นำเข้ากุ้ง 1,000 ตันไม่สะเทือน กรมประมงเข็น 11 แนวทางฟื้นเพาะเลี้ยง

3-1 นำเข้ากุ้ง

ไทยยูเนี่ยน (TU) มองการนำเข้ากุ้งทะเลหลักพันตันไม่กระทบผู้เลี้ยง เหตุนำเข้าช่วงกุ้งขาดเพื่อช่วยห้องเย็น มีวัตถุดิบส่งออกและสามารถแข่งขันด้านราคากับกุ้งต่างประเทศได้ ส่วนการแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน EMS ยอมรับรัฐ-เอกชน 10 ปีไม่มี

หลังจากที่ Shrimp Board มีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบ “กุ้งทะเล” จากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยด้วยการกำหนดแผนการนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ และสาธารณรัฐอินเดีย ปริมาณรวม 10,501 ตันนั้นได้สร้างความกังวลให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศ ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มห้องเย็นได้อ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องมีวัตถุดิบกุ้งทะเลเพื่อผลิตส่งออกท่ามกลางการแข่งขันและการรักษาตลาด

ต่อประเด็นนี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การอนุมัติให้มีการนำเข้ากุ้งปริมาณเพียงแค่หลักพันตัน เทียบกับการผลิตกุ้งในประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 200,000-300,000 ตันนั้น “ไม่น่าจะมีสาระสำคัญอะไร” โดยคนที่ต้องการนำเข้าแค่อยากจะนำเข้ามาช่วยทดแทนในช่วงที่เกิดภาวะความขาดแคลนกุ้งในประเทศ

ส่วนการที่ให้โรงงานเข้าไปรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรนั้นมองว่า อยากให้เป็นไปตามสภาวะธรรมชาติ ความเป็นจริงของสภาวะตลาดมากกว่า อย่างไรก็ต้องเข้าใจว่า กุ้งไทยต้องไปแข่งขันกับต่างประเทศ ดังนั้นราคากุ้งต้องแข่งได้

ส่วนปัญหาการฟื้นฟูโรคกุ้งตายด่วน หรือ EMS ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยโรคนี้มีสาเหตุจากปัญหาของอุตสาหกรรมกุ้งไทยเอง นั้นคือ พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กุ้ง ซึ่งประเทศไทยไม่ได้รับการพัฒนาและลงทุนทางด้านนี้เท่าที่ควร ประกอบกับภาครัฐก็ไม่ได้สนับสนุนอะไร

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “มันยังไปไม่ถึงไหน” โดยจะเห็นได้ว่า ในขณะที่ประเทศไทยการเลี้ยงกุ้งบางพื้นที่ก็ไม่ได้อยู่ในคุณภาพที่จะเลี้ยงได้ ส่วนคู่แข่งคือ “อินเดีย” มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งเยอะมาก สามารถเลี้ยงโดยกุ้งไม่หนาแน่น แต่ไทยต้องเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่น ทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทางอุตสาหกรรมกุ้งพยายามจะหารือกับรัฐบาลให้มากขึ้นในเรื่องกลยุทธ์ในการจัดการ “กุ้งโดยไม่เคยเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐให้ความสำคัญ เพราะกุ้งไม่เป็นสินค้าการเมือง”

ด้าน นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กุ้งทะเลนับเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก ในอดีตอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่า 100,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2553 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกกุ้งมากที่สุดคือ 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกกุ้งลดลงเหลือเพียง 201,592 ตัน คิดเป็นมูลค่า 55,893 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ปริมาณลดลงถึงร้อยละ 53.90 และมูลค่าลดลงร้อยละ 44.72

ปัจจุบันมีเกษตรกรแจ้งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมประเภทการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (จสค.) ทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 41,529 แห่ง มีพื้นที่การเพาะเลี้ยงประมาณ 224,418 ไร่ ส่วน “ห้องเย็น” ที่ทำกุ้งส่งออกหลัก ๆ มีเหลืออยู่เพียง 25-30 บริษัทเท่านั้น

ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงบางส่วนประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าพลังงาน ค่าสารเคมี และยังมีต้นทุนแฝงจากการเกิดโรคล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดน้อยลงตามมา

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 400,000 ตันภายในปี 2566 เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็น “ผู้นำการผลิตกุ้ง” ในตลาดโลกให้ได้อีกครั้ง ภายใต้คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล

โดยใช้ 11 แนวทางในการบริหารจัดการผลผลิต นำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะลในช่วงที่ขาดแคลน แก้ไขโรคกุ้ง ปรับปรุงพันธุ์ให้สินเชื่อช่วยสภาพคล่อง

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานล่าสุดตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 65 พบว่า ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 138,000 ตัน แยกเป็น กุ้งขาวแวนนาไม 129,000 ตัน หรือประมาณ 93.06% ที่เหลือเป็นกุ้งกุลาดำ 9,632 ตัน หรือ 6.94 % โดยรวมแล้วผลผลิตกุ้งยังลดลง 3.09%

ดังนั้นเพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ Shrimp Board จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศ “เฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย” ที่ผ่านมามีการนำเข้ากุ้ง จากเอกวาดอร์ในเดือน มิ.ย. 41.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.24 ล้านบาท