ชอร์ตวัตถุดิบหนัก “กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม” วอนรัฐผลักดันนโยบายปกป้องเศษอะลูมิเนียมเก็บภาษีส่งออก หลังพบปี’65 ไหลออกกว่า 2 แสนตัน ไปจีนพุ่ง 165% โรงงานอ่วมต้องนำเข้าเศษจากกัมพูชา สหรัฐ ทดแทนเกือบ 4 แสนตัน สวนทางนโยบาย BCG หวังสร้างมูลค่าดันเป็นต้นแบบสังคมรีไซเคิลสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เศษอะลูมิเนียมในปี 2565 มีการส่งออกนอกประเทศสูงถึง 215,417 ตัน ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบในอดีต โดยส่งออกไปยังประเทศจีนโตถึง 165% ในขณะที่ผู้ผลิตภายในประเทศขาดแคลนเศษอะลูมิเนียม จนต้องนำเข้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งสวนทางกับนโยบาย BCG โมเดลที่มุ่งเน้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ
เนื่องจากอะลูมิเนียมคือวัสดุรีไซเคิลอย่างแท้จริง ถูกนำมารีไซเคิลด้วยการพัฒนาและนำไปใช้งานในหลายรูปแบบ ทั้งในชีวิตประจำวันตลอดจนวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยกระบวนการรีไซเคิลอะลูมิเนียมจะถูกหมุนวนอยู่ในระบบอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมากกว่า 75% ซึ่งการที่อะลูมิเนียมสามารถนำมาใช้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีที่สิ้นสุดได้นั้น เนื่องจากคุณสมบัติของอะลูมิเนียมเองไม่เปลี่ยนแปลง
การหมุนเวียนนำเศษอะลูมิเนียมวนกลับมาใช้นี้เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะหมุนเวียนมาใช้กี่ครั้งก็ได้คุณภาพเหมือนเดิม ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ได้ถึง 95% และประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการนำอะลูมิเนียมบริสุทธิ์จากกระบวนการต้นน้ำมาใช้
แต่ก็ยังพบว่า ปัจจุบันมีการส่งออกเศษอะลูมิเนียมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกระหว่างปี 2560-2565 โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ผ่านมา มีการส่งออกถึง 215,417 ตัน โดยส่งออกไปยังประเทศเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนถึง 100,832 ตัน หรือ 47% รองลงมาคือ จีน 93,434 ตัน หรือ 43% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีเพียง 25% เท่านั้น
ทั้งนี้ยังส่งออกไปอินเดียอีก 7,359 ตัน ที่เหลือไปประเทศอื่น ๆ อีกกว่า 13,792 ตัน และจีนมีโอกาสจะเพิ่มความต้องการเศษอะลูมิเนียมอีกมากในปี 2566 นี้ เนื่องจากเห็นสัญญาณปริมาณส่งออกไปยังประเทศจีนเพิ่มถึง 165% เมื่อเทียบกับปี 2564
ในทางกลับกันเมื่อเศษอะลูมิเนียมถูกส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เศษอะลูมิเนียมไม่เพียงพอสำหรับการใช้ภายในประเทศ ประกอบกับการผลิตภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะเกี่ยวกับการก่อสร้างและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอะลูมิเนียมต้องการใช้เศษอะลูมิเนียมมากขึ้น
เพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์และมุ่งเน้นให้เกิดสังคมรีไซเคิลภายในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าเศษอะลูมิเนียมปริมาณสูงถึง 376,680 ตัน เพิ่มขึ้น 3% ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นการนำเข้าจากกัมพูชา 107,391 ตัน สหรัฐอเมริกา 64,759 ตัน อังกฤษ 27,798 ตัน และประเทศอื่น ๆ อีก 176,731 ตัน
ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการส่งเสริมการช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศษอะลูมิเนียมภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเวียดนาม ที่ได้กำหนดอัตราภาษีส่งออกเศษอะลูมิเนียมในอัตรา 22% และมาเลเซีย 10% ซึ่งการเก็บภาษีส่งออกเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถนำเงินมาสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานให้สมบูรณ์
ทำให้เกิดการหมุนวนเศษอะลูมิเนียมให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้อุตสาหกรรมมีการเติบโตแบบยั่งยืนตามนโยบาย BCG โมเดลได้
“แนวทางรับมือวิกฤตนี้ อนาคตวอนรัฐปกป้องเศษอะลูมิเนียมเพื่ออุตสาหกรรมเติบโตแบบยั่งยืน จากเทรนด์รักษ์โลกจะทำให้เศษอะลูมิเนียมเป็นที่ต้องการในตลาดโลกมากขึ้นจากนี้ไป จากข้อมูลและการคาดการณ์ต่าง ๆ จนถึงปี 2573 ระบุว่า ความต้องการใช้อะลูมิเนียมโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 80-120 ล้านตัน นั่นหมายถึงปริมาณอะลูมิเนียมที่ต้องการนำมารีไซเคิลย่อมเพิ่มขึ้นด้วย
จากประมาณการความต้องการเมื่อเทียบกับปี 2564 คาดว่าต้องการอะลูมิเนียมเพื่อนำมารีไซเคิลเพิ่มมากขึ้นถึง 13 ล้านตัน ภายในปี 2569 ซึ่งจะทำให้ประเทศที่ไม่มีมาตรการปกป้องในเรื่องนี้อาจจะไม่เหลือเศษอะลูมิเนียมสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ”
ทั้งนี้ ด้วยการรีไซเคิลได้รับกระแสนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ต้นทุนพลังงานสูงมาก เนื่องจากสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 95% นั่นหมายถึงการใช้พลังงานเพียง 5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการผลิตแท่งอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ (virgin aluminum)
และยังช่วยลดขยะในหลุมฝังกลบรวมถึงขยะในทะเล นอกจากนี้ยังลดคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2573 จะเพิ่มกระบวนการรีไซเคิลให้ได้อย่างน้อย 85%
“เราอยากให้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเป็นต้นแบบสังคมรีไซเคิลสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน คือการหมุนวนกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี เพราะกระบวนการรีไซเคิลสามารถลดจำนวนขยะได้อย่างมหาศาล การรีไซเคิลได้ถึง 100% อะลูมิเนียมจึงไม่จำเป็นต้องมีการอัพไซเคิล (upcycle)
หรือดาวน์ไซเคิล (downcycle) เนื่องจากการรีไซเคิลเป็นการประหยัดต้นทุนมากที่สุด ทำให้ราคาตลาดกระป๋องอะลูมิเนียมสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 40-50 บาท ถือว่าสูงมาก สังเกตได้ว่าแทบจะไม่พบเห็นกระป๋องอะลูมิเนียมถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามท้องถนน เพราะมีคนเก็บให้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือผู้ที่มีรายได้น้อยมาเก็บไปขาย เช่น อาชีพซาเล้ง เป็นต้น”