีนี้ จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น วางท่อใต้ทะเล และเตรียมแท่นขุดเจาะ (Rig) 6 แท่น เพื่อเร่งเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมอีก 273 หลุม ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี

เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซ

โดยคาดว่าในเดือนเมษายน 2567 อัตราการผลิตก๊าซฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ จากทุกโครงการของ ปตท.สผ. ในอ่าวไทย ได้แก่ โครงการบงกช โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนทางพลังงานให้กับประชาชน นายมนตรีกล่าว

นายมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท.สผ. กำลังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจพลังงานเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เช่น การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานรูปแบบใหม่ และนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อยต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว เช่น บริษัท เอ็กซ์พลอร์ เวนเจอร์ส (Xplor Ventures) ในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ปตท.สผ. ได้ดำเนินแผนงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยในปี 2565 บริษัทสามารถลดก๊าซเรือนกระจกสะสมได้กว่า 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากปีฐาน 2555

พัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน

รวมทั้งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่โครงการอาทิตย์ ซึ่งขณะนี้ ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) แล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ปลายปี 2566 นี้

โดยมีแผนจะเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทยได้ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 700,000-1,000,000 ล้านตันต่อปี ในขณะเดียวกัน บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ในบริเวณพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย รวมทั้ง ในประเทศที่ ปตท.สผ. มีพื้นที่ปฏิบัติการด้วย เช่น ประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมุ่งมั่นในการนำก๊าซเผาทิ้งจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ ควบคู่ไปกับการนำพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมาใช้ในพื้นที่ปฏิบัติการมากขึ้น


อาทิ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 และฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม ปตท.สผ. ที่จังหวัดสงขลา และกังหันลมที่โครงการอาทิตย์ เป็นต้น รวมถึง ดำเนินโครงการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปลูกป่าทั้งป่าบกและป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก