ราช กรุ๊ป เดินแผน 5 ปี ลุย 4 เป้าหมาย ดัน EBITDA โตไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้าน

ชูศรี เกียรติขจรกุล
ชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ราช กรุ๊ป เดินหน้าแผน 5 ปี 2566-2570 ลุย 4 เป้าหมาย ดัน EBITDA โตไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ประเดิมปี 2566 ปีแรก ลงทุน 35,000 ล้าน ชูกลยุทธ์ 3S Strength-Synergy-Sustainability
ขับเคลื่อน สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ปั๊ม EBITDA โตไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท รับรู้กำลังผลิตเพิ่ม 1,207.13 MW

วันที่ 13 มีนาคม 2566 นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัท ปี 2566-2570 มุ่งเน้นเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ (1) การเติบโตของผลตอบแทน โดยตั้งเป้าหมาย EBITDA เติบโตจาก 12,000 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 15,000 ล้านบาทในปี 2570 (2) การขยายธุรกิจ Non-Power กำหนดเงินลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ในปีนี้ และปี 2570 ธุรกิจนี้จะสร้างรายได้เข้ามาเสริมให้บริษัท ร้อยละ 5

(3) เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน ให้ได้ร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตรวม และเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 25 ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป (4) พัฒนาการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล และเตรียมความพร้อมสำหรับการประกาศความมุ่งมั่นความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2570 โดยจะใช้งบประมาณการลงทุน ประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาทใน 5 ปี

ในส่วนของปี 2566 บริษัทได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับการลงทุน 35,000 ล้านบาทสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่วางงบไว้เฉลี่ยที่ 10,000 ล้านบาท โดยจะใช้ขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า 29,000 ล้านบาท และธุรกิจนอกภาคไฟฟ้า (Non-Power Business) อีก 6,000 ล้านบาท บริษัทคาดว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 จะเติบโตดีขึ้น โดยบริษัทมีเป้าหมาย EBITDA ไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ไม่น้อยกว่าประมาณ 5%

เดินหน้ากลยุทธ์ 3 S

ทั้งนี้ การดำเนินงานในปี 2566 จะยังคงใช้กลยุทธ์ 3S : Strength-Synergy-Sustainability ซึ่งมีเป้าหมายที่สอดประสานกันในการสร้างการเติบโตของบริษัท เราจะใช้กลยุทธ์ S2-Synergy ในการผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทฯ ในการแข่งขันและลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

“บริษัทจะใช้บริษัทร่วมทุน เน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี อินเวสเมนท์ (NREI) เป็นกลไกในการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วในประเทศออสเตรเลีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 843 เมกะวัตต์ ให้สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ให้ได้ตามเป้าหมาย ตามแผนกำลังการผลิตของบริษัทจะมีกำลังผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นในปี 2567 รวม 518.66 เมกะวัตต์ ปี 2568 เพิ่มขึ้นอีก 918.20 เมกะวัตต์ ปี 2570 และปี 2573 เพิ่มขึ้นอีก 252.77 เมกะวัตต์ และ 213 เมกะวัตต์”

แง้มโครงการปี 2566

สำหรับโครงการที่บริษัทจะรับรู้รายได้ในปีนี้ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าราช เอ็นเนอร์จี ระยอง โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติสแน็ปเปอร์ พ้อยท์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม ลินคอล์น แก็ป 1&2 ในออสเตรเลีย โรงไฟฟ้าพลังน้ำค๊อดซาน และซองเกียง 2 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ในเวียดนาม สำหรับการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน ในอินโดนีเซีย บริษัทคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 นี้ ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 785 เมกะวัตต์ มีกำหนดจะเสร็จเฟสแรก ในเดือนมีนาคม ปี 2567 และเฟส 2 ปี 2568 เป็นไปตามแผน

“ในปี 2566 บริษัทจะมีการรับรู้กำลังการผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 1,207.13 เมกะวัตต์ ในการลงทุน ในปี 2566 มีโครงการกรีนฟิลด์ที่มีความเป็นไปได้ 2 โครงการ และเป็น M&A 2 โครงการ และเป็นลอตของการเข้าร่วมประมูลขายไฟ Renewable รอบที่แล้ว 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งเราคิดว่าเราจะได้มาจำนวนหนึ่งลอต หลายโครงการ ประมาณ 221 เมกะวัตต์ ซึ่งเราโฟกัสการลงทุนเรื่อง Renewable คาดว่าจะสรุปใน 5 เมษายน 2565”

ลอตแรกเขามีมติไปหมดแล้ว กรณที่มีคนค้าน ถ้าเขามองว่ามันไม่ได้มีปัญหาในกระบวนการ อะไร โปรเซสก็น่าจะเดินต่อ

แต่ที่ยาก ๆ จะเป็นส่วนของ วินด์ฟาร์มเพราะที่ทางรัฐบาลประกาศรับซื้อ 1,500 เมกกะวัตต์ ก็ยื่นไปไม่เต็มเพราะใครยื่นผ่านคุณสมบัติไม่ติดอะไรก็คงได้ทำ

ส่วนลอตใหม่ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติ ล่าสุด 3,660 เมกะวัตต์ เราก็สนใจ เพราะเราเน้น Renewable และเราเตรียมพร้อมตลอด รอดูหลักเกณฑ์ทีโออาร์รอบใหม่ ซึ่งรอบนี้เท่าที่ทราบจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะใช้แนวทางหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งเราก็พร้อมจะเข้าร่วมอยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงการโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มมา 2,632 เมกะวัตต์ ก็น่าสนใจ กำลังเตรียมการอยู่

เป้าหมายรายได้

โดยจะทำให้มีรายได้จาก 2 กลุ่ม เน็กส์ซิฟ และไพตัน อินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 4,500-5,000 ล้านบาท

