ผวา กฎหมายอียู คุมคาร์บอน CBAM ฉุดส่งออกปุ๋ย-เหล็ก-อะลูมิเนียม-ซีเมนต์

คาร์บอน

อียูงัด กฎหมายใหม่ “CBAM” ตั้งการ์ดคุมเข้มสินค้าไม่รักษ์โลก บีบผู้นำเข้าแจงรายละเอียดการปล่อยคาร์บอน 5 สินค้า ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ซีเมนต์ ดีเดย์ 1 ม.ค. 66 ก่อนไต่ระดับบี้เก็บ “ค่าปล่อยคาร์บอน” ปี’69 ด้าน ส.อ.ท.หวั่นกระทบตลาดส่งออก 2 หมื่นตัน ขอเวลาปรับตัว 5 ปี เตรียมระดมสมองรับมือ พ.ย.นี้ วอนรัฐหนุน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยผู้ประกอบการเตรียมพร้อมกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) บังคับใช้กฎหมายควบคุมการปล่อยคาร์บอน ในสินค้านำเข้า 5 รายการ คือ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ซีเมนต์ คาดว่าจะบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ อียูได้เผยแพร่ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 กำหนดให้ผู้นำเข้าอียูต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในช่วง 3 ปีแรก (2566-2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ทางผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น จากนั้น 1 มกราคม 2569 จะเริ่มบังคับใช้ CBAM เต็มรูปแบบ ผู้นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM

เบื้องต้นประเมินว่าจะกระทบการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะเหล็ก เหล็กกล้า และอะลูมิเนียมที่ส่งออกไปอียู ในปี 2563 มูลค่า 145 ล้านเหรียญสหรัฐ (4,785 ล้านบาท) ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและเอกชนต้องร่วมกันศึกษารายละเอียดของมาตรการ กฎหมายต่าง ๆ รวมถึงหารือกับอียู เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ด้านนายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สหภาพยุโรปได้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องลดภาวะโลกร้อน ภายใต้กระแสเรื่อง European Green Deal อย่างเป็นรูปธรรมก่อนประเทศอื่น ๆ ซึ่ง CBAM เป็นส่วนต่อขยายระบบ EU-ETS (EU Emission Trading Scheme : EU-ETS) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 และเริ่มมีค่าใช้จ่ายจริงในวันที่ 1 มกราคม 2569

คาดว่ามีผลกระทโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอะลูมิเนียมที่มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านทางใบแสดงสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CBAM certificates)

“ยอมรับว่ามาตรการที่ EU จะใช้นั้นเร็วมาก ตอนนี้เราตามดูเรื่อง CBAM อยู่ เท่าที่ติดตาม embedded emissions จะมีการเก็บค่า carbon credit จริง ๆ ในปี 2569 สิ่งที่เราต้องทำคือปรับตัวตาม ในกลุ่มอะลูมิเนียมกำลังดำเนินการกันอยู่ คาดว่าภายใน 5 ปีน่าจะสามารถปรับตัวได้ ปัจจุบันไทยส่งออกอะลูมิเนียมไปยุโรป ประมาณ 20,000 ตัน/ปี ในปี 2563”

โดยค่าคาร์บอนที่ปลดปล่อย แบ่งออกตามช่วงวัฏจักรชีวิต (LCA) เป็น 3 ช่วง คือ การได้มาของวัตถุดิบ ค่าการปลดปล่อยทางอ้อมจากการผลิต (indirect emission) และค่าการปล่อยทางตรงจากการผลิต (direct emission/embedded emission) ในการบังคับใช้ช่วงแรกจะเก็บเฉพาะส่วนการปล่อยทางตรงจากการผลิตก่อน โดยดูจากราคาประมูลเฉลี่ยรายสัปดาห์จากทาง EU-ETS

ซึ่งอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมในสหภาพยุโรปมีค่าการปล่อยคาร์บอนทางตรงจากการผลิตโดยเฉลี่ยเท่ากับ 1.9 ตัน CO2 eq./ตันอะลูมิเนียม จากที่มีการผลิตต้นน้ำด้วย ส่วนประเทศไทยไม่มีการผลิตต้นน้ำ แต่จะผลิตกลางน้ำ ซึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมแผ่น 80% ซึ่งจะมีค่าการปล่อยคาร์บอนทางตรงเท่ากับ 0.5 ตัน CO2 eq./ตันอะลูมิเนียม ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเส้นประมาณ 50% จะมีค่าการปล่อยคาร์บอนเท่ากับ 0.5 ตัน CO2 eq./ตันอะลูมิเนียม

อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มให้ความสนใจเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ทางกลุ่มจึงประสานกับนายจุลเทพ ขจรไชยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ M-Tech และตัวแทนทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อจัดสัมมนาให้ผู้สนใจทั่วไป ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อเริ่มดำเนินการเก็บตัวเลขการปล่อยคาร์บอนทางตรงจากการผลิตโดยเฉลี่ย เพื่อใช้เป็นค่ากลางสำหรับอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมในไทย เพื่อเป็น base line ในการปรับปรุงพัฒนา ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

สำหรับแนวทางการปรับตัว เราพยายามนำพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนแบบดั้งเดิม เพิ่มปริมาณการใช้เศษอะลูมิเนียมตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนให้มากขึ้น จะช่วยให้ลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนได้ค่อนข้างมาก และหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น จัดหาพลังงานสะอาดราคาต่ำ สนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้

รวมถึงสนับสนุนการหมุนเวียนเศษอะลูมิเนียม เพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ จะช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า และการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 95% ทันที เมื่อเทียบการใช้อะลูมิเนียมบริสุทธิ์จากกระบวนการต้นน้ำ เป็นการเสริมสร้าง circular economy ที่ตามนโยบายรัฐด้วย

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไทยอาจจะได้รับผลกระทบจาก CBAM น้อย เนื่องจาก 5 สินค้าที่อียูประกาศนั้น ไทยส่งออกไปน้อยมาก และบางสินค้าไทยยังต้องมีการนำเข้า แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต หากอียูเพิ่มการบังคับใช้ในรายการสินค้าอื่น

ทั้งนี้ การส่งออกตลาดอียู 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2564) ขยายตัว 24.6% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เป็นต้น