กรมประมงตั้ง 14 มิสเตอร์ปลาไทย หวังยกระดับแข่งขันสัตว์น้ำจืด

ปลาสลิด ปลาดุก สัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2565 จีดีพีภาคเกษตรในสาขาประมง หดตัว 2.0% เป็นผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการทำประมง โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลงอย่างมาก

ขณะที่ปลานิลและปลาดุกมีผลผลิตลดลงเช่นเดียวกันเนื่องจากเกษตรกรบางรายลดปริมาณการปล่อยลูกพันธุ์ปลาเพื่อลดภาระต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้น ประกอบกับฝนตกชุกต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 และอิทธิพลของพายุโนรูในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในแหล่งเลี้ยงปลานิลและปลาดุกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แม้ว่าเกษตรกรบางส่วนยังคงประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้ง เช่น โรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น

แผน 5 ปี พัฒนาสัตว์น้ำจืด

ซึ่งที่ผ่านมานโยบายของกรมประมง มุ่งส่งเสริมและผลักดันสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ 14 ชนิด โดยขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2565 – 2570 มุ่งยกระดับความสามารถการพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำและธุรกิจเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้สินค้าสัตว์น้ำจืดของไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เกษตรกร รวมถึงพัฒนาการผลิตสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

ตั้ง 14 มิสเตอร์สัตว์น้ำ

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การทำงานผ่านตามแผนฯ ผ่านกลไกความร่วมมือของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจฯดังกล่าว ในรูปแบบการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกรมประมงทั้งส่วนกลาง ทั้งภาครัฐและเอกชน

โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนฯ หรือ มิสเตอร์สัตว์น้ำรายชนิด จำนวน 14 ชนิด ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ปลาแรด ปลาสลิด ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย กบนา ปลาหมอ ปลายี่สกเทศปลานวลจันทร์เทศ ปลากดหลวง ปลาเทโพ และปลากดเหลือง ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักในการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำฯ

ปลาแรด

 

ชู 4 ยุทธศาสตร์หลัก

โดยมีการดำเนินการใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร และการตลาด เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

เสริมอาชีพประมง

ด้านนายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้แผนถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกกว่า 410 รายเพิ่มขึ้นจาก ปีก่อน ที่ส่งเสริมไป 390 ราย โดยจะดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการเพาะเลี้ยง สร้างความเข้มแข็ง ถอดบทเรียนเกษตรกรต้นแบบ

ปลานิล โมเดลต้นแบบ

หนึ่งในคณะทำงานด้านการขับเคลื่อนสัตว์น้ำจืด “นายรัฐภัทร์ ประดิษฐ์สรรพ์ไ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ในฐานะ มิสเตอร์ปลานิล กล่าวว่าปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่กรมผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ โดยกรมประมงได้เพาะพันธุ์ปลานิล และจำหน่ายให้เกษตรกรภายใต้กองเงินทุนหมุนเวียน ของกรมในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 124,987,560 ตัว เป็นเงิน 35,618,668 บาท

ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ปี 2565 ไทยส่งออกปลานิล 8,101.01 ตัน คิดเป็นมูลค่า 504.14 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าปลานิลยังคงเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโต และควรผลักดันอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในปีงบประมาณ 2566 คณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาปลานิล ได้กำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปลานิล ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย เข้ามาช่วยในการเพาะเลี้ยง เพื่อผลิตปลานิลให้ได้คุณภาพอย่างมีมาตรฐาน ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการหาช่องทางการตลาดคุณภาพที่สามารถรองรับปริมาณผลผลิตจำนวนมาก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปลานิลล้นตลาด

ปลานิล

ตั้ง “สมาคมปลานิล”

โดยล่าสุดนี้ กรมประมง ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมปลานิลไทย (Thai Tilapia Association) ไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 เพื่อให้เกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิก สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การผลิตและการตลาด ตลอดจนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงและส่งออกปลานิลเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในอนาคต กรมประมง มีแนวทางในการที่จะส่งเสริมการผลิตสัตว์น้ำทั้ง 14 ชนิด ให้ได้มากที่สุดเช่นเดียวกับปลานิล โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจนทั้งด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์น้ำครบวงจร พัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและการพัฒนาด้านการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