ส่วนอีก 5 ปีข้างหน้ารายได้จะเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไร ขึ้นอยู่กับการดำเนินการถ้ามีการเข้าซื้อกิจการก็อาจจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทันที เช่นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่เรามีรายได้เติบโตจาก 40,000 ล้านบาทเป็น 80,000 ล้านบาท ก็มาจากการซื้อกิจการ เช่น สหโคเจน เอฟอาร์บี ก็ทำให้รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทการเข้าซื้อกิจการ เช่น Joint venture ค่อย ๆ เติบโต 10-20% หากมีข่าวดีก็จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่านั้น”

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนในเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน

ฝ่าความท้าทายพลังงาน

สำหรับแนวโน้มพลังงาน ปีนี้ยังมีความท้าทายอันดับแรกมหภาคจะเป็นเรื่องการเปลี่บนผ่านพลังงาน (Energy transition) ทำให้ Renewable มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่ายังต้องพึ่งพาพลังงานหลักจาก conventional เพราะเรื่อง energy storage ยังไม่สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ เทคโนยีเป็นไปได้ แต่ต้นทุนการผลิต คิดมาเป็นค่าไฟสูงยังทำไม่ได้ เพราะอาจกระทบต่อประชาชน แต่ทุกคนก็พยามจะ มุ่งไปในทิศทางนี้ เช่น โครงการซื้อไฟ renewable 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งรัฐกำหนราคาออกมาแค่ประมาณ 2-3 บาท ก็ยังถูกหว่าไฟฟ้าจากแก๊ส แต่ความท้าทายนี้ คือ เราต้องพยายามเข้าไปทำใน renewable ให้มากที่สุด ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่แค่ capital gain แต่เราหวังว่าโครงการนี้จะอยู่ยาว 20-25 ปี

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศเราจะเน้นไปที่ประเทศที่เรามีฐานการผลิตอยู่แล้วเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือออสเตรเลีย ซึ่งในประเทศต่าง ๆ นี้จะมีความท้าทายที่ต่างกัน เช่น เวียดนามยังชะลอบางเรื่อง เพื่อรอให้เขาออก Master plan 8 ซึ่งเปรียบเสมือนการออกแผนพีดีพีของเรา และเรื่องทารีฟยังมีประเด็นสำหรับโครงการใหม่ จึงต้องหันไปทำ M&A มากขึ้น ส่วนอินโดนีเซียมีความเสถียรเรื่องการส่งเสริม Renewable มาตลอด เราก็คงมองต่อ เรื่องพลังน้ำและ Renewable เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ที่ค่อนข้างแน่นอน เรามองถึงโอกาสการลงทุนด้านไฮโดรเจนต่อ โดยเฉพาะกรีนไฮโดรเจน

ปมร้อนค่าไฟ

ทั้งนี้ในส่วนของค่าไฟมองว่า ต้นทุนราคาแก๊สธรรมชาติน่าจะลดลง โดยเฉพาะตัวลองเทอม LNG ซึ่งเราหวังว่าจะหลับช่วงก่อนสองครามรัสเซีย-ยูเครนที่ประมาณ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่คงจะไมมามีโอกาสจะกลับไปถึงช่วงโควิดที่ลงไปเหลือ 2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ดังนั้น ไม่ควรต้องไปรับเซ็น ควรต้องบริหารจัดการเอาสปอตบางส่วนมาตัดเพื่อให้เกิดความสมดุล เมื่อสถานการณ์ราคานิ่งค่องไปทำสัญญาลองเทอม เพราะซัพพลายเออร์แก๊สในโลกมีจำนวนมาก และการแก้ไขปัญหาราคาในไทย ไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยสงครามรัสเซียเพียงอย่างเดียว เราสามารถผลิตแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยได้ด้วย

สำหรับความเห็นเรื่องค่าไฟฟ้า ใน 3 สมมุติฐาน ของ กกพ.นั้นตามความเห็นส่วนตัวมองว่า สมมุติฐาน 2 น่าจะเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสม เช่น หากเลือกสมมุติฐาน 3 ที่ใช้นะยะเวลาคืนเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตนาน 2 ปี จะมีผลกับตัวเลขสภาพคล่องของ กฟผ. แต่หากเลือกสมมุติฐานที่ 1 คืนเงิน กฟผ เร็ว แต่ต้องขึ้นค่าไฟสูงกว่า 6 บาท ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นทางสายกลางน่าจะดีที่สุด

ลุย ธุรกิจ non power

ส่วนกลุ่มธุรกิจ Non-power จะมุ่งเน้นที่ธุรกิจบริการสุขภาพโดยยังคงจับมือกับกลุ่ม PRINC ด้านนวัตกรรมยังดำเนินการผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด อีกทั้งยังมีการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนากรีนไฮโดรเจน โดยมีแผนจะดำเนินการนำร่องในออสเตรเลียเป็นแห่งแรก

“โครงการไฮโดรเจน ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเรียบร้อยแล้วว่ามีความเหมาะสมที่จะลงทุน ขั้นตอนต่อไป จะดูว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อใช้ภายในออสเตรเลีย หรือใช้เพื่อส่งออกไปยังตลาดที่มีการรับซื้อไฮโดรเจนหลัก ๆ จะเป็น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สำหรับราคาจำหน่ายเฉลี่ยปัจจุบันของไฮโดรเจนอยู่ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อตันไฮโดรเจน”

นอกจากนี้ บริษัทยังจะดำเนินการแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตให้ได้ 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึง 20% และพัฒนาคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนอีก 10,000 ไร่ โดยล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอน 3,000-5,000 ตัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น