ประยุทธ์ ลงพื้นที่อยุธยา ขับเคลื่อนแผน 4 ปี บรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยา

ประยุทธ์

ประยุทธ์ ลงพื้นที่อยุธยา ขับเคลื่อนแผน 4 ปี  68 – 71 บรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง

วันที่ 3 มีนาคม 2566  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการดำเนินโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยมี  นายชูชาติ  รักจิต รองอธิบดีกรมชลประทาน

พร้อมด้วยนายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายพงษ์ศักดิ์ เลียววงศ์วาน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10  นายนิคม สุคันธพฤกษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน  และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

ประยุทธ์

นายชูชาติ  รักจิตร  รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็น 1 ใน 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบในหลักการ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย  และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทย

ซึ่งจะช่วยลดภาระการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยให้กับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้อีกทางหนึ่ง มีแผนดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2568 – 2571 ประกอบไปด้วย

Advertisment

ประยุทธ์

1.งานปรับปรุง/ขุดลอกคลองเดิม และอาคารบังคับน้ำ ช่วงตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ถึง คลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร รวมทั้งปรับปรุงประตูระบายน้ำ 25 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง

Advertisment

2.งานปรับปรุงคลองเดิมระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างคลองถนน (Street Canal) บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 5 ระยะทางประมาณ 4.41 กิโลเมตร และก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต 1 (ระบายน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ลงสู่คลองภาษีเจริญ) ความยาวประมาณ 6.99 กิโลเมตร อัตราการสูบน้ำรวม 30 ลบ.ม./วินาที

3.งานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด ระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญลงสู่คลองมหาชัย ความยาวประมาณ 11.71 กิโลเมตร อัตราการสูบน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที

ประยุทธ์

4.งานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย ความยาวประมาณ 42 กิโลเมตร รวมทั้งปรับปรุง/ขุดลอกคลองมหาชัย ความยาว 19.42 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในแก้มลิง และระบายน้ำออกจากแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัยลงสู่ทะเล

เจ้าพระยาตอนล่าง

ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ดำเนินการออกแบบโครงการต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ หากโครงการฯแล้วเสร็จทั้งหมด จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ

เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนผ่านโครงข่ายคลองในแนวเหนือ-ใต้ และเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและระบายน้ำของพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย รวมทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่ทะเลได้มากขึ้น และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ในคลองสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกทางหนึ่งด้วย