จีนถล่มตลาดอะลูมิเนียมไทย ระบายสต๊อกล้น-สวมสิทธิ์ส่งออกสหรัฐ

อะลูมิเนียม

ตลาดอะลูมิเนียมแสนล้านผันผวนหนัก โค้งสุดท้ายไตรมาส 4 วิกฤตซ้อนวิกฤต สินค้าจีนถล่มตลาด คู่ค้าสหรัฐจับตาจีนสวมสิทธิไทยส่งออก พ่วงต้นทุนพลังงาน-ต้นทุนค่าธรรมเนียมลดการปล่อยคาร์บอนอียู-สหรัฐมาเร็วขึ้น เอกชนตั้งรับปี’66 ความไม่แน่นอนสูง

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมไตรมาส 4 กำลังประสบกับวิกฤตหนักจากการถล่มตลาดโดยสินค้าจากจีน

ซึ่งได้กลับมาเพิ่มการผลิตอีกครั้งหลังจากจีนได้ปรับลดการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาเพราะปัญหาพลังงานไฟฟ้า แต่ในปัจจุบันความต้องการภายในประเทศเริ่มลดลงด้วย จึงได้มีการส่งออกสินค้าส่วนเกินจากการบริโภคภายในประเทศ ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสนี้แน่นอน เนื่องจากไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐ และยุโรปได้สะดวก เพราะมาตรการกีดกันทางภาษี (AD/CVD)

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับแจ้งจากทางสหรัฐว่าจะตรวจสอบเพื่อใช้มาตรการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AC (Anti-Circumvention) อะลูมิเนียมแผ่นบางจากประเทศไทย เพื่อดูว่ามีสินค้าจากแหล่งผลิตจากประเทศจีนสวมสิทธิส่งออกหรือไม่

“ผู้ประกอบการไม่เพียงต้องรับมือสินค้าจากจีน แต่ยังต้องแบกรับต้นทุนการผลิตจากพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนาม ในสภาวะที่ความต้องการภายในประเทศเริ่มชะลอตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ดังนั้น ภาครัฐควรทบทวน การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าแบบรวดเดียวเป็นแบบขั้นบันได เร่งหาแหล่งก๊าซราคาถูก หรือหามาตรการช่วยเหลือภาคการผลิตในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันต่อไป”

นอกจากนี้จากกระแสการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะเรื่อง European Green Deal สหภาพยุโรป เริ่มดำเนินการในส่วน CBAM ซึ่งเดิมประกาศจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 และเริ่มมีค่าใช้จ่ายจริงในวันที่ 1 ม.ค. 2569 นั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยับเร็วขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

เนื่องจากจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านทางใบแสดงสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CBAM Certificates) นอกจากนี้ สหรัฐได้เริ่มร่างกฎหมาย (Inflation Reduction Act) เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม กฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาแล้ว กำลังถูกส่งไปยังประธานาธิบดีเพื่อลงนามบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะมีผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ล่าสุด กลุ่มอะลูมิเนียมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับศูนย์ M-Tech เพื่อจัดทำค่ากลางสำหรับการเก็บตัวเลขการปล่อยคาร์บอนทางตรงจากการผลิตโดยเฉลี่ย เพื่อเป็น base line สำหรับอุตสาหกรรม นำไปปรับปรุงพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต และได้ศึกษาเพิ่มเติมการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA)

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมซึ่งมีมูลค่าร่วมแสนล้านบาทในปัจจุบัน ราคายังคงมีทิศทางปรับตัวลงในช่วงไตรมาส 4/2565 และ 2,400 เหรียญสหรัฐ จากไตรมาส 1/65 ตันละ 4,073 เหรียญสหรัฐ แต่น่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยช่วงไตรมาส 1/2566

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่อไปยังคงไม่แน่นอน และมีความซับซ้อนมากกว่าที่ผ่านมา จึงปรับประเมินแนวโน้มความต้องการใช้อะลูมิเนียมในตลาดโลกปี 2565 ใหม่ คาดว่าลดลง 5 แสนตัน เหลือ 69.5 ล้านตัน ส่วนปี 2566 คาดว่าการผลิตอะลูมิเนียมโลกจะมีปริมาณ 71.8 ล้านตัน ความต้องการใช้ปริมาณ 71.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% มีส่วนเกินอยู่ประมาณ 3 แสนตัน

“แนวโน้มตลาดโลกยังเสี่ยงที่อาจลดลงไปอีก เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้บริโภคอะลูมิเนียมเกือบ 60% ของทั้งโลก ยังคงคุมเข้มกับมาตรการโควิด-19 และเริ่มมีสัญญาณด้านลบทางด้านเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมีผลต่อดีมานด์ที่ปรับลดภายในประเทศโดยตรง”

ฝั่งอเมริกาที่มีความต้องการใช้ 8 ล้านตัน คิดเป็น 11% ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการการเงิน มีผลต่อดีมานด์ที่ปรับลดภายในประเทศโดยตรง เช่นเดียวกับฝั่งยุโรป ที่มีความต้องการใช้ 9.3 ล้านตัน คิดเป็น 13% ก็ได้รับผลกระทบจากมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนพลังงาน ราคาพลังงานที่ดีดตัวเกิน 30% ส่วนรัสเซีย ผลิตอะลูมิเนียม 4 ล้านตัน ส่งออก 2 ล้านตัน

ซึ่งก็ไม่สามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่ร่วมมาตรการคว่ำบาตร ต้องลดการผลิตลงไปโดยปริยาย นอกจากนี้ ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบซิลิกอนที่ใช้ผลิตชิป เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการใช้อะลูมิเนียเช่นกัน